อะเซนาปีน (Asenapine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอะเซนาปีน (Asenapine หรือ Asenapine maleate)เป็นยาบำบัดอาการทางจิตประสาท เช่น โรจจิตเภท (Schizophrenia) และโรคไบโพลาร์/โรคอารมณ์สองขั้ว(Bipolar disorder) สามารถใช้เป็นยาเดี่ยว หรืออาจใช้ร่วมกับยา Lithium หรือยา Valproate ก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ รูปแบบเภสัชภัณฑ์ยานี้เป็นยาชนิดรับประทานประเภทอมใต้ลิ้น ซึ่งทำให้ตัวยานี้ถูกดูดซึมได้อย่างรวดเร็ว หากอมยาชนิดนี้แล้วรับประทานอาหารหรือมีการดื่มเครื่องดื่มใดๆ จะทำให้การดูดซึมของตัวยานี้ลดน้อยลง ตับเป็นอวัยวะที่คอยทำลายตัวยาอะเซนาปีนในกระแสเลือดอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 24 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำเพื่อกำจัดยานี้ทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจมีระยะเวลาของการใช้ยานี้ต่อเนื่องนาน 6 เดือนขึ้นไปโดยขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

อนึ่ง มีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ไม่เหมาะหรือควรหลีกเลี่ยงการใช้ยา อะเซนาปีน อาทิ เช่น

  • ผู้ที่แพ้ยานี้
  • ผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง ผู้ที่มีเกลือโปแตสเซียมในเลือดต่ำ หรือเกลือแมกนีเซียมในเลือดต่ำ
  • ผู้ที่มีอัตราการเต้นของหัวใจช้ากว่าปกติ
  • ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยารักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมถึงยาที่มีผลข้างเคียงที่ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ เพราะการใช้อะเซนาปีนร่วมกับยาทั้ง 2 กลุ่ม อาจทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ง่ายขึ้น
  • สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดผลข้าง เคียงรุนแรงจากการใช้ยาทุกชนิดรวมถึงยาอะเซนาปีนด้วย
  • ผู้ป่วยที่มี ภาวะอัลไซเมอร์ ความจำเสื่อม โรคพาร์กินสัน เป็นอีกกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลข้างเคียงของการใช้ยาอะเซนาปีนได้มาก
  • ผู้ป่วยที่มีระดับฮอร์โมนโปรแลกตินในเลือดสูง หรือมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็ง/เนื้องอกต่อมใต้สมอง เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหน้าอก/เต้านมโตขึ้นเมื่อได้รับยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ด้วยจะเพิ่มอาการวิงเวียน และส่งผลกระทบต่อความดันโลหิตของผู้ป่วยมากยิ่งขึ้นโดยความดันโลหิตอาจสูงขึ้นหรือต่ำลงก็ได้

เมื่อใช้ยาอะเซนาปีนรักษาผู้ป่วยโรคจิตเภท / ไบโพลาร์ จนทำให้อาการดีขึ้นเป็นลำดับแล้ว ผู้ป่วยต้องไม่หยุดการใช้ยานี้อย่างกะทันหัน ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดภาวะทางจิตประสาทดังกล่าวกลับมาเป็นซ้ำ การหยุดใช้ยานี้จะต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น

ผู้ป่วย/ผู้บริโภคสามารถสอบถามข้อมูลการใช้ยาอะเซนาปีนเพิ่มเติมได้จากแพทย์/เภสัชกรในสถานพยาบาลที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษา และในท้องตลาดยาแผนปัจจุบัน จะพบเห็นการจัดจำหน่ายยาอะเซนาปีนภายใต้ยาชื่อการค้าว่า Saphris และ Sycrest

อะเซนาปีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

อะเซนาปีน

ยาอะเซนาปีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาโรคจิตเภท และ
  • รักษาโรคอารมณ์สองขั้ว

อะเซนาปีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอะเซนาปีน อยู่ในกลุ่มยา Serotonin-dopamine antagonist สามารถออกฤทธิ์ต่อตัวรับ(Receptor)ของสารสื่อประสาทต่างๆในสมอง เช่น Serotonin receptor, Dopamine receptor ซึ่งส่งผลให้ระดับสารสื่อประสาทต่างๆมีสมดุลและเหมาะสมมากขึ้น จากกลไกนี้ จึงทำให้อาการของจิตเภทและไบโพลาร์ กลับมาเป็นปกติได้ตามสรรพคุณ

อะเซนาปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอะเซนาปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาอมใต้ลิ้น ที่ประกอบด้วยตัวยา Asenapine ขนาด 2.5, 5 และ 10 มิลลิกรัม/เม็ด

อะเซนาปีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาอะเซนาปีนมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นอมยาใต้ลิ้นขนาด 5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น โดยแพทย์อาจเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 10 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ทั้งนี้เป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์
  • เด็ก: การใช้ยานี้ในเด็ก แพทย์จะพิจารณาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • ห้าม ดื่มน้ำ รับประทานอาหาร หรือสูบบุหรี่ ขณะที่อมยานี้ ด้วยจะทำให้การดูดซึมยานี้น้อยลง
  • ห้ามกลืนยานี้ทันที ต้องอมให้ยาละลาย และดูดซึมเข้ากระแสเลือดจากทางปาก เพราะยาอะเซนาปีนจะมีการดูดซึมต่ำหากกลืนลงกระเพาะอาหาร

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอะเซนาปีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคหัวใจ โรคมะเร็ง รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะเซนาปีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้นหรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมอมยาควรทำอย่างไร?

