อะลิเมมาซีน (Alimemazine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอะลิเมมาซีน(Alimemazine หรือ Alimemazine tartrate) หรือจะเรียกว่ายา ไตรเมพราซีน(Trimeprazine) จัดเป็นอนุพันธ์ของยาฟีโนไทอะซีน(Phenothiazine) ทางคลินิกนำมาใช้เป็นยาบรรเทาอาการแพ้ทางผิวหนัง เช่น ลมพิษ ผด ผื่นคัน รวมถึงใช้เป็นยาช่วยสงบประสาท/ยาคลายเครียดในเด็กอายุ 2-7 ปีก่อนเข้ารับการผ่าตัด ยานี้จะออกฤทธิ์ปิดกั้นสารกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้อย่างฮีสตามีน(Histamine) และยังออกฤทธิ์ที่สมองทำให้ผู้ที่ได้รับยารู้สึกผ่อนคลาย รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาชนิดนี้ เป็นประเภทยารับประทานซึ่งมีทั้งยาเม็ดและยาน้ำ ตัวยาจะถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้น้อยกว่า 70% ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเคมีของยาอะลิเมมาซีนอย่างต่อเนื่อง และร่างกายต้องใช้เวลา 4.19 – 5.37 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ทิ้งออกจากกระแสเลือดโดยผ่านไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางกลุ่ม ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาอะลิเมมาซีนด้วยตัวยาอาจทำให้อาการโรคกำเริบขึ้น เช่น ผู้ที่ป่วยเป็น โรคตับ โรคไต โรคลมชัก โรคพาร์กินสัน โรคต่อมไทรอยด์ เนื้องอกที่ต่อมหมวกไต(เช่น Pheochromocytoma) โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคต่อมลูกหมากโต โรคต้อกระจก รวมถึงเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตีในภาวะให้นมบุตรทั้งนี้เพราะยาอะลิเมมาซีนสามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กเล็กๆและต่อทารกในครรภ์มารดาได้

ยาอะลิเมมาซีนยังทำให้ผิวหนังของผู้ที่รับประทานยานี้เกิดอาการผิวแพ้แสงแดดได้ง่าย แพทย์/เภสัชกร/พยาบาลจึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการออกแดดโดยตรงเมื่อใช้ยานี้

ทั้งนี้ ยาอะลิเมมาซีนเป็นยาแก้อาการแพ้อย่างเช่น ผื่นคัน ลมพิษก็จริง แต่หากผู้ป่วยมีอาการแพ้ยานี้เสียเอง เช่นก่อให้เกิดผื่นคันมากขึ้น กรณีนี้ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที

อนึ่ง ยังมีผลข้างเคียงจากยาอะลิเมมาซีนที่อาจก่อให้เกิดอันตราย(ผลข้างเคียงรุนแรง) และหากพบเห็นผลข้างเคียงเหล่านี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วโยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด อาทิ มีอาการทางตับโดยเกิดอาการตัวเหลืองตาเหลือง อุณหภูมิร่างกายเพิ่มขึ้น (เป็นไข้) หัวใจเต้นเร็ว หายใจขัด/แน่นหน้าอก มีอาการชักและไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายได้

อาจกล่าวได้ว่าการใช้ยาอะลิเมมาซีนควรต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ การใช้ยานี้เกินขนาดหรือใช้ผิดวิธี นอกจากจะไม่ทำให้อาการของโรคดีขึ้นแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดผลกระทบ(ผลข้างเคียง)จากยานี้ตามมา

หากต้องการทราบข้อมูลการใช้ยาอะลิเมมาซีนเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้จากแพทย์ผู้ที่ทำการตรวจประเมินรักษา หรือจากเภสัชกรได้ทั่วไป

อะลิเมมาซีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

อะลิเมมาซีน

ยาอะลิเมมาซีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดป้องกัน อาการผื่นคันทางผิวหนัง ลมพิษ
  • ช่วยสงบประสาท/ผ่อนคลายในเด็กที่อยู่ในช่วงอายุ 2–7 ปีก่อนเข้ารับการผ่าตัด

อะลิเมมาซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ตัวยาอะลิเมมาซีนมีกลไกการออกฤทธ์โดย ตัวยาจะยับยั้งและปิดกั้นการทำงานของสารก่ออาการการแพ้ในร่างกายประเภทฮีสตามีน(Histamine) ส่งผลให้อาการแพ้ต่างๆของร่างกายสงบและยุติลง ด้วยกลไกนี้ จึงทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

อะลิเมมาซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอะลิเมมาซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ประกอบด้วยตัวยา Alimemazine tartrate 10 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาน้ำชนิดรับประทานที่ประกอบด้วย Alimemazine tartrate 7.5 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร และ 30 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร

อะลิเมมาซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาอะลิเมมาซีนมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. ใช้เป็นยาสงบประสาทในเด็กก่อนเข้ารับการผ่าตัด:

  • เด็กอายุ 2–7 ปี: รับประทานยาได้ถึง 2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยต้องให้ยาก่อนเข้ารับการผ่าตัด 1–2 ชั่วโมง
  • เด็กอายุต่ำกว่า 2ปี และเด็กอายุมากกว่า 7 ปี: การเลือกใช้ยานี้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป

ข.ใช้บรรเทาอาการผื่นคันทางผิวหนังและลมพิษ:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 10 มิลลิกรัม วันละ 2–3 ครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดห้ามเกิน 100 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กที่มีอายุมากกว่า 2 ปี: รับประทานยา 2.5–5 มิลลิกรัม วันละ 3 – 4 ครั้ง
  • เด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีลงมา: การใช้ยานี้และขนาดยานี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป
  • ผู้สูงอายุ: รับประทานยา 10 มิลลิกรัม วันละ 1–2 ครั้ง/วัน

อนึ่ง:

  • สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารได้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอะลิเมมาซีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคลมชัก โรคพาร์กินสัน โรคต่อมไทรอยด์ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะลิเมมาซีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาอะลิเมมาซีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานที่ขนาดปกติ

แต่อย่างไรก็ดี การหยุดรับประทานยาอะลิเมมาซีนทันที อาจทำให้อาการผื่นแพ้ของผิวหนังไม่ทุเลาลง

อะลิเมมาซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอะลิเมมาซีนสามารถก่อให้เกิด ผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปากแห้ง
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น นอนไม่หลับ ตัวสั่น เกิดลมชัก มีไข้ มีอาการคล้ายโรคพาร์กินสัน
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น หน้าอก/เต้านมโต ประจำเดือนขาด(ในสตรี)
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น คัดจมูก
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคันตามผิวหนัง ผิวแพ้แสงแดดง่าย
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะLeucopenia/เม็ดเลือดขาวต่ำ แบบไม่รุนแรงมากนัก
  • ผลต่อตับ: เช่น ตัวเหลืองตาเหลือง
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นเร็ว คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ
  • ผลต่อตา: เช่น การมองเห็นภาพไม่ชัดเจน

*อนึ่ง สำหรับผู้ที่ได้รับยาอะลิเมมาซีนเกินขนาด จะมีอาการ ง่วงนอน หมดสติ ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ อุณหภูมิร่างกายลดต่ำ หลอดเลือดดำตามร่างกายขยายตัวจนทำให้การไหลเวียน เลือดล้มเหลว ซึ่งหากพบเห็นอาการดังกล่าว ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน ซึ่งการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด แพทย์จะดูแลรักษาประคับประคองตามอาการ

มีข้อควรระวังการใช้อะลิเมมาซีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอะลิเมมาซีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ และห้ามใช้ในผู้ป่วย โรคตับ โรคไต
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเองและใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำ
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก หรือมีเศษผงในน้ำยา
  • ห้ามใช้ยานี้ต่อเนื่องนานเกินคำสั่งแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี
  • ห้ามสัมผัสยาอะลิเมมาซีนชนิดรับประทานที่ผิวหนังเป็นเวลานานๆ เช่น ทำยาหกเลอะผิวหนังแล้วไม่ล้างออก ด้วยจะก่อให้เกิดภาวะผิวหนังที่สัมผัสยานี้ แดงและบวมตามมา
  • กรณีที่ใช้ยานี้แล้วไม่ได้ผล ให้กลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลอีกครั้งโดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาอะลิเมมาซีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

อะลิเมมาซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอะลิเมมาซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามรับประทานยาอะลิเมมาซีนร่วมกับเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้เกิดอาการสงบประสาท/กดประสาท/กดสมอง และวิงเวียนอย่างรุนแรง
  • การรับประทานยาอะลิเมมาซีนพร้อมอาหาร อาจทำให้การดูดซึมตัวยานี้จากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด ช้าลงจนอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยานี้ กรณีนี้ผู้ป่วยสามารถรับประทานยานี้ก่อนอาหารหรือในช่วงท้องว่างเพื่อช่วยเพิ่มการดูดซึมของยาอะลิเมมาซีน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาอะลิเมมาซีนร่วมกับยารักษาอาการวิตกกังวล/ยารักษาทางจิตเวช ยานอนหลับ ยาBarbiturate ด้วยจะทำให้เกิดภาวะสงบประสาท/กดสมองมากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาอะลิเมมาซีนร่วมกับยารักษา/ยาลดความดันโลหิตสูง เพราะจะทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำมากตามมา

ควรเก็บรักษาอะลิเมมาซีนอย่างไร?

ควรเก็บยาอะลิเมมาซีนภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

อะลิเมมาซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอะลิเมมาซีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Vallergan (วาลเลอร์แกน)Clintex Produtos Farmaceticos SA

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่นNedeltran, Panectyl, Repeltin, Therafene, Theraligene, Theralen, Theralene,Vanectyl, Temaril

บรรณานุกรม

  1. https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/22263[2017,Sept23]
  2. file:///C:/Users/apai/Downloads/859003.pdf[2017,Sept23]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Alimemazine[2017,Sept23]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/alimemazine/?type=brief&mtype=generic[2017,Sept23]
  5. https://www.drugbank.ca/drugs/DB01246[2017,Sept23]
  6. https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/22488[2017,Sept23]
  7. https://www.drugs.com/uk/alimemazine-tartate-10mg-film-coated-tablets-leaflet.html[2017,Sept23]