อะไรกัน ? ภูมิคุ้มกันบำบัด (ตอนที่ 2)

อะไรกันภูมิคุ้มกันบำบัด

โดย 2-3 ทศวรรษ ที่ผ่านมา มีการใช้ภูมิคุ้มกันบำบัดในการรักษาโรคมะเร็งบางชนิด แต่ยังไม่ได้ใช้เป็นที่แพร่หลายเหมือนการรักษาด้วยการผ่าตัด เคมีบำบัด และรังสีบำบัด เพราะภูมิคุ้มกันบำบัดหลายชนิดยังอยู่ระหว่างการทำการศึกษา ในขณะที่โรคมะเร็งบางชนิดก็เหมาะกับการใช้วิธีการรักษาอื่นๆ

ระบบภูมิคุ้มกัน (Immune system) เป็นที่รวบรวมของเซลล์ และสารอื่นๆ ที่ช่วยในการป้องกันการติดเชื้อและโรคบางชนิด โดยระบบภูมิคุ้มกันจะเก็บข้อมูลของสารต่างๆ ที่พบในร่างกาย หากมีสารตัวใดหรือสิ่งแปลกปลอมใดที่ระบบภูมิคุ้มกันไม่รู้จัก ก็จะมีการแจ้งเตือนเพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันเข้าทำลาย

ยกตัวอย่างเช่น เชื้อโรคที่ปกติไม่พบในร่างกายมนุษย์ ระบบภูมิคุ้มกันจะรับรู้ว่าสารนั้นเป็นสิ่งแปลกปลอมและเข้าทำลาย อย่างไรก็ดีเนื่องจากเซลล์มะเร็งเป็นเซลล์ที่มีการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย ดังนั้นบางครั้งระบบภูมิคุ้มกันอาจไม่รับรู้ว่าเซลล์มะเร็งเป็นสิ่งแปลกปลอมก็ได้ หรือบางทีระบบภูมิคุ้มกันก็รับรู้ว่าเซลล์มะเร็งเป็นสิ่งแปลกปลอม แต่ก็ไม่สามารถที่จะทำลายเซลล์มะเร็งดังกล่าวได้

ดังนั้น นักวิจัยจึงพยายามค้นหาวิธีที่จะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันสามารถรับรู้ถึงเซลล์มะเร็งและมีความแข็งแรงพอที่จะทำลายเซลล์มะเร็งให้ตายได้

ภูมิคุ้มกันบำบัดหลักๆ ที่ใช้รักษาโรคมะเร็งในปัจจุบัน ได้แก่

  • โมโนโคลนอล แอนติบอดี (Monoclonal antibodies) – ซึ่งเป็นสารโปรตีนที่มนุษย์สร้างขึ้น ถูกออกแบบมาเพื่อให้ทำลายเซลล์มะเร็งบางชนิด
  • Immune checkpoint inhibitors – เป็นยาที่ใช้ยับยั้งระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งช่วยให้ ระบบภูมิคุ้มกันสามารถจดจับเซลล์มะเร็งและเข้าทำลายเซลล์มะเร็งได้
  • Cancer vaccines – เป็นวัคซีนที่ฉีดเข้าไปในร่างกายเพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันสร้างปฏิกริยาต่อโรค ใช้เพื่อการป้องกันหรือรักษาโรคมะเร็ง
  • ภูมิคุ้มกันบำบัดอื่นๆ (Non-specific immunotherapies) – ใช้เพื่อกระตุ้นระบบภูมคุ้มกันทั่วไป และช่วยทำลายเซลล์มะเร็งด้วย

โมโนโคลนอล แอนติบอดี (Monoclonal antibodies = mAbs) - วิธีการที่ระบบภูมิคุ้มกันทำลายสิ่งแปลกปลอมในร่างกายนั้นทำได้ด้วยการสร้างสารภูมิต้านทาน หรือ แอนติบอดี (Antibody) ขึ้น โดยสารนี้เป็นโปรตีนที่จะจับกับโปรตีนเฉพาะที่เรียกว่า แอนติเจน (Antigen) แอนติบอดีจะไหลเวียนไปทั่วร่างกายจนกว่าจะพบกับแอนติเจน เมื่อพบแล้วระบบภูมิคุ้มกันก็จะทำลายเซลล์ที่มีแอนติเจน

นักวิจัยสามารถออกแบบให้แอนติบอดีจับกับแอนติเจนใดแอนติเจนหนึ่งได้ เช่น เซลล์มะเร็ง แล้วทำการเลียนแบบ (Copy) แอนติบอดีนั้นในห้องทดลอง วิธีนี้เรียกวา โมโนโคลนอล แอนติบอดี

แหล่งข้อมูล

1. Cancer Immunotherapy. http://www.cancer.org/treatment/treatmentsandsideeffects/treatmenttypes/immunotherapy/immunotherapy-toc [2016, March 25].

2. Immunotherapyhttp://www.cancer.gov/about-cancer/treatment/types/immunotherapy [2016, March 25].