ออกกำลังกายเข้มข้น หนทางห่างโรคสะเก็ดเงิน (ตอนที่ 2)

จากข้อมูลสถิติของมูลนิธิสะเก็ดเงินแห่งชาติ (National Psoriasis Foundation) ประเทศสหรัฐอเมริกา มีชาวอเมริกัน 7.5 ล้านคนที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน โดยผู้หญิงและผู้ชายมีสิทธิเป็นได้เท่าเทียมกัน ดัชนีมวลกาย (Body mass index : BMI) ที่สูง การดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคสะเก็ดเงิน

นายแพทย์ Abrar Qureshi ผู้ช่วยศาสตราจารย์ของโรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ด ได้ทำการวิจัยและพบว่า ความเข้มข้นของการออกกำลังกายเป็นปัจจัยสำคัญต่อโรคสะเก็ดเงิน โดยการวิ่งนาน 105 นาที ที่อัตรา 6 ไมล์ (9.7 กิโลเมตร) ต่อชั่วโมงต่อสัปดาห์ สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคสะเก็ดเงินได้ร้อยละ 25–30

นอกจากนี้ยังพบว่า การออกกำลังกายด้วยการวิ่งเร็ว (Running) การเต้นแอโรบิค หรือการออกกำลังกายแบบ เสริมสร้างกล้ามเนื้อโดยอาศัยน้ำหนักตัวเป็นแรงต้าน เช่น การวิดพื้น การเล่นกล้ามท้อง (Calisthenic Exercise) ล้วนแล้วแต่สัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงในการเป็นโรคสะเก็ดเงิน ในขณะที่การออกกำลังกายแบบวิ่งเหยาะ (Jogging) เล่นเทนนิส ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน ไม่ค่อยมีความสัมพันธ์เท่าใดนัก

อาการของโรคสะเก็ดเงินมีผลต่อคุณภาพชีวิตเช่นเดียวกับการเป็นโรคเรื้อรังอื่น เช่น โรคซึมเศร้า (Depression) ความดันโลหิตสูง (Hypertension) โรคหัวใจวาย (Congestive heart failure) หรือโรคเบาหวานชนิด 2 (Type 2 diabetes) ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงและบริเวณที่เป็น

อาการคันและอาการปวดอาจกระทบต่อชีวิตประจำวัน เช่น การเดินและการนอนหลับ ผื่นที่มือและเท้าอาจมีผลกระทบต่อการทำงานบางอาชีพ ผื่นที่หนังศีรษะกลายเป็นแผ่นๆ ทำให้ดูเหมือนว่ามีรังแค คนที่เป็นโรคสะเก็ดเงินอาจมีความรู้สึกไม่มั่นใจในสภาพทางกายของตัวเอง กลัวว่าสังคมไม่ยอมรับ ทำให้เกิดอาการหดหู่ ซึมเศร้า และพยายามแยกตัวเองจากสังคม

ในปี พ.ศ.2551 มูลนิธิอเมริกันโรคสะเก็ดเงินแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจชาวอเมริกันผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงินจำนวน 426 ราย พบว่าร้อยละ 71 กล่าวว่า โรคนี้ก่อให้เกิดปัญหาในชีวิตประจำวัน ร้อยละ 58 รู้สึกอึดอัดใจ และมากกว่าร้อยละ 33 พยายามหลีกเลี่ยงการเข้าสังคม

ความรุนแรงของโรคสะเก็ดเงินสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับ คือ ระดับอ่อน (มีผลกระทบต่อร่างกายน้อยกว่าร้อยละ 3) ระดับกลาง (มีผลกระทบต่อร่างกายประมาณร้อยละ 3–10) และระดับรุนแรง โดยทั่วไป มีการใช้ดัชนีวัดความรุนแรงของโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis Area Severity Index : PASI) เป็นเครืองมือวัด

การวัดความรุนแรงนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายตัว เช่น ขนาดบริเวณผิวหนังที่เป็น ระดับความแดง ความหนา การตอบสนองต่อการรักษา และผลกระทบของโรคที่มีต่อผู้ป่วย ส่วนการวินิจฉัยโรค มักดูจากอาการที่ปรากฏทางผิวหนัง ไม่มีการทดสอบเลือดหรือมีขั้นตอนการทดสอบวินิจฉัยโดยเฉพาะ บางครั้งการตรวจชิ้นเนื้อที่ผิวหนัง (Skin biopsy) หรือการขูดผิว อาจจำเป็น เพื่อใช้ยืนยันการวินิจฉัยโรค โรคสะเก็ดเงินมักเกิดในผู้ที่มีผิวแห้งมากกว่าผู้ที่มีผิวมัน และมักเป็นหลังจากการมีแผลบาดเจ็บที่ผิวหนัง เพื่อป้องกันผิวแห้งและลดอาการสะเก็ดเงิน ไม่ควรขัดถูตัวอย่างแรง เพราะนอกจากจะทำลายผิวให้เป็นขุยแล้วยังทำลายไขมันที่ใต้ผิวหนังอีกด้วย

แหล่งข้อมูล:

  1. Vigorous Exercise Might Protect Against Psoriasis. http://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/psoriasis/news/20120524/vigorous-exercise-might-protect-against-psoriasis [2012, June 4].
  2. Psoriasis. http://en.wikipedia.org/wiki/Psoriasis [2012, June 4].