อะมิเนปทีน (Amineptine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอะมิเนปทีน(Amineptine) เป็นยาต้านเศร้าประเภท Dopamine reuptake inhibitor ถูกพัฒนาขึ้นที่ประเทศฝรั่งเศสตั้งแต่ปี ค.ศ.1960 (พ.ศ.2503) โดยตัวยามีกลไกการออกฤทธิ์ต่อสมอง โดยปิดกั้นการดูดเก็บสารสื่อประสาทในเซลล์ประสาท อย่างเช่น Dopamine ทำให้ปริมาณ Dopamine ที่อยู่นอกเซลล์ประสาทมีปริมาณเพิ่มขึ้น และส่งผลต่อระดับอารมณ์ของผู้ที่ได้รับยาชนิดนี้

ยาอะมิเนปทีน มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทาน หลังการดูดซึมยานี้จากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยานี้จะเริ่มออกฤทธิ์ได้เลย และในขณะเดียวกันก็จะถูกตับทำลาย ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 48 นาทีเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ยาอะมิเนปทีนถูกวางจำหน่าย ก็ตรวจพบว่าตัวยานี้มีผลข้างเคียงโดยสามารถทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ ซึ่งเป็นเหตุให้ประเทศฝรั่งเศสระงับการใช้ยานี้ในปี ค.ศ.1999 (พ.ศ.2542) แต่ก็พบการใช้ยาอะมิเนปทีนในประเทศที่กำลังพัฒนาหลายประเทศอีกระยะหนึ่ง

ทั้งนี้ มีข้อจำกัด-ข้อควรระวังที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบเกี่ยวกับยาอะมิเนปทีน อาทิ

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่เคยมีประวัติแพ้ยาอะมิเนปทีน
  • ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และในเด็ก
  • ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบด้วยจะทำให้มีอาการวิงเวียน และง่วงนอน อย่างรุนแรง
  • ยาอะมิเนปทีน อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงของอาการติดยาได้ต่ำก็จริง แต่การหยุดใช้ยานี้ทันทีก็สามารถทำให้ผู้ป่วยมีอาการวิตกกังวลตามมา
  • ห้ามใช้ร่วมกับยาสลบ รวมถึงยาในกลุ่ม MAOIs
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีสภาพการเคลื่อนไหวของร่างกายผิดปกติ หรือผู้ป่วยโรคชักกระตุก
  • ยาอะมิเนปทีนสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายได้ เช่น การทำงานของ หัวใจ หลอดเลือด ตับ ระบบทางเดินอาหาร และสภาพทางจิตใจ ซึ่งผู้ที่ได้รับยาชนิดนี้แล้วเกิดอาการข้างเคียงที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ควรต้องรีบแจ้งแพทย์/กลับมาโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณษปรับแนวทางการรักษา

ในบ้านเราจะไม่พบเห็นการใช้ยาอะมิเนปทีน แต่ในต่างประเทศจะคุ้นเคยกับยาอะมิเนปทีน ภายใต้ชื่อการค้าว่า “Survector”

อะมิเนปทีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

อะมิเนปทีน

ยาอะมิเนปทีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดอาการโรคซึมเศร้าที่มีระดับอาการรุนแรง

อะมิเนปทีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอะมิเนปทีน มีกลไกการออกฤทธิ์ต่อสมอง โดยตัวยาจะยับยั้งการดูดเก็บกลับของสารสื่อประสาทประเภท Dopamine ของเซลล์ประสาท ส่งผลให้ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง/ปรับกระบวนการของสารชีวเคมีต่างๆในสมอง และส่งผลต่อการตอบสนองด้านอารมณ์ของผู้ป่วย การปรับสมดุลทางเคมีนี้เองที่ก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาของยานี้ได้ตามสรรพคุณ

อะมิเนปทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอะมิเนปทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Amineptine ขนาด 100 มิลลิกรัม/เม็ด

อะมิเนปทีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาอะมิเนปทีนมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาก่อนหรือหลังอาหาร 100–200 มิลลิกรัม/วัน โดยเป็นไปตามคำสั่งแพทย์
  • เด็ก: ในทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลด้านขนาดยานี้ และความปลอดภัยการใช้ยานี้ในเด็ก

อนึ่ง:

