อะมิคาซิน (Amikacin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ:คือยาอะไร?

อะมิคาซิน (Amikacin) คือ ยาปฏิชีวนะชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในยากลุ่มยา อะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycosides)

ยา อะมิคาซิน มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

อะมิคาซิน

ยาอะมิคาซิน มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • ใช้ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาปฏิชีวนะตัวอื่นๆ(เชื้อดื้อยา)

ยาอะมิคาซิน มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาอะมิคาซิน คือ จะเข้าไปเกาะจับกับสารพันธุกรรมหรือ อาร์เอนเอ(RNA)ของแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียไม่สามารถสังเคราะห์โปรตีนได้ การแบ่งตัวจึงหยุดชะงักและตายในที่สุด

ยาอะมิคาซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบการจัดจำหน่าย ของ ยาอะมิคาซิน:

  • ยาฉีด ขนาด 250 มิลลิ กรัม และ 500 มิลลิกรัม

ยาอะมิคาซินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาอะมิคาซิน ไม่มีรูปแบบของยารับประทาน เพราะยาอะมิคาซินไม่ดูดซึมทางกระเพาะอาหารและลำไส้ จึงต้องใช้ฉีดเข้าหลอดเลือดดำหรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยการรักษาและสั่งจ่ายยาได้อย่างเหมาะสม

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาอะมิคาซิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด และอาการจาก การแพ้ยา เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก หรือ แน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือ เกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่า อยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือไม่ หรือ กำลังให้นมบุตรหรือไม่ เพราะยาหลายตัวสามารถผ่านรก หรือ ผ่านเข้าสู่น้ำนม และเข้าสู่ทารกก่อผลข้างเคียงต่อทารกได้

ยาอะมิคาซิน มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาหรือผลข้างเคียงของยาอะมิคาซิน เช่น

  • ทำให้การทำงานของไตผิดปกติ
  • หูอื้อ
  • เป็นพิษกับระบบประสาทส่วนกลาง เช่น มึนงง วิงเวียน กล้ามเนื้อกระตุก ทรงตัวไม่ได้ และอาจชักได้

มีข้อควรระวัง หรือมีข้อห้าม การใช้ ยาอะมิคาซิน อย่างไร?

ข้อห้ามการใช้ยาอะมิคาซิน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์โดยเด็ดขาด เพราะยาอาจก่ออันตรายต่อทารกในครรภ์และอาจเป็นสาเหตุการแท้งบุตรได้
  • ห้ามใช้ยานี้ในสตรีที่ให้นมบุตรเพราะยาสามารถผ่านทางน้ำนม และก่อผลข้างเคียงดังกล่าวต่อทารกได้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาอะมิคาซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ปฏิกิริยาระหว่างยา อะมิคาซินกับยาอื่น เช่น

  • การใช้ยาอะมิคาซินร่วมกับยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด(NSAIDs) จะทำให้ระดับยาอะมิคาซินอยู่ในกระแสเลือดได้นานและเพิ่มความเป็นพิษต่อไตมากขึ้น ตัวอย่าง ยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด เช่นยา Diclofenac, Ibuprofen, Indomethacin, Mefenamic, Piroxicam
  • การใช้ยา ร่วมกับยาคลายกล้ามเนื้อ จะเกิดความเป็นพิษกับไตและตับได้มากขึ้น ตัวอย่าง ยาคลายกล้ามเนื้อ เช่นยา Succinylcholine Chloride

ควรเก็บรักษา ยาอะมิคาซิน อย่างไร?

การเก็บรักษายาอะมิคาซิน: เช่น

  • เก็บยาในที่ที่พ้นแสงแดด
  • เก็บยาที่อุณหภูมิไม่ควรเกิน 25 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • เก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาอะมิคาซิน มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ชื่อทางการค้า และบริษัทผู้ผลิตขาย ยาอะมิคาซิน เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Akacin (อะคาซิน) Atlantic Lab
Akicin (อะคิซิน) General Drug House
Amikacin GPO (อะมิคาซิน จีพีโอ) GPO
Amikacin Injection Meiji Meiji /Thai Meiji
Anbikin (แอนบิกิน) ANB
Siamik (ไซอะมิค) Siam Bheasach
Tipkin (ทิปกิน) T P Drug
Tybikin (ไทบิกิน) M & H Manufacturing

บรรณานุกรม

  1. https://www.mims.com/thailand/drug/info/amikacin%20gpo?type=full[2021,Oct2]
  2. https://www.mims.com/thailand/drug/info/amikacin?mtype=generic[2021,Oct2]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Antimicrobial[2021,Oct2]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Antibiotic[2021,Oct2]