อะซีโตเฮกซาไมด์ (Acetohexamide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอะซีโตเฮกซาไมด์(Acetohexamide) เป็นยาในกลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย(Sulfonylurea)รุ่นแรกที่นำมาใช้บำบัดอาการของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Diabetes mellitus type 2) กลุ่มผู้ป่วยที่ต้องใช้ยานี้มักเป็นกลุ่มที่ใช้วิธีการควบคุมอาหารแล้วไม่สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ยาอะซีโตเฮกซาไมด์มีรูปแบบของผลิตภัณฑ์เป็นยารับประทาน หลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร ตัวยานี้จะเข้าสู่กระแสเลือดและเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 90% ยาอะซีโตเฮกซาไมด์จะถูกตับเปลี่ยนไปเป็นสารที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้สูง คือสาร Hydroxyhexamide

กลไกการออกฤทธิ์ของยาอะซีโตเฮกซาไมด์ คือ ตัวยาจะกระตุ้นเซลล์ชื่อ เบต้าเซลล์(Beta-cell,เซลล์สร้างฮอร์โมนอินซูลิน)ของตับอ่อน ให้ทำการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน(Insulin)เข้าสู่กระแสเลือด ส่งผลให้ร่างกายสามารถนำน้ำตาลกลูโคส(Glucose)ในกระแสเลือดไปใช้ได้เป็นปกติ

โดยทั่วไป การรับประทานยาอะซีโตเฮกซาไมด์จะเพียงวันละ 1 ครั้ง ก็เพียงพอต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้แล้ว แต่ก็มีสิ่งสำคัญบางประการที่ผู้ป่วยต้องปฏิบัติในระหว่างการใช้ยานี้ เช่น

  • หลีกเลี่ยงการปรับขนาดรับประทานหรือหยุดรับประทานยานี้เอง โดยมิได้ขอ คำปรึกษาจากแพทย์
  • รับประทานยานี้ตรงตามเวลาในแต่ละวัน เพื่อรักษาระดับความเข้มข้นของยาให้ สม่ำเสมออยู่ตลอดเวลา
  • เรียนรู้สัญญาณ/ลักษณะอาการของน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือน้ำตาลในเลือดสูง เพื่อสามารถทำการปฐมพยาบาลตนเองได้ทันเวลาเมื่อเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดผิดปกติ
  • ตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอทั้งในสถานที่พักของตนเองตามแพทย์ พยาบาล เภสัชกร แนะนำ และมารับการตรวจร่างกายที่สถานพยาบาลตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง
  • หลีกเลี่ยงการดื่มสุราขณะใช้ยารักษาโรคเบาหวาน เพราะแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดเป็นเวลานาน ด้วยยาอะซีโตเฮกซาไมด์อาจกระตุ้นให้ ผิวไวต่อแสงแดดได้ง่าย
  • หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากพบอาการ ตัวบวม อึดอัดหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก เกิดผื่นคันตามร่างกาย กรณีพบอาการเหล่านี้ ให้ตั้งข้อสงสัยว่าแพ้ยานี้ และควรต้องรีบพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • มียาอื่นๆหลายรายการที่ส่งผลกระทบ/ปฏิกิริยาระหว่างยา กับการใช้ยาอะซีโตเฮกซาไมด์ จึงเป็นหน้าที่ของผู้ป่วย ที่ต้องแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบว่าตนเองมีการใช้ยาอะไรอยู่ก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับยาต่อไปนี้ เช่น Isoniazid, Steroid, Phenothiazines, ยารักษาโรคไทรอยด์, ยาเม็ดคุมกำเนิด, ยากันชัก, ยารักษาโรคหืด, ซึ่งยาดังกล่าว สามารถกระตุ้นให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงขึ้น แต่ก็มียาอีกกลุ่มที่ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง อาทิเช่นยา Probenecid, NSAIDs, Aspirin, Salicylates, ยาซัลฟา(Sulfa drug), MAOIs, Beta-blockers

ทั้งนี้ เราอาจจะไม่พบเห็นการใช้ยาอะซีโตเฮกซาไมด์ในประเทศไทย แต่ในต่างประเทศจะมีจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Dimelin, Dymelor, Gamadiabet

อนึ่ง หากต้องการทราบข้อมูลการใช้ยานี้เพิ่มเติม ก็สามารถสอบถามได้จากแพทย์หรือเภสัชกรได้โดยทั่วไป

อะซีโตเฮกซาไมด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

อะซีโตเฮกซาไมด์

ยาอะซีโตเฮกซาไมด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2 (Diabetes mellitus type 2)

อะซีโตเฮกซาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธ์ของยาอะซีโตเฮกซาไมด์คือ ตัวยาจะเข้าไปกระตุ้นกลไกการทำงานของเบต้าเซลล์ในตับอ่อนให้หลั่งฮอร์โมนอินซูลินออกมา ซึ่งฮอร์โมนนี้จะทำให้ร่างกายสามารถใช้น้ำตาลในเลือดได้อย่างมีสมดุลมากขึ้น จากกลไกดังกล่าวจึงทำให้ยานี้มีฤทธิ์รักษาเบาหวานตามสรรพคุณ

อะซีโตเฮกซาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอะซีโตเฮกซาไมด์ มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 250, และ 500 มิลลิกรัม/เม็ด

อะซีโตเฮกซาไมด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาอะซีโตเฮกซาไมด์มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 250 มิลลิกรัม ก่อนอาหารเช้า จากนั้นแพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานยานี้อีก 250 – 500 มิลลิกรัม ในทุกๆ 5 – 7 วันโดยดูจากค่าน้ำตาลในเลือด ซึ่งขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 1.5 กรัม/วัน
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง: กรณีใช้ขนาดรับประทานตั้งแต่ 1 กรัม/วันขึ้นไป ให้แบ่งการรับประทานออกเป็น 2 ครั้ง เช้า – เย็น

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยา อะซีโตเฮกซาไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะซีโตเฮกซาไมด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้นหรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาอะซีโตเฮกซาไมด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาอะซีโตเฮกซาไมด์ตรงเวลา

อะซีโตเฮกซาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอะซีโตเฮกซาไมด์ สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ น้ำหนักตัวเพิ่ม
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องผูกหรือไม่ก็ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เบื่ออาหาร เกิดแผลในคอ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ผิวหนังลอก
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ มีไข้
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะมากกว่าปกติ
  • ผลต่อตับ: เช่น ตัวเหลืองตาเหลือง ปัสสาวะมีสีเข้ม อุจจาระมีสีคล้ายโคลน

มีข้อควรระวังการใช้อะซีโตเฮกซาไมด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอะซีโตเฮกซาไมด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์ หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ผู้ป่วยโรคไต โรคตับ
  • ห้ามนำไปใช้รักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 1
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมยาอื่นๆด้วยตนเองโดยมิได้รับคำสั่งจากแพทย์
  • รับประทานยานี้ตามแพทย์สั่ง ห้ามปรับเปลี่ยนขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ศึกษาการปฐมพยาบาลตนเองเบื้องต้นเมื่อเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูง
  • ควบคุมอาหารที่รับประทานประจำวันที่จะทำให้น้ำตาลในเลือดขึ้นสูง
  • ออกกำลังกายตามความเหมาะสม หรือตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล
  • ตรวจสอบน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอตาม แพทย์ หรือเภสัชกร แนะนำ ว่าอยู่ในภาวะปกติหรือไม่
  • หากพบอาการแพ้ยานี้ ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอะซีโตเฮกซาไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

อะซีโตเฮกซาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอะซีโตเฮกซาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาอะซีโตเฮกซาไมด์ร่วมกับยา Gatifloxacin ด้วยอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงก็ได้
  • ห้ามรับประทานยาอะซีโตเฮกซาไมด์พร้อมกับสุรา ด้วยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณของแอลกอฮอล์ในสุราที่ดื่มเข้าไป
  • การใช้ยาอะซีโตเฮกซาไมด์ร่วมกับยา Ibuprofen อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลใน เลือดต่ำ โดยจะแสดงออกมาด้วยการ ปวดศีรษะ วิงเวียน ง่วงนอน คลื่นไส้ อ่อนเพลีย เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็ว หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาอะซีโตเฮกซาไมด์ร่วมกับยา Prednisolone อาจลดประสิทธิภาพของยา อะซีโตเฮกซาไมด์ โดยทำให้เกิดระดับน้ำตาลในเลือดสูง หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาอะซีโตเฮกซาไมด์อย่างไร?

ควรเก็บยาอะซีโตเฮกซาไมด์ ในช่วงอุณหภูมิ 15 – 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น

อะซีโตเฮกซาไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอะซีโตเฮกซาไมด์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Dimelin (ไดเมลิน)Shionogi Seiyaku
Dymelor (ดายมีเลอร์)Lilly
Gamadiabet (แกมาไดอะเบท)Salvat

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Acetohexamide [2016,Dec31]
  2. http://www.druginfosys.com/drug.aspx?drugcode=1890&type=1#Dosage [2016,Dec31]
  3. https://www.drugbank.ca/drugs/DB00414 [2016,Dec31]
  4. http://www.druginfosys.com/drug.aspx?drugcode=1890&type=1#ContraInd [2016,Dec31]