ออกซิโทซิน (Oxytocin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง
  • ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
  • ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
  • ตกเลือดหลังคลอด (Postpartum hemorrhage)
  • การคลอด การคลอดบุตร (Childbirth)
  • การตั้งครรภ์ (Pregnancy)
  • การแท้งบุตร (Miscarriage)
  • ภาวะสายสะดือย้อย ภาวะสายสะดือโผล่แลบ (Umbilical cord prolapse)
  • บทนำ: คือยาอะไร?

    ยาออกซิโทซิน (Oxytocin) คือ สารประเภทฮอร์โมนที่พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่ผลิตจากสมองส่วนไฮโปธาลามัส มีความสำคัญสำหรับมนุษย์โดยจัดเป็นยาฮอร์โมนที่ทำให้เกิดการเร่งคลอดในหญิงตั้งครรภ์ ทำให้กระบวนการคลอดเป็นไปได้ง่าย อีกทั้งยังกระตุ้นให้เกิดการสร้างน้ำนมของมารดาอีกด้วย

    ทางแพทย์จะใช้ออกซิโทซินสังเคราะห์กระตุ้นให้เกิดการคลอดในหญิงตั้งครรภ์ รวมถึงใช้รักษาภาวะตกเลือดหลังการคลอดบุตร สำหรับงานด้านปศุสัตว์จะใช้ออกซิโทซินกระตุ้นให้สัตว์สร้างน้ำนมเพื่อใช้เลี้ยงตัวอ่อน ในมนุษย์จะใช้ออกซิโทซินชนิดสเปรย์พ่นจมูกช่วยกระตุ้นให้มารดามีน้ำนมเช่นกัน

    การศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยาเมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย) ของออกซิโทซินเมื่อเข้าสู่ร่างกายพบว่า ปริมาณออกซิโทซินประมาณ 30% จะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนในกระแสเลือด จากนั้นจะมีการลำเลียงยาไปที่ตับ และเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมี ร่างกายจะใช้เวลาประมาณ 1 - 6 นาทีเท่านั้นเพื่อกำจัดออกซิโทซินประมาณ 50% ออกจากกระแสเลือดและผ่านทิ้งไปกับน้ำดีและปัสสาวะ

    องค์การอนามัยโลกระบุให้ออกซิโทซินเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานสำหรับระดับชุมชนและสถานพยาบาลต่างๆควรต้องมีสำรองไว้ใช้ คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุออกซิโทซินลงในบัญชียาหลักแห่งชาติและมีรูปแบบการใช้เป็นลักษณะของยาฉีด ซึ่งจะพบเห็นในสถานพยาบาลเท่านั้น ปริมาณการใช้กับผู้ป่วยจะขึ้นกับคำสั่งแพทย์โดยพิจารณาถึงความปลอด ภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

    ออกซิโทซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

    ออกซิโทซิน

    ยาออกซิโทซินมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:

    • ช่วยกระตุ้นและเร่งการคลอดบุตร
    • รักษาภาวะตกเลือดหลังคลอด
    • ช่วยกระตุ้นให้มารดาหลั่งน้ำนมในการเลี้ยงดูบุตร

    ออกซิโทซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

    ยาออกซิโทซินจะกระตุ้นให้มดลูกเกิดการบีบตัว ทำให้การคลอดเป็นไปได้ง่ายขึ้น และยังกระตุ้นการทำงานของหัวนมจึงช่วยให้เกิดการหลั่งน้ำนมเพิ่มขึ้น

    ออกซิโทซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

    ยาออกซิโทซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

    • ยาฉีดขนาด 10 ยูนิต/มิลลิ ลิตร

    ออกซิโทซินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

    ในบทความนี้ขอยกตัวอย่างขนาดการบริหารยา/การใช้ยาออกซิโทซินเฉพาะในการเร่งการคลอด, และในการรักษาภาวะตกเลือดหลังคลอด, ส่วนการกระตุ้นให้มารดาหลั่งน้ำนมในการเลี้ยงดูบุตรการใช้ยาจะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีไป

    ก.สำหรับเร่งการคลอด: เช่น

    • ผู้ใหญ่: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำ 0.5 - 1 มิลลิยูนิต/ชั่วโมงในช่วง 30 - 60 นาทีแรก จากนั้นค่อยๆเพิ่มขนาดเป็น 1 - 2 มิลลิยูนิตจนกระทั่งมดลูกเริ่มบีบตัว

    ข.สำหรับรักษาภาวะตกเลือดหลังการคลอด: เช่น

    • ผู้ใหญ่: ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 10 ยูนิตหลังการคลอด หรือเจือออกซิโทซิน 10 - 40 ยูนิตในสารละลายที่ปราศจากเชื้อ 1,000 มิลลิลิตรแล้วหยดเข้าทางหลอดเลือดดำของผู้ป่วย โดยใช้อัตราที่แพทย์กำหนดเพื่อทำให้หยุดภาวะเลือดออกหลังการคลอด

