อะมิโนควิโนลีน (Aminoquinoline)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

อะมิโนควิโนลีน (Aminoquinoline) คือ ยาต้านมาลาเรีย/โรคไข้จับสั่น จัดเป็นอนุพันธุ์ของสารประกอบอินทรีย์ ชื่อ ‘ควิโนลีน (Quinoline),’ สามารถแบ่งออกเป็น 2 หมวด ดังนี้

  • ก. 4-Aminoquinoline: ใช้ต่อต้านเชื้อมาลาเรีย ตัวอย่างของยาในหมวดนี้ เช่นยาAmodiaquine, Chloroquine และ Hydroxychloroquine นอกจากจะใช้บำบัดการติดเชื้อมาลาเรียแล้ว  ทางคลินิกยังใช้ยาบางตัวของ 4-Aminoquinoline อย่างเช่น Chloroquine มาบำบัดอาการโรคข้อรูมาตอยด์,   การติดเชื้ออะมีบาที่ตับ (Hepatic amoebiasis อ่านเพิ่มเติม ในเว็บ com บทความเรื่อง ฝีตับ), และใช้รักษาโรคลูปัส-โรคเอสแอลอีอีกด้วย
  • ข. 8-Aminoquinoline: เป็นกลุ่มยาที่มีโครงสร้างเคมีแตกต่างจาก 4-Aminoquinoline เล็กน้อย ประกอบไปด้วยรายการยาดังต่อไปนี้ เช่นยา Primaquine, Tafenoquine,  Pamaquine   ทางคลินิกนำมาใช้บำบัดและป้องกันอาการโรคมาลาเรีย แต่ไม่ควรใช้กับผู้ป่วยกลุ่มภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดีด้วยจะทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตก(Hemolysis) ปัจจุบันตัวยา Pamaquine ไม่ค่อยมีการใช้มาเป็นเวลานานแล้ว ในขณะที่ตัวยา Primaquine มีใช้แพร่หลายทั่วโลก  ส่วน Tafenoquine ยังอยู่ในช่วงการศึกษาทดลองทางคลินิกและยังไม่ได้ถูกใช้อย่างเป็นทางการ

รูปแบบของยาอะมิโนควิโนลีนทั้ง 2 กลุ่มจะเป็นยาชนิดรับประทานทั้งที่เป็นยาเดี่ยวและผสมร่วมยาอื่น

สำหรับอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ของยาอะมิโนควิโนลีนแต่ละตัวจะมีความเหมือนและแตกต่างกันออกไปทั้งนี้ขึ้นกับโครงสร้างทางเคมีที่เป็นองค์ประกอบหลัก องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ยาบางรายการของยากลุ่มอะมิโนควิโนลีนเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลแต่ละแห่งควรมีสำรองไว้ให้บริการและรองรับต่อการเจ็บป่วยของประชาชน เช่น Amodiaquine, Chloroquine และ Primaquine เป็นต้น นอกจากนี้ยาบางตัว เช่น Amodiaquine จัดเป็นยาสำคัญและโดดเด่นที่ประเทศแอฟริกานำมาใช้รักษามาลาเรีย

สำหรับประเทศไทย จะพบเห็นการใช้ยาอะมิโนควิโนลีนบางรายการ เช่น Chloroquine, Hydroxychloroquine และ Primaquine กลุ่มยาเหล่านี้ถูกจัดอยู่ในหมวดของยาอันตราย ขนาดการใช้ของยานี้แต่ละรายการต้องขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์และมาตรฐานของยาแต่ละตัว ผู้บริโภคอาจซื้อหายาต้านมาลาเรียเหล่านี้ได้ตามร้านขายยาขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้ยา ควรต้องได้รับการตรวจคัดกรองการตรวจร่างกายจากแพทย์และใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น หากมีข้อสงสัยควรสอบถามรายละเอียดและข้อมูลการใช้ยาอะมิโนควิโน ลีนจากเภสัชกรตามร้านขายยาได้โดยทั่วไป

อะมิโนควิโนลีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

อะมิโนควิโนลีน-01

 

ยาอะมิโนควิโนลีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น 

  • รักษาการติดเชื้อมาลาเรีย/ไข้จับสั่น (ยาต้านมาลาเรีย)
  • ป้องกันการติดเชื้อมาลาเรีย
  • ใช้บำบัดอาการปอดอักเสบ/ปอดบวมที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อโปรโทซัวหรือที่เรียกว่า Pneumocystis pneumonia ซึ่งมักจะพบในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ร่วมด้วย
  • รักษาโรคลูปัส-โรคเอสแอลอี
  • รักษาการติดเชื้ออะมีบาที่ตับ (Hepatic amoebiasis อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคฝีตับ)
  • รักษาโรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)

อะมิโนควิโนลีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอะมิโนควิโนลีนมีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะเข้าจับกับสารพันธุกรรมของเชื้อมาลาเรีย และทำให้ส่วนประกอบภายในเซลล์ของเชื้อมาลาเรียที่มีชื่อว่า ไมโทคอนเดรีย (Mitochondria) รวมถึงผนังของเซลล์แตกออกจนไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ จากกลไกเหล่านี้ทำให้เชื้อมาลาเรียหยุดการเจริญเติบโต หยุดการกระจายพันธุ์และตายลงในที่สุด

อะมิโนควิโนลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอะมิโนควิโนลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:  

  • ยาเม็ดและยาแคปซูลชนิดรับประทาน
  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ผสมกับยาวิตามิน
  • ยาฉีด

อะมิโนควิโนลีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

การใช้ยาและขนาดยาในกลุ่มอะมิโนควิโนลีนจะแตกกันในแต่ละผู้ป่วย จึงจะไม่กล่าวถึงรายละเอียดในบทความนี้ เพราะต้องขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาซึ่งจะอาศัยข้อมูลต่างๆของผู้ป่วยมาประกอบกัน เช่น

  • อาการของผู้ป่วยว่ามีสาเหตุจากเชื้อมาลาเรียชนิดใด
  • มีภาวะดื้อยาของเชื้อมาลาเรียด้วยหรือไม่
  • อายุและสถานะของสุขภาพของผู้ป่วย
  • มีประวัติแพ้ยาชนิดใดหรือไม่
  • ปัจจุบันมีการใช้ยาอะไรบ้างเพื่อป้องกันปฏิกิริยาระหว่างยา

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาอะมิโนควิโนลีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น       

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะมิโนควิโนลีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาอะมิโนควิโนลีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาอะมิโนควิโนลีนตรงเวลา

อะมิโนควิโนลีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอะมิโนควิโนลีนอาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) : เช่น

  • ปวดหลัง  ปวดขา และ/หรือ  ปวดท้อง
  • ปัสสาวะมีสีคล้ำ
  • มีไข้
  • เบื่ออาหาร
  • ผิวซีด
  • อ่อนเพลีย
  • อาจมีอาการหายใจลำบาก
  • วิงเวียน
  • เจ็บคอ/ คออักเสบ
  • ผมร่วง
  • ผิวหนังไวกับแสงแดด
  • การได้ยินผิดปกติ
  • ลมชัก
  • เม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ
  • รู้สึกไม่สบายในระบบทางเดินอาหาร
  • วิงเวียน
  • ปวดหัว
  • ผื่นคัน ลมพิษ
  • มีภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
  • หายใจไม่ออก และอาจมีภาวะโคม่าตามมา

มีข้อควรระวังการใช้อะมิโนควิโนลีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้อะมิโนควิโนลีน: เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาอะมิโนควิโนลีน
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
  • กรณีที่ผู้ป่วยมียาอื่นรับประทานอยู่ก่อน จะต้องแจ้งให้แพทย์/เภสัชกรทราบทุกครั้ง
  • ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี ผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจ  ผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยด้วยโรคตับ โรคไต
  • *หากพบอาการแพ้ยานี้ ให้หยุดใช้ยานี้ แล้วรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ “ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอะมิโนควิโนลีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด  อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

อะมิโนควิโนลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอะมิโนควิโนลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น

  • ห้ามใช้ยา Primaquine ร่วมกับยา Clozapine ด้วยจะทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวในเลือดต่ำจนทำให้เกิดการติดเชื้อต่างๆตามมาได้
  • การใช้ยา Hydroxychloroquine ร่วมกับยา Kaolin หรือ Magnesium trisilicate อาจทำให้การดูดซึมของยา Hydroxychloroquine น้อยลงไปจนส่งผลต่อประสิทธิภาพของการรักษา จึงควรเลี่ยงการรับประทานยาร่วมกัน หรือแพทย์ปรับขนาดรับประทานเป็นกรณีๆ ไป
  • การใช้ยา Chloroquine ร่วมกับยา Cimetidine จะทำให้ระดับยา Chloroquine อยู่ในกระแสเลือดได้นานขึ้นจนอาจมีผลข้างเคียงติดตามมา ควรเลี่ยงไม่ใช้ยาทั้ง 2 ตัวร่วมกัน หรือแพทย์ปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาอะมิโนควิโนลีนอย่างไร?

ควรเก็บยาอะมิโนควิโนลีน: เช่น

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

อะมิโนควิโนลีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอะมิโนควิโนลีน  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Chewoquine (ชิวโอควิน) Chew Brothers
Chewoquine SC (ชิวโอควิน เอสซี) Chew Brothers
Chewoquine-G (ชิวโอควิน-จี) Chew Brothers
Chewoquine-Y (ชิวโอควิน-วาย) Chew Brothers
Chloroquine Acdhon (คลอโรควิน แอคฮอน) Acdhon
Chloroquine Burapha (คลอโรควิน บูรพา) Burapha
Chloroquine GPO (คลอโรควิน จีพีโอ) GPO
Chloroquine Phosphate Asian Pharm (คลอโรควิน ฟอสเฟต เอเชียน ฟาร์ม) Asian Pharm
Diroquine (ไดโรควิน) Atlantic Lab
Genocin (เจโนซิน) General Drugs House
Malacin (มาลาซิน) ANB
Nitaquin (ไนตาควิน) Utopian
P-Roquine (พี-โรควิน) P P Lab
Sinmoquin (ซินโมควิน) SSP Laboratories
Primaquine GPO (ไพรมาควิน จีพีโอ) GPO
HCQS (เฮชซีคิวเอส) IPCA
Hydroquin (ไฮโดรควิน) Sun Pharma
Plaquenil (พลาควินิล) sanofi-aventis

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Aminoquinoline [2022,Sept10]
  2. https://go.drugbank.com/categories/DBCAT000997 [2022,Sept10]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Hydroxychloroquine [2022,Sept10]
  4. http://ndi.fda.moph.go.th/drug_detail/index/?ndrug=2&rctype=1C&rcno=4900355&lpvncd=&lcntpcd=&lcnno=&licensee_no= [2022,Sept10]
  5. https://www.mims.com/thailand/drug/info/hydroxychloroquine?mtype=generic [2022,Sept10]
  6. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=hydroxychloroquine [2022,Sept10]
  7. https://en.wikipedia.org/wiki/Chloroquine [2022,Sept10]
  8. http://ndi.fda.moph.go.th/drug_detail/index/?ndrug=2&rctype=1A&rcno=4500232&lpvncd=&lcntpcd=&lcnno=&licensee_no= [2022,Sept10]
  9. https://www.mims.com/thailand/drug/info/chloroquine?mtype=generic [2022,Sept10]
  10. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=CHLOROQUINE [2022,Sept10]
  11. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/8278823/ [2022,Sept10]
  12. https://www.drugs.com/hydroxychloroquine.html   [2022,Sept10]