อะดาลิมูแมบ (Adalimumab)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอะดาลิมูแมบ(Adalimumab) อยู่ในกลุ่มยาTumor Necrosis Factor inhibitors หรือเขียนย่อว่า TNF inhibitors(ยายับยั้งทีเอ็นเอฟ) ทางคลินิกนำยาอะดาลิมูแมบมาใช้บำบัดอาการของกลุ่มโรคภูมิคุ้มกันเล่นงานตนเอง(โรคออโตอิมมูน) เช่น ข้อสันหลังอักเสบยึดติด โรคข้อรูมาตอยด์ โรคโครห์น โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน ลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง เป็นต้น

สำหรับ Tumor Necrosis Factor(TNF) เป็นเซลล์โปรตีนในร่างกายที่มีความเกี่ยวพันกับกระบวนการอักเสบของเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย มีหน้าที่ช่วยยับยั้งการแบ่งเซลล์เนื้องอก(Inhibit tumorigenesis) ยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัส และยังตอบสนองต่อต้านเมื่อร่างกายเกิดการติดเชื้อโรคต่างๆ กลไกการทำงานของ Tumor Necrosis Factor ยังช่วยกระตุ้นเซลล์เม็ดเลือดขาว ที่มีชื่อว่าMacrophage ให้คอยทำหน้าที่กินสิ่งแปลกปลอม เช่น เชื้อโรค และเซลล์มะเร็ง กระบวนการดังกล่าวนี้เองที่ทำให้เกิดสภาพการอักเสบของเนื้อเยื่อ/อวัยวะ ต่างๆในร่างกายตามมา

ทางการแพทย์พบว่า ยาอะดาลิมูแมบ มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ Tumor Necrosis Factor ส่งผลให้บรรเทาอาการจากการอักเสบของผู้ป่วยดีขึ้นเป็นลำดับ รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยานี้เป็นยาฉีด โดยต้องฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ตัวยานี้จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้ประมาณ 64% และต้องใช้เวลานานประมาณ 3–8 วัน เพื่อให้ยาอะดาลิมูแมบมีระดับสูงสุดในกระแสเลือด ร่างกายต้องใช้เวลานานประมาณ 10–20 วัน เพื่อกำจัดยานี้ออกจากร่างกาย นอกจากนั้น ยาอะดาลิมูแมบสามารถผ่านเข้ารก และน้ำนมของมารดา จึงไม่เหมาะที่จะนำมาใช้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร

มีข้อควรระวัง-ข้อห้ามใช้ ของยาอะดาลิมูแมบที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบ ดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาหรือแพ้ส่วนประกอบของยาอะดาลิมูแมบ
  • ห้ามใช้ยาอะดาลิมูแมบกับผู้ที่มีการติดเชื้อ ไวรัสตับอักเสบ บี วัณโรค โรคหวัด โรคไข้หวัดใหญ่ ฯลฯ เพราะจะทำให้อาการของโรคดังกล่าวมีอาการรุนแรงจนส่งผลเสียต่อผู้ป่วยได้มากขึ้น
  • ยาอะดาลิมูแมบสามารถทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย ผู้ที่ได้รับยานี้ต้องหลีกเลี่ยง กิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุที่จะส่งผลให้เลือดออกมาก
  • ห้ามฉีดวัคซีนขณะได้รับยานี้ นอกจากการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน(ภูมิคุ้มกันต้านทานโรค)จะล้มเหลวแล้ว ผู้ป่วยยังอาจติดเชื้อจากวัคซีนดังกล่าวเสียเอง
  • เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)กับยาชนิดอื่นๆกับยาอะดาลิมูแมบ ผู้ป่วยต้องแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทุกครั้งที่มีการใช้ยาชนิดใดๆอยู่ก่อนแล้ว เมื่อเข้ารับการตรวจรักษาทุกครั้ง
  • ผู้ป่วยกลุ่มสูงวัย (65 ปีขึ้นไป) อาจได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยาอะดาลิมูแมบ ได้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยาอะดาลิมูแมบ จะมีโอกาสเกิดโรคติดเชื้อต่างๆได้ง่ายกว่าปกติ อาจสังเกตอาการของร่างกายที่ได้รับเชื้อที่ก่อโรคจากอาการต่างๆต่อไปนี้ เช่น มีไข้ หนาวสั่น เป็นแผลในคอหรือช่องปาก ปวดโพรงไซนัสต่างๆ ไอ เสมหะมาก ปวดขณะปัสสาวะ/ปัสสาวะขัด หรือกรณีเป็นแผลติดเชื้อ แผลจะมีอาการลุกลามมากขึ้น หากพบเหตุการณ์เหล่านี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
  • *สำหรับผู้ป่วยที่อาจมีโอกาสแพ้ยาอะดาลิมูแมบ ให้สังเกตจากอาการ ผื่นคัน มีแผล พุพองเกิดขึ้น หรือเกิดผิวหนังลอก แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงวี๊ด หายใจขัด/หายใจลำบาก ใบหน้า-ปาก-ริมฝีปาก-คอ-ลิ้นเกิดอาการบวม กรณีที่พบว่ามีอาการแพ้ยานี้ต้องรีบส่งตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ความเสี่ยงของการใช้ยาอะดาลิมูแมบอีกประการหนึ่งคือ สามารถทำให้ผู้ป่วยเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง รวมถึงมะเร็งชนิดอื่นๆได้ ถ้าใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทั้งนี้เป็นด้วยฤทธิ์ของยาอะดาลิมูแมบที่ยับยั้งกระบวนการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายนั่นเอง