หากลืมอมยาอะเซนาปีน สามารถอมยานี้ทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้อมยานี้ที่ขนาดปกติ

แต่อย่างไรก็ตาม การหยุดใช้ยาอะเซนาปีนทันที อาจก่อให้เกิดอาการทางจิตประสาทกำเริบตามมา

อะเซนาปีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอะเซนาปีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำหรือไม่ก็สูง บวมตามร่ากาย หัวใจเต้นช้าหรือหัวใจเต้นเร็ว คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น รับประทานอาหารมากขึ้น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น น้ำตาลในเลือดสูง ระดับไขมันในเลือดสูง
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น ทำให้ประจำเดือนขาด มีระดับฮอร์โมนโปรแลกติน ในเลือดสูง
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึม มีความรู้สึกอยากทำร้ายตนเอง
  • ผลต่อตับ: เช่น ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ อาจเกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน การควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายผิดปกติ ตัวสั่น ปวดศีรษะ เกิดลมชัก
  • ผลต่อระบบการหายใจ: เช่น หอบหืด คัดจมูก
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องผูกหรือท้องเสีย ปากแห้ง น้ำลายมาก รู้สึกไม่สบายท้อง อาเจียน ปวดฟัน คลื่นไส้
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะเลือดจาง มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

มีข้อควรระวังการใช้อะเซนาปีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอะเซนาปีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง และต้องใช้ยานี้ตามที่แพทย์แนะนำ
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก
  • ห้ามหยุดใช้ยานี้อย่างกะทันหันถึงแม้อาการป่วยจะดีขึ้นเป็นลำดับก็ตาม เพราะผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องใช้ยานี้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งแพทย์เท่านั้นที่จะปรับลดการใช้ยาได้เหมาะสมที่สุด
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก นอกจากจะมีคำสั่งแพทย์
  • หลังรับประทานยานี้แล้วเกิดอาการวิงเวียน ห้ามผู้ป่วยขับขี่ยวดยานพาหนะหรือทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรต่างๆ ด้วยจะส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ห้ามผู้ป่วยที่ได้รับยานี้อยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนจัด ด้วยอาจส่งผลทำให้เกิดอาการไข้ที่เกิดจากความร้อนได้ง่าย
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ด้วยจะส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติคืออาจสูงขึ้นหรือต่ำลงก้ได้
  • ยาอะเซนาปีนสามารถทำให้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของผู้ป่วยอ่อนแอลง ดังนั้นระหว่างใช้ยานี้ ควรหลีกเลี่ยงการนำผู้ป่วยไปอยู่ในบริเวณ/พื้นที่ ที่ประชากรมีอาการป่วยด้วยโรคหวัด หรือพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อต่างๆ ด้วยผู้ป่วยจะติดเชื้อต่างๆได้ง่าย
  • ยาอะเซนาปีนมีอาการข้างเคียงที่เด่น ที่ทำให้ผู้ป่วยซึ่งได้รับยานี้เป็นเวลานาน จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น กรณีนี้สามารถปรึกษากับแพทย์ เพื่อแพทย์พิจารณาปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมกับสภาพของผู้ป่วยแต่ละบุคคล
  • ผู้ป่วยกลุ่มสตรีสูงวัยที่ได้รับยานี้ อาจพบเห็นอาการผิดปกติของกล้ามเนื้อ เช่น การควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายอย่าง การบังคับแขน ขา ลิ้น ใบหน้า และ ปาก ทำได้ลำบาก หากพบเห็นอาการดังกล่าว ต้องรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา โดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยาอะเซนาปีน อาจต้องได้รับการตรวจเลือดเป็นระยะๆตามคำสั่งแพทย์เพื่อเป็นการตรวจสอบและป้องกันการเกิดอาการข้างเคียงของยานี้ เช่น ดู ระดับน้ำตาลในเลือด และระดับไขมันในเลือด
  • *ผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด จะมีอาการ ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดปกติ กรณีที่พบเห็นผู้ป่วยใช้ยาเกินขนาด/เกิดอาการดังกล่าว ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาอะเซนาปีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

อะเซนาปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอะเซนาปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามรับประทานยาอะเซนาปีนร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ด้วยจะทำให้มีอาการวิงเวียนรุนแรง และเกิดความดันโลหิตผิดปกติ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาอะเซนาปีนร่วมกับกลุ่มยา Benzodiazepines , ยานอนหลับประเภท Nonbenzodiazepine , ยาคลายกล้ามเนื้อ, ด้วยจะก่อให้เกิดภาวะกดการหายใจ มีอาการโคม่า หรือเกิดความดันโลหิตต่ำตามมา
  • ห้ามใช้ยาอะเซนาปีนร่วมกับยา Bedaquilline (ยาวัณโรค) ด้วยจะทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติตามมา
  • ห้ามใช้ยาอะเซนาปีนร่วมกับยา Bupropion ด้วยเสี่ยงต่อการเกิดอาการชักได้ง่ายยิ่งขึ้น

ควรเก็บรักษาอะเซนาปีนอย่างไร?

ควรเก็บยาอะเซนาปีนภายใต้อุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

อะเซนาปีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอะเซนาปีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
SAPHRIS (ซาฟริส)Catalent UK Swindon Zydis Ltd
Sycrest (ไซเครสท์)Schering-Plough Labo N.V.

บรรณานุกรม

  1. http://www.mims.com/thailand/drug/info/asenapine/?type=brief&mtype=generic[2017,Aug12]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Asenapine[2017,Aug12]
  3. https://www.drugs.com/dosage/asenapine.html[2017,Aug12]
  4. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2015/022117s017s018s019lbl.pdf[2017,Aug12]
  5. https://www.medicines.org.uk/emc/PIL.25633.latest.pdf[2017,Aug12]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/asenapine-index.html?filter=3&generic_only=[2017,Aug12]