    *****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

    เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

    เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาออกซิโทซิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น

    • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
    • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาออกซิโทซินอาจส่งผลให้อาการ ของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
    • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

    ออกซิโทซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

    ยาออกซิโทซินสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ได้ทั้งทารกในครรภ์และตัวมารดา เช่น

    ก. สำหรับทารกในครรภ์: อาจเกิด

    • ดีซ่าน
    • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
    • หัวใจเต้นช้า
    • มีอาการชัก
    • อาจมีเลือดออกที่จอตา

    ข. สำหรับมารดา: อาจทำให้

    • ความดันโลหิตต่ำ
    • หัวใจเต้นเร็ว
    • ระคายเคืองในโพรงจมูก
    • เลือดออกที่มดลูก
    • คลื่นไส้-อาเจียน

    *อนึ่ง สำหรับผู้ที่ได้รับยาออกซิโทซินเกินขนาด อาจพบอาการมดลูกหดเกร็งอย่างมากจนรบกวนปริมาณเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงมดลูก และอาจเกิดการปริแตกของมดลูก

    มีข้อควรระวังการใช้ออกซิโทซินอย่างไร?

    มีข้อควรระวังการใช้ยาออกซิโทซิน เช่น

    • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
    • ห้ามใช้ยานี้เมื่อทารกในครรภ์อยู่ตำแหน่งที่ผิดท่าและไม่สามารถคลอดได้ตามธรรมชาติ
    • การใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ต้องเป็นไปตามคำสั่งจากแพทย์ เท่านั้น
    • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีที่เคยคลอดบุตรโดยทำการผ่าท้องคลอดบุตร
    • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก ผู้ที่เป็นเริมบริเวณช่องคลอด (เริมที่อวัยวะเพศ) และผู้ที่มีภาวะสายสะดือย้อย
    • ห้ามใช้ยานี้เป็นช่วงเวลานานด้วยจะทำให้เกิดภาวะเกลือโซเดียมในเลือดต่ำ
    • ระหว่างการให้ยานี้กับมารดาต้องคอยตรวจสอบอัตราการเต้นของหัวใจทารกและของมารดาอย่างสม่ำเสมอ
    • ระวังการใช้ยานี้กับมารดาที่มีอายุมากกว่า 35 ปีและมารดาที่ป่วยด้วยโรคหัวใจ/โรคหลอดเลือดหัวใจ
    • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
    • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
    • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

    ***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาออกซิโทซินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

    ออกซิโทซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

    ยาออกซิโทซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

    • การใช้ยาออกซิโทซินร่วมกับยาเจลที่ใช้ทาเพื่อเร่งคลอด เช่นยา Dinoprostone จะเกิดความเสี่ยงให้มดลูกมีการบีบตัวมากขึ้นจนอาจเกิดภาวะมดลูกปริแตก หากต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ให้เหมาะกับผู้ป่วยเป็นกรณีไป
    • การใช้ยาออกซิโทซิน ร่วมกับยา Phenylephrine, Pseudoephedrine จะกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูงขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
    • การใช้ยาออกซิโทซิน ร่วมกับ ยาคลายกล้ามเนื้อบางตัว เช่นยา Rocuronium อาจทำให้เกิดภาวะกดการหายใจของผู้ป่วย รวมถึงอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง กรณีต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมกับคนไข้เป็นกรณีๆไป
    • การใช้ยาออกซิโทซิน ร่วมกับยา Misoprostol จะทำให้ฤทธิ์ของยาออกซิโทซินเพิ่มมากขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีไป

    ควรเก็บรักษาออกซิโทซินอย่างไร?

    ควรเก็บยาออกซิโทซิน:

    • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส (Celsius)
    • ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งตู้เย็น
    • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และ ความชื้น
    • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
    • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

    ออกซิโทซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

    ยาออกซิโทซิน มียาชื่อการค้าอื่นๆ และบริษัทผู้ผลิต เช่น

    ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
    Octocin (ออกโทซิน) L. B. S.
    Oxytocin Synth-Richter (ออกซิโทซิน ซินท์-ริชเตอร์) Gedeon Richter
    Syntocinon (ซินโทซินอน) Novartis

    บรรณานุกรม

    1. https://en.wikipedia.org/wiki/Oxytocin [2021,June5]
    2. https://www.mims.com/thailand/drug/info/oxytocin%20synth-richter [2021,June5]
    3. https://www.mims.com/malaysia/drug/info/oxytocin?mtype=generic [2021,June5]
    4. https://www.drugs.com/mtm/oxytocin.html [2021,June5]
    5. https://www.drugs.com/dosage/oxytocin.html#Usual_Adult_Dose_for_Labor_Induction [2021,June5]
    6. https://www.drugs.com/drug-interactions/oxytocin.html [2021,June5]