อัมพาต 360 องศา: ตอน ยาหมอที่คลินิกดีกว่ายาโรงพยาบาลจริงเหรอ

อัมพาต  360 องศา

ความเข้าใจของผู้ป่วยในต่างจังหวัดเกี่ยวกับการรักษาที่คลินิกกับที่โรงพยาบาล มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ผมอยากทำความเข้าใจให้ตรงกัน เช่น การมารักษาที่คลินิกจะทำให้ได้การบริการที่โรงพยาบาลรวดเร็วกว่า เพราะได้มาฝากเนื้อฝากตัวเป็นผู้ป่วยของคุณหมอแล้ว จริงแล้วไม่ว่าผู้ป่วยจะเป็นคนไข้ที่เคยมารักษาที่คลินิกหรือไม่เคยก็ตาม การรักษาที่ได้รับในโรงพยาบาลก็ไม่ได้มีความแตกต่างกัน เพราะการรักษาในโรงพยาบาลส่วนใหญ่แล้วเป็นไปตามแนวทางการรักษาที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ นอกจากนี้เกี่ยวกับการเป็นแพทย์เจ้าของไข้ กรณีผู้ป่วยมาจากคลินิก แพทย์ที่คลินิกก็อาจไม่ได้เป็นเจ้าของไข้เมื่อนอนโรงพยาบาล เพราะในระบบของแต่ละโรงพยาบาล การเป็นแพทย์เจ้าของไข้ก็มีระบบที่กำหนดไว้แตกต่างกัน ประเด็นหลักอีกประเด็นคือ ผู้ป่วย ญาติมักเข้าใจว่ายาที่ได้รับจากแพทย์ที่คลินิกแตกต่างจากยาที่ได้รับจากโรงพยาบาล

ยาที่ใช้ในการรักษาโรคทุกโรคจะเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาที่กำหนดไว้เป็นส่วนใหญ่ ประเด็นที่ผู้ป่วยหรือญาติสงสัยว่ายามีความแตกต่างกัน อาจเกิดจากรูปร่างของเม็ดยา ชื่อยาที่เขียนไว้มีความแตกต่างกัน ที่เป็นอย่างนั้นเพราะยาที่ใช้อาจแตกต่างกันที่ยี่ห้อของยาครับ องค์ประกอบของยาหรือชื่อยาสามัญนั้นเหมือนกัน ผมยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายขึ้น เห็นภาพชัดเจนขึ้น เช่น ผงซักฟอกมีหลากหลายยี่ห้อ ซึ่งก็มีคุณสมบัติเหมือนกัน เป็นต้น

แล้วทำไมแพทย์ถึงไม่ใช้ยาให้เหมือนกันเลยทั้งหมด คำตอบกรณีนี้ คือ ระบบการจัดซื้อที่แต่ละโรงพยาบาล และที่คลินิกของแพทย์มีระบบที่แตกต่างกัน แต่ยาส่วนใหญ่ก็มักจะใช้ยายี่ห้อเดียวกันในกลุ่มยามาตรฐานที่ใช้บ่อยๆ เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาลดไขมัน ยาเบาหวาน ยาโรคกระเพาะอาหาร

แล้วทำไมยาบางชนิดที่คลินิกเป็นยานอก แต่ยาที่โรงพยาบาลเป็นยาในประเทศ ประเด็นนี้ก็อาจจะจริงตามข้อสังเกตุ ยาที่มีอยู่ในท้องตลาดหรือการใช้ในทุกๆ สถานพยาบาลทั่วโลก จะมีอยู่ 2 ประเภท คือ ยาต้นแบบ (ยาที่ผลิตโดยบริษัทที่ค้นคิดหรือที่คนทั่วไปเรียกว่ายานอก) ยาประเภทที่ 2 คือยาชื่อสามัญ (ยาที่ผลิตโดยบริษัทอื่นๆ ที่ไม่ได้คิดค้นยาดังกล่าว ภายหลังจากยาต้นแบบหมดลิขสิทธิ์) ยาชื่อสามัญและยาต้นแบบมีคุณสมบัติของยาคล้ายกันในทุกๆ ด้าน มีการควบคุมการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐาน แต่ราคาจะแตกต่างกันมาก บางชนิดต่างกันถึง 10-20 เท่าหรือ 100 เท่าก็มี ดังนั้นการใช้ยาส่วนใหญ่จะเป็นชนิดยาชื่อสามัญ ซึ่งมากกว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยได้ผลดีด้วยการรักษาด้วยาชื่อสามัญ ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาต้นแบบ เนื่องจากการใช้ยาชื่อสามัญมีความคุ้มค่า เพราะมีประสิทธิภาพดีในราคาที่ถูกกว่ายาต้นแบบ

ดังนั้นการใช้ยาทั้งที่คลินิกแพทย์และที่โรงพยาบาลมีคุณสมบัติไม่แตกต่างกัน ผู้ป่วยและญาติสามารถรักษาได้ที่โรงพยาบาล โดยไม่จำเป็นต้องรับการรักษาที่คลินิก เพื่อความต่อเนื่องและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด