ออกกำลังกายเข้มข้น หนทางห่างโรคสะเก็ดเงิน (ตอนที่ 1)

งานวิจัยสุขภาพของพยาบาล (Nurses’ Health Study) ชิ้นใหม่พบว่า ผู้หญิงที่มีการออกกำลังกายอย่างเข้มข้น (Vigorous) สามารถลดความเสี่ยงในการเป็นโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) ได้ ในขณะที่งานวิจัยก่อนหน้านี้กล่าวว่าการออกกำลังกายสามารถป้องกันโรคผิวหนังเรื้อรังซึ่งมักมีอาการอักเสบตกสะเก็ดในผู้ชายได้

งานวิจัยนี้ได้ศึกษาจากนางพยาบาลในสหรัฐอเมริกา เกือบ 87,000 คน ตลอดระยะเวลา 14 ปี ซึ่งก่อนเริ่มงานวิจัยได้มีการตรวจแล้วว่าไม่มีนางพยาบาลคนใดเป็นโรคสะเก็ดเงิน ตลอดระยะเวลานี้ นางพยาบาลได้ตอบแบบสอบถามอย่างละเอียดถึง 3 ครั้ง เกี่ยวกับการออกกำลังกาย

ในช่วงเวลาดังกล่าว ได้ให้นางพยาบาลรายงานด้วยว่ามีการตรวจพบโรคสะเก็ดเงินหรือไม่ มีนางพยาบาลจำนวน 1,026 คน ที่รายงานว่าตรวจพบโรคสะเก็ดเงิน จึงได้ทำการศึกษาต่อถึงข้อมูลการออกกำลังกายที่เข้มข้นของนางพยาบาลเหล่านั้น

โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคภูมิแพ้ตนเอง (Autoimmune disease) ที่แสดงออกทางผิวหนัง เกิดจากความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน กระตุ้นให้เซลล์ผิวหนังมีการแบ่งตัวเร็วกว่าปกติ ทำให้ผิวหนังหนาตัวและเป็นขุย โรคสะเก็ดเงินไม่เป็นโรคติดต่อ แต่โรคนี้ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ และโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)

โรคสะเก็ดเงินอาจปรากฏได้หลายรูปแบบ เช่น แบบจุดแบน (Plaque) แบบตุ่มหนอง (Pustular) แบบหยดน้ำ (Guttate) เป็นต้น แต่โดยทั่วไปแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ แบบไม่มีตุ่มหนอง (Nonpustular) และแบบเป็นตุ่มหนอง (Pustular)

สะเก็ดเงินแบบไม่มีตุ่มหนองที่เป็นสะเก็ดเงินธรรมดา เรียกว่า Psoriasis vulgaris และพบมากที่สุด. ประมาณร้อยละ 80–90 โดยที่ผิวหนังบริเวณที่ตกสะเก็ดเป็นนูนขึ้น หรือผิวหนังอักเสบ จะเป็นสีขาวเงิน (Silverly white)

ส่วนสะเก็ดเงินแบบไม่มีตุ่มหนองชนิดผิวหนังแดงผิดปกติ เรียกว่า Psoriatic erythroderma นั้น ผิวหนังส่วนใหญ่จะมีการหลุดลอกเป็นแผ่น อาจมีอาการคัน บวม และปวดร่วมด้วย สะเก็ดเงินชนิดหลังนี้อาจทำให้เสียชีวิตได้เพราะมีการอักเสบอย่างมากซึ่งขัดขวางการทำงานในการควบคุมอุณหภูมิของร่างกายและการทำหน้าที่ปกป้องของผิวหนัง

สะเก็ดเงินแบบมีตุ่มหนองนั้น ผิวหนังบริเวณที่เป็นตุ่มหนอง จะแดงและนุ่ม อาจเกิดเฉพาะที่ โดยเฉพาะบริเวณมือและเท้า (Palmoplantar pustulosis) หรือเป็นปื้นทั่วร่างกาย

สำหรับสะเก็ดเงินแบบหยดน้ำ (Guttate psoriasis) ซึ่งมีลักษณะรอยโรคเป็นรูปหยดน้ำตาเล็กๆ จำนวนมาก ตกสะเก็ดเป็นสีแดงหรือสีชมพู ส่วนใหญ่เกิดบริเวณพื้นผิวกว้าง เช่น ลำตัว แต่อาจเกิดตามแขน ขา และหนังศีรษะ

ส่วนสะเก็ดเงินที่เล็บ (Nail psoriasis) ซึ่งทำให้เล็บมือและเล็บเท้ามีการเปลี่ยนรูปร่างไป รวมถึงการที่เล็บไม่มีสี เล็บเป็นรอยบุ๋ม มีเส้นตัดขวางเล็บ ผิวหนังใต้เล็บหนา เล็บหลุด (Onycholysis) และเล็บแตก

โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน (Psoriatic arthritis) เกิดได้ตามข้อต่อ แต่ที่พบบ่อยคือ บริเวณข้อนิ้วมือและนิ้วเท้า ทำให้นิ้วมือนิ้วเท้าอักเสบบวมเหมือนไส้กรอก (Dactylitis) โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินอาจเกิดบริเวณสะโพก เข่า และกระดูกสันหลัง (