ขณะที่ใช้ยาอะดาลิมูแมบ แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาตรวจร่างกาย เพื่อดูความก้าวหน้าของการรักษา รวมถึงดูภาวะแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง)ต่างๆ ตลอดจนตรวจสอบว่า มีการติดเชื้อใดๆเกิดขึ้นหรือไม่

ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยการใช้ยาอะดาลิมูแมบเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้จากแพทย์หรือจากเภสัชกรในสถานพยาบาลที่เข้ารับการรักษาได้ตลอดเวลา

อะดาลิมูแมบมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

อะดาลิมูแมบ

ยาอะดาลิมูแมบมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ บำบัดอาการของกลุ่มโรคภูมิคุ้มกันเล่นงานตนเอง(โรคออโตอิมูน) อาทิ

  • ข้อสันหลังอักเสบยึดติด(Ankylosing spondylitis)
  • โรคข้อรูมาตอยด์(Rheumatoid arthritis)
  • โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน(Psoriatic arthritis)
  • โรคโครห์น(Crohn's disease)
  • ลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง(Ulcerative colitis)
  • การอักเสบของยูเวีย(Uveitis)
  • โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนา(Plaque psoriasis)
  • การอักเสบของต่อมเหงื่ออะโปคราย (Hidradenitis suppurativa)

อะดาลิมูแมบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาอะดาลิมูแมบคือ ตัวยาจะเข้ารวมตัวกับสารโปรตีนในร่างกายซึ่งทำงานเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มีชื่อเฉพาะว่า Tumor necrosis factor ส่งผลให้ระบบภูมิต้านทาน/ระบบภูมิคุ้มกัน หรือกระบวนการทำงานเม็ดเลือดขาวที่กระตุ้นการอักเสบ หยุดการทำลายเซลล์ของร่างกาย จึงทำให้อาการป่วยทุเลาลง

อะดาลิมูแมบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอะดาลิมูแมบ มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีดที่มีส่วนประกอบของ Adalimumab ขนาด 40 มิลลิกรัม/0.8 มิลลิลิตร

อะดาลิมูแมบมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาอะดาลิมูแมบมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก. สำหรับรักษาอาการโรคข้อรูมาตอยด์:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังขนาด 40 มิลลิกรัม/สัปดาห์ โดยทั่วไปแพทย์จะให้ยาผู้ป่วยสัปดาห์เว้นสัปดาห์ แต่เมื่อใช้ในลักษณะยาเดี่ยว แพทย์อาจปรับขนาดการใช้ยาเป็น สัปดาห์ละ 1 ครั้ง

ข.สำหรับรักษาโรคข้อสันหลังอักเสบยึดติด หรือโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังขนาด 40 มิลลิกรัม/สัปดาห์ การให้ยาเป็นแบบสัปดาห์เว้นสัปดาห์

ค. สำหรับรักษาโรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนา:

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังขนาด 80 มิลลิกรัม หลังจากได้รับยาเข็มแรก 1 สัปดาห์ แพทย์อาจปรับลดการฉีดยาเป็น 40 มิลลิกรัม/สัปดาห์ และการให้ยาเป็นแบบสัปดาห์เว้นสัปดาห์

ง. สำหรับรักษาโรคโครห์น หรือโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง:

  • ผู้ใหญ่: กรณีมีอาการรุนแรงตั้งแต่ระดับกลางขึ้นไป แพทย์อาจเริ่มฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง 160 มิลลิกรัม โดยแบ่งฉีดเป็น 4 ครั้งใน 1 วัน หรืออาจจะฉีดครั้งละ 40 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง 2 วันติดต่อกัน จากนั้น เว้นเวลา 2 สัปดาห์แล้วฉีดยา 80 มิลลิกรัม อีก 2 สัปดาห์ถัดมาให้ฉีดยาครั้งละ 40 มิลลิกรัม สัปดาห์เว้นสัปดาห์

อนึ่ง:

  • อาจใช้ยานี้ร่วมกับยาอื่นเช่นยา Methotrexate โดยเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์
  • เด็ก: การใช้ยานี้ในเด็ก จะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป โดยขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ชนิดโรค ความรุนแรงโรค อายุ น้ำหนักตัว

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอะดาลิมูแมบ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะดาลิมูแมบอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยา อื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านเข้าน้ำนมหรือรก และผ่านเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมมารับยาควรทำอย่างไร?

เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรมารับยาอะดาลิมูแมบตรงเวลา หากลืมมารับยานี้ ควรรีบแจ้งให้ แพทย์/พยาบาล ทราบโดยเร็ว

อะดาลิมูแมบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอะดาลิมูแมบอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย: เช่น ทำให้มีการติดเชื้อไวรัสต่างๆ ได้ง่ายขึ้น เช่น ไข้หวัดใหญ่
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ทางเดินปัสสาวะอักเสบ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ ปัสสาวะมีเลือดป/ปัสสาวะเป็นเลือด
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เกิดโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน ไซนัสอักเสบ ปอดบวม หลอดลมอักเสบ หอบหืด หายใจลำบาก การทำงานของปอดแย่ลง
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ ตัวสั่น ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ ปวดท้อง อาเจียน ลำไส้อักเสบ กระเพาะอาหารอักเสบ เกิดแผลในช่องปาก มีเลือดออกในทางเดินอาหาร อาหารไม่ย่อย
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูง เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจหยุดเต้น กล้ามเนื้อหัวใจตาย ชีพจรเต้นผิดปกติ หัวใจล้มเหลว เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ หลอดเลือดอักเสบ หัวใจเต้นเร็ว
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีผื่นคัน ลมพิษ Stevens-Johnson syndrome ผมร่วง
  • ผลต่อตับ: เช่น ตับวาย ตับอักเสบ เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูง
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง ข้ออักเสบ กระดูกหักง่าย ปวดเชิงกราน ข้ออักเสบ
  • ผลต่อไต: เช่น ปวดไต เกิดนิ่วในไต กรวยไตอักเสบ
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานผิดปกติ
  • ผลต่อตา: เช่น เกิดต้อกระจก ประสาทตาอักเสบ
  • ผลต่อสภาวะทางจิตใจ: เช่น อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า วิตกกังวล นอนไม่หลับ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น คอเลสเตอรอลในเลือดเพิ่มขึ้น ไขมันในเลือดสูง เกิดภาวะขาดน้ำ ภาวะเลือดเป็นกรด

มีข้อควรระวังการใช้อะดาลิมูแมบอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอะดาลิมูแมบ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่อยู่ในภาวะติดเชื้อต่างๆ
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก นอกจากมีคำสั่งแพทย์
  • แจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทุกครั้งว่า มีการเจ็บป่วยติดเชื้อ หรือได้รับวัคซีนมาหรือไม่
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้ ต้องมารับการตรวจเลือดตามแพทย์นัดทุกครั้ง
  • หากพบอาการป่วยหรือมีการติดเชื้อต่างๆเกิดขึ้น ให้รีบเข้ามาแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยทันที
  • ระหว่างการใช้ยานี้ หากพบอาการ อึดอัด/แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์/พยาบาล/เภสัชกร อย่างเคร่งครัด
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาอะดาลิมูแมบด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

อะดาลิมูแมบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

อะดาลิมูแมบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาอะดาลิมูแมบร่วมกับ ยา Methyprednisolone, Hydrocortisone และZidovudine เพราะอาจทำให้มีการติดเชื้อต่างๆในระดับรุนแรงตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาอะดาลิมูแมบร่วมกับ วัคซีนบีซีจี(BCG) ด้วยมีความเสี่ยงที่จะ ทำให้ผู้ป่วยได้รับยานี้เกิดการติดเชื้อจากการใช้วัคซีนบีซีจี
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาอะดาลิมูแมบร่วมกับยา Clozapine , Leflunomide เพราะจะ สร้างผลกระทบ(ผลข้างเคียง)ต่อการทำงานของไขกระดูก และทำให้ปริมาณเม็ดเลือดขาวในร่างกายต่ำลง

ควรเก็บรักษาอะดาลิมูแมบอย่างไร?

ควรเก็บยาอะดาลิมูแมบ ในช่วงอุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส(Celsius)หรือ ตามเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็ก และสัตว์เลี้ยง

อะดาลิมูแมบมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอะดาลิมูแมบ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Humira (ฮิวมิรา)AbbVie Inc.
Exemptia (เอ็กซ์เซมป์เทีย)Zydus

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Amjevita, Adalimumab-atto , Cyltezo

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Tumor_necrosis_factor_alpha [2017,Nov4]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Adalimumab [2017,Nov4]
  3. https://www.drugs.com/cdi/adalimumab-prefilled-pens-and-syringes.html [2017,Nov4]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/adalimumab/?type=brief&mtype=generic [2017,Nov4]
  5. https://www.drugs.com/dosage/humira.html [2017,Nov4]
  6. https://www.drugs.com/sfx/humira-side-effects.html [2017,Nov4]
  7. https://www.drugs.com/drug-interactions/adalimumab- index.html?filter=3&generic_only=#M [2017,Nov4]
  8. http://www.rxabbvie.com/pdf/humira.pdf [2017,Nov4]
  9. http://exemptia.com/wp-content/uploads/2014/11/Open_PI_Exemptia_PFS_Injection_40mg_8ml_Sale.pdf [2017,Nov4]