  • ด้วยยาชนิดนี้อาจทำให้รู้สึกง่วงนอนมาก แพทย์จึงมักแนะนำให้รับประทานยานี้ก่อนนอน
  • ผู้ป่วยอาจต้องรับประทานยานี้ติดต่อกัน 4–6 สัปดาห์จึงจะเห็นประสิทธิผลของการรักษา
  • ผู้ป่วยอาจต้องได้รับยานี้นาน 6 เดือน เมื่อแพทย์พิจารณาเห็นอาการของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าดีขึ้นเป็นลำดับ ก็จะเริ่มปรับลดและสั่งหยุดการใช้ยาในที่สุด
  • หากพบอาการ ตัวเหลือง ตาเหลือง ระหว่างที่ได้รับยานี้ ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที แล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว โดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอะมิเนปทีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะมิเนปทีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีลืมรับประทานยาอะมิเนปทีน ผู้ป่วยสามารถรับประทานยานี้ทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้ข้ามมื้อยาที่ลืมรับประทาน และรับประทานยาที่ขนาดรับประทานปกติ

แต่อย่างไรก็ดี การรับประทานยาอะมิเนปทีน ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ ผู้ป่วยต้องรับประทานยานี้ตรงเวลา และไม่ควรปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง การหยุดรับประทานยานี้ทันที อาจก่อให้เกิดภาวะถอนยา หรือมีอาการข้างเคียงบางอย่างเกิดขึ้น เช่น วิตกกังวล

อะมิเนปทีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอะมิเนปทีนสามารถก่อให้เกิด ผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเต้นผิดปกติ หัวใจเต้นเร็ว กรณีผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจและได้รับยาอะมิเนปทีนอาจทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย มีความคิดอยากทำร้ายตนเอง มีอาการเพ้อ
  • ผลต่อตับ: เช่น เกิดภาวะตับอักเสบ เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น บิลิรูบินในเลือดสูง
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ท้องผูก ปากแห้ง
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะขัด
  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า

มีข้อควรระวังการใช้อะมิเนปทีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอะมิเนปทีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยแพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ นอกจากมีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้หรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามหยุดการใช้ยานี้ทันที ด้วยอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น วิตกกังวลหรือภาวะถอนยาตามมา
  • กรณีพบอาการแพ้ยานี้ เช่น มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว หายใจไม่ออก ตัวบวม ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • หากใช้ยานี้ตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนำแล้วอาการไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยควรรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ก่อนหยุดใช้ยานี้ แพทย์อาจต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 4 สัปดาห์ เพื่อปรับลดขนาดการรับประทาน ทั้งนี้เป็นการลดความเสี่ยงจากภาวะถอนยา
  • แจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ถึงประวัติโรคประจำตัว หรือมียาชนิดอื่นใดที่ใช้อยู่บ้าง ทุกครั้งที่เข้ารับการรักษา
  • ศึกษาเรื่องขนาดการรับประทาน ผลข้างเคียง ข้อห้าม ข้อควรระวังของการใช้ยานี้ ด้วยความเข้าใจ
  • ปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห่ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาอะมิเนปทีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

อะมิเนปทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอะมิเนปทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาอะมิเนปทีนร่วมกับยา Acenocoumarol ด้วยจะเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกง่ายตามมา
  • การใช้ยาอะมิเนปทีนร่วมกับยา Amprenavir อาจทำให้ระดับยาอะมิเนปทีนในเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนอาจเป็นเหตุให้เกิดอาการข้างเคียงจากยาอะมิเนปทีนที่รุนแรง ตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • ห้ามใช้ยาอะมิเนปทีน ร่วมกับยา Barbital เพราะจะส่งผลให้ร่างกายทำลายตัวยาอะมิเนปทีนเพิ่มมากขึ้น จนทำให้ประสิทธิผลการรักษาของยาอะมิเนปทีนด้อยลง
  • ห้ามใช้ยาอะมิเนปทีนร่วมกับยา Bambuterol เพราะอาจจะทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงจากยาอะมิเนปทีนที่รุนแรงตามมา

ควรเก็บรักษาอะมิเนปทีนอย่างไร?

ควรเก็บยายาอะมิเนปทีน ตามเงื่อนไขที่ระบุในเอกสารกำกับยา หรือตามคำแนะนำของแพทย์/เภสัชกร เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น และ ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

อะมิเนปทีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอะมิเนปทีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Survector (เซอร์เวคเตอร์)Servier

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Maneon, Directim, Neolior, Provector, Viaspera

บรรณานุกรม

  1. http://www.diseasesatoz.com/medications/survector.html[2017,Sept30]
  2. https://www.drugbank.ca/drugs/DB04836[2017,Sept30]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Amineptine[2017,Sept30]
  4. http://www.doctoralerts.com/amineptine/[2017,Sept30]
  5. https://www.1mg.com/drugs/survector-100mg-tablet-234897[2017,Sept30]