อัมพาต 360 องศา: ตอน ยาต้านเกล็ดเลือด 2 ชนิดดีกว่าชนิดเดียวจริงเหรอ

อัมพาต  360 องศา

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าการรักษาโรคอัมพาตระยะยาวมีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อป้องกันไม่ให้มีการกลับเป็นซ้ำของโรคอัมพาต การป้องกันต้องประกอบด้วยการทานยารักษาโรคประจำตัวที่มี ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง โรคหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ ลิ้นหัวใจตีบ และต้องทานยาต้านเกล็ดเลือดด้วยกรณีเป็นสมองขาดเลือดจากหลอดเลือดสมองตีบ การทานยาต้านเกล็ดเลือดมีหลายชนิดตามที่ได้กล่าวมาแล้วในก่อนหน้านี้ เมื่อมียาหลายชนิด และแต่ละชนิดก็มีประโยชน์แตกต่างกัน ดังนั้นเราน่าจะทานยา 2 ชนิดเลยน่าจะดีกว่าการทานเพียง 1 ชนิด ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้ป่วยบางส่วนที่ไปหายามาทานเอง โดยการซื้อยาจากร้านเภสัชกรหรือร้านขายยาทั่วไป ผมต้องขออธิบายเกี่ยวกับการใช้ยาต้านเกล็ดเลือด ดังนี้

  1. การทานยาต้านเกล็ดเลือดควรทานเพียงแค่ 1 ชนิดก่อนเสมอ ยกเว้นว่ามีการใช้ยา 1 ชนิดแล้วยังมีอาการกลับเป็นซ้ำ จึงพิจารณาใช้ยา 2 ชนิด
  2. การใช้ยาต้านเกล็ดเลือดพร้อมกัน 2 ชนิด มีการใช้ในบางกรณี คือ การเกิดภาวะอัมพาตไม่รุนแรง หรือเป็นอาการอัมพาตเป็นๆ หายๆ เป็นเองหายเอง ที่เรียกกันว่าอัมพฤกษ์ มีการศึกษาพบว่าการใช้ยาต้านเกล็ดเลือด 2 ชนิดร่วมกันเป็นระยะเวลาหนึ่งจะช่วยลดการเป็นโรคอัมพาตได้ หรือในกรณีมีการตีบของหลอดเลือดสมองบริเวณคอร่วมด้วยในผู้ป่วยโรคอัมพาต การใช้ยาต้านเกร็ดเลือด 2 ชนิดร่วมกันก็พบว่าได้ประโยชน์เช่นเดียวกัน หรือกรณีผู้ป่วยมีทั้งโรคหลอดเลือดสมองตีบร่วมกับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้รับการรักษาด้วยการใช้บอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจก็ต้องใช้ยาต้านเกล็ดเลือด 2 ชนิดร่วมกัน
  3. การใช้ยาต้านเกล็ดเลือด 2 ชนิดมีประโยชน์มากกว่าการใช้ยา 1 ชนิด แต่ก็มีข้อเสียเพิ่มมากกว่าการใช้ยาเพียงชนิดเดียว โดยเฉพาะเลือดออกในกระเพาะอาหาร เลือดออกในสมอง ดังนั้นจึงต้องให้ยาป้องกันภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหารด้วยในผู้ป่วยที่มีโอกาสเลือดออกได้ง่าย
  4. การติดตามการรักษาทุกครั้ง แพทย์ต้องประเมินผลแทรกซ้อนด้านแผลในกระเพาะอาหาร เลือดออกในกระเพาะอาหาร ด้วยการสอบถามอาการปวดท้อง ถ่ายดำ อาเจียนเป็นเลือด ซีด เป็นต้น
  5. ในบางกรณีผู้ป่วยอาจต้องทานยาต้านเกล็ดเลือดร่วมกันถึง 3 ชนิด ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ซึ่งในกรณีแบบนี้ยิ่งต้องระมัดระวังผลเสียที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างใกล้ชิด
  6. การทานยาต้านเกล็ดเลือดต้องระมัดระวังในการทานยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อบางชนิดที่มีข้อเสียด้านการกัดกระเพาะอาหาร ก่อให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร เลือดออกในกระเพาะอาหารได้ เพราะการทานยาร่วมกันจะทำให้มีการเสริมฤทธิ์กัน ก่อให้เกิดผลเสียได้สูงขึ้น

ดังนั้น การทานยาต้านเกล็ดเลือด ต้องเป็นไปตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ภายใต้การดูแล ติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องของแพทย์ ไม่แนะนำให้ซื้อยาทานเองโดยไม่ได้พบแพทย์