อะโทรวาสแตติน (Atorvastatin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอะโทรวาสแตติน (Atorvastatin) หรือที่รู้จักกันดีในยาชื่อการค้า คือ ลิปิเตอร์ (Lipitor) ถูกนำมาใช้เป็นยารักษาโรคไขมันในเลือดสูง รวมถึงนำมาใช้ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ มีการสังเคราะห์ยาตัวนี้ในปี ค.ศ. 1985 (พ.ศ. 2528) และช่วงปี ค.ศ. 1996 - 2012 (พ.ศ. 2539 -2555) เป็นช่วงที่อะโทรวาสแตตินภายใต้ชื่อการค้า Lipitor มียอดจำหน่ายดีที่สุดตัวหนึ่งของกลุ่มยาลดไขมันในเลือด ในตลาดยาของประเทศไทยจะพบเห็นยาอะโทรวาสแตตินหลายขนาดความแรง กระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยได้เลือกอะโทรวาสแตตินชนิดรับประทานขนาดความแรง 40 มิลลิกรัม บรรจุลงในบัญชียาหลักแห่งชาติของประเทศไทย

จากการศึกษาการกระจายตัวของยาเมื่อเข้าสู่ร่างกายพบว่า ยาอะโทรวาสแตตินสามารถจับตัวได้ดีกับโปรตีนในเลือดได้ถึงประมาณ 98% จากนั้นก็จะถูกลำเลียงไปเปลี่ยนโครงสร้างทางเค มีที่อวัยวะตับ ร่างกายต้องใช้เวลาถึงประมาณ 14 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากกระแสเลือด 50 % โดยผ่านไปกับอุจจาระ

ยาอะโทรวาสแตตินจัดเป็นยาอันตราย การที่จะใช้ยาได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และส่งผลดีต่อการรักษาในผู้ป่วย ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น และผู้ป่วยไม่ควรซื้อยามารับประ ทานเอง

ยาอะโทรวาสแตตินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

อะโทรวาสแตติน

ยาอะโทรวาสแตตินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้รักษาภาวะไขมันในเลือดชนิดไม่ดีต่างๆของร่างกายที่สูงผิดปกติ เช่น Total cholesterol, LDL cholesterol, Triglycerides, และ Apolipoprotein B (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor. com บทความเรื่อง โรคไขมันในเลือดสูง)
  • ช่วยเพิ่มระดับไขมันในเลือดชนิด HDL cholesterol (ไขมันชนิดดี มีประโยชน์ต่อร่างกาย )
  • ใช้ป้องกันโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ เช่น หัวใจขาดเลือด เจ็บหน้าอก เป็นต้น

ยาอะโทรวาสแตตินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอะโทรวาสแตตินมีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ชื่อ HMG - GOA reductase ที่มีผลต่อการสังเคราะห์คอเลสเตอรอลในตับ อีกทั้งช่วยลดระดับไข มันไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglyceride) ในกระแสเลือด นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มระดับ HDL choleste rol (ไขมันชนิดดี) ในร่างกายได้บ้างเล็กน้อย ด้วยกลไกดังกล่าวจึงทำให้เกิดฤทธิ์ลดไขมันในเลือดของผู้ป่วย และยังช่วยสนับสนุนป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตามสรรพคุณ

ยาอะโทรวาสแตตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอะโทรวาสแตตินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • รูปแบบยาเม็ดขนาด 10, 20, 40, และ 80 มิลลิกรัม/เม็ด

ยาอะโทรวาสแตตินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาอะโทรวาสแตติน มีขนาดรับประทาน เช่น

ก. ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 10 - 80 มิลลิกรัม วันละครั้ง สามารถรับประทานยาก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ การปรับเปลี่ยนขนาดการรับประทานขึ้นอยู่กับระดับไขมันในเลือดของผู้ป่วย ซึ่งแพทย์เท่านั้นที่จะเป็นผู้พิจารณาปรับเปลี่ยนได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสม

ข. เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ขนาดรับประทานในเด็กต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เท่านั้น

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาอะโทรวาสแตติน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริม อะไรอยู่ เพราะยาอะโทรวาสแตติน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรืออาหารเสริม ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาอะโทรวาสแตติน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียง กับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาอะโทรวาสแตตินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอะโทรวาสแตตินสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • ท้องผูก หรือ ท้องเสีย
  • ท้องอืด
  • ปวดท้อง
  • ปวดศีรษะ/ ปวดหัว
  • คลื่นไส้
  • ปวดเกร็งกล้ามเนื้อ
  • ข้อบวม
  • และมีปริมาณเอนไซม์ Creatinine phosphokinase (CPK: เอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับ โรคหัวใจ และ/หรือโรคกล้ามเนื้อ) ในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นโดยไม่ได้มีการเจ็บป่วยใดๆ

มีข้อควรระวังการใช้ยาอะโทรวาสแตตินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอะโทรวาสแตติน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับหรือผู้ที่มีภาวะตับทำงานผิดปกติ
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่เป็นโรคหรือมีพยาธิสภาพเกี่ยวกับกล้ามเนื้อลาย
  • ห้ามใช้ยานี้กับหญิตั้งครรภ์และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ระวังการรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ด้วยมีผลต่อการทำงานของตับมากขึ้น
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอะโทรวาสแตตินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาอะโทรวาสแตตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอะโทรวาสแตตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาอะโทรวาสแตตินร่วม กับยาบางกลุ่ม สามารถทำให้ระดับยาอะโทรวาสแตตินในกระแสเลือดสูงขึ้น ทำให้ร่างกายได้รับผลข้างเคียงสูงขึ้นจากยาอะโทรวาสแตตินตามมา เช่น ตับทำงานหนัก หรือปวดกล้ามเนื้อ จนไปถึงขั้นกล้ามเนื้อบาดเจ็บถูกทำลาย/ กล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis) จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาอะโทรวาสแตตินร่วมกับยากลุ่มดังกล่าว เช่นยา
    • ยากดภูมิคุ้มกัน เช่นยา Cyclosporin
    • ยาปฏิชีวนะ เช่นยา Erythomycin)
    • ยาต้านเอชไอวี เช่นยา Nelfinavir
    • ยาต้านเชื้อรา เช่นยา Fluconazole, Itraconazole

ควรเก็บรักษายาอะโทรวาสแตตินอย่างไร?

สามารถเก็บยาอะโทรวาสแตติน เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาให้พ้นแสง/แสงแดด และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาอะโทวาสแตตินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอะโทรวาสแตติน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Atorsan (อะโทแซน) Lek
Atorvastatin Sandoz (อะโทวาสแตติน แซนดอซ) Sandoz
Chlovas (คลอวาส) Millimed
Lipitor (ลิปิเตอร์) Pfizer

บรรณานุกรม

1 http://en.wikipedia.org/wiki/Atorvastatin [2020,March21]
2 https://mims.com/thailand/drug/info/Lipitor/ [2020,March21]
3 https://mims.com/thailand/drug/info/Lipitor/?type=full#Indications [2020,March21]
4 https://mims.com/Thailand/drug/info/Chlovas/?type=brief [2020,March21]
5 http://www.drugs.com/drug-interactions/atorvastatin-index.html?filter=3&generic_only= [2020,March21]