อะมิโนกลูเทติมายด์ (Aminoglutethimide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอะมิโนกลูเทติมายด์ (Aminoglutethimide) เป็นสารที่ต่อต้านการสร้างสเตียรอยด์ฮอร์ โมนต่างๆของร่างกาย ชื่อการค้าที่เป็นที่รู้จักกันคือ ‘Cytadren’ ทางคลินิกใช้ยานี้ในการรักษามะเร็งเต้านม, รักษากลุ่มอาการคุชชิง(Cushing syndrome / โรคที่มีฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตผิดปกติ), และในบางกรณีถูกนำไปใช้ในการเพาะกาย

รูปแบบของยาอะมิโนกลูเทติมายด์ในยาแผนปัจจุบันจะเป็นชนิดยารับประทาน โดยยานี้จะถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ถึงประมาณ 95% เมื่อตัวยานี้เข้าสู่กระแสเลือด ตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยา ร่างกายจะใช้เวลาประมาณ 12.5 + 1.6 ชั่วโมงในการกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดประมาณ 50% โดยผ่านไปกับปัสสาวะ

ด้วยยาอะมิโนกลูเทติมายด์ มีความจำเพาะเจาะจงต่อโรค การสั่งจ่ายยาจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ในสถานพยาบาลเท่านั้น

อะมิโนกลูเทติมายด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

อะมิโนกลูเทติมายด์

อะมิโนกลูเทติมายด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:

  • รักษากลุ่มอาการคุชชิง(Cushing syndrome)
  • บำบัดมะเร็งเต้านม และ มะเร็งต่อมลูกหมาก

อะมิโนกลูเทติมายด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาอะมิโนกลูเทติมายด์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ชื่อ อะโรมาเทส (Aromatase) ซึ่งเป็นเอนไซม์สำคัญในการสร้างฮอร์โมน เอสโตรเจน (Estrogen)ของร่างกาย นอกจากนี้ยังยับยั้งการเปลี่ยนคอเลสเตอรอลไปเป็น สเตียรอยด์ฮอร์โมนที่มีชื่อว่า Pregnenolone และยังลดการสังเคราะห์สเตียรอยด์ฮอร์โมนอีกหลายตัว จากกลไกดังกล่าวส่งผลให้ยานี้มีฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ

อะมิโนกลูเทติมายด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอะมิโนกลูเทติมายด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • เป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 250 มิล ลิกรัม/เม็ด

อะมิโนกลูเทติมายด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาอะมิโนกลูเทติมายด์มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 250 มิลลิกรัมทุก 6 ชั่วโมงสามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาที่ชัดเจนถึงการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุล พินิจของแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาอะมิโนกลูเทติมายด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาลและ เภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่น/หายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาอะมิโนกลูเทติมายด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาและ/หรือกับอาหารเสริมอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาอะมิโนกลูเทติมายด สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการรับประทานในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อะมิโนกลูเทติมายด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอะมิโนกลูเทติมายด์สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • วิงเวียน
  • ง่วงนอน
  • ปวดหัว
  • เบื่ออาหาร
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • อ่อนแรง
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • อ่อนเพลีย

*อนึ่ง: กรณีที่มีอาการแพ้ยานี้จะพบอาการ ผื่นคัน แน่นหน้าอก ปาก-ใบหน้าบวม เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว มีไข้ หนาวสั่น เจ็บคอ ตัวซีด ตัวเหลือง หากพบอาการดังกล่าวต้องรีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที

มีข้อควรระวังการใช้อะมิโนกลูเทติมายด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอะมิโนกลูเทติมายด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคอีสุกอีใส ผู้ป่วยโรคงูสวัด
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ด้วยสามารถทำให้ทารกในครรภ์วิกลรูป/พิการได้

ถึงแม้ยังไม่มีข้อมูลว่ายานี้ผ่านมากับน้ำนมมารดาได้หรือไม่ หากมีความจำเป็นต้องใช้ยา กับหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ควรใช้นมผงดัดแปลงเลี้ยงดูทารกทดแทนน้ำนมของมารดาระหว่างการใช้ยานี้

  • ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้สูงอายุและเด็ก ด้วยผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจเกิดภาวะแพ้ยาหรือเกิดอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงได้มาก
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอะมิโนกลูเทติมายด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

อะมิโนกลูเทติมายด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอะมิโนกลูเทติมายด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาอะมิโนกลูเทติมายด ร่วมกับ ยาแก้ปวดบางตัว เช่นยา Levomethadyl acetate สามารถทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ หัวใจขัด (Heart block, หัวใจเต้นผิดปกติจากกระแสไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ) เป็นลม วิงเวียน หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาอะมิโนกลูเทติมายด์ ร่วมกับ ยารักษาโรคหืด เช่นยา Theophylline สามารถทำให้ฤทธิ์ของยารักษาโรคหืดลดลง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาอะมิโนกลูเทติมายด์ ร่วมกับ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่นยา Warfarin สามารถทำให้ฤทธิ์ในการต้านการแข็งตัวของเลือดด้อยประสิทธิภาพลงไป โดยอาจพบอาการเจ็บหน้าอก หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตาพร่า หากจำเป็นต้องใช้ยาทั้งคู่ร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาอะมิโนกลูเทติมายด์ ร่วมกับ ยาเม็ดคุมกำเนิด ที่มีตัวยา Estradiol เป็นองค์ประกอบ อาจทำให้เกิดภาวะประจำเดือนผิดปกติ มีเลือดซึมคล้ายมีประจำเดือน หรือเกิดภาวะตั้งครรภ์ได้ การใช้ยาร่วมกันผู้ป่วยจำเป็นต้องคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นร่วมด้วยเช่น การใช้ถุงยางอนามัยชาย

ควรเก็บรักษาอะมิโนกลูเทติมายด์อย่างไร?

ควรเก็บยาอะมิโนกลูเทติมายด์:

  • เก็บยาภายในช่วงอุณหภูมิ 25 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและ ความชื้น
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • ควรต้องเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

อะมิโนกลูเทติมายด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอะมิโนกลูเทติมายด์ มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Cytadren (ไซทาเดรน)Novartis Pharmaceuticals

บรรณานุกรม

1. http://www.drugs.com/cdi/aminoglutethimide.html [2020,Dec12]
2. http://en.wikipedia.org/wiki/Aminoglutethimide [2020,Dec12]
3. http://www.drugs.com/drug-interactions/aminoglutethimide-index.html?filter=3&generic_only= [2020,Dec12]
4. http://druginfosys.com/Drug.aspx?drugCode=768&drugName=Aminoglutethimide&type=4 [2020,Dec12]
5. https://www.drugs.com/mtm/aminoglutethimide.html [2020,Dec12]
6. http://www.drugs.com/dosage/aminoglutethimide.html [2020,Dec12]
7. http://www.medindia.net/doctors/drug_information/aminoglutethimide.htm [2020,Dec12]
8. http://www.drugs.com/imprints/ciba-24-108.html [2020,Dec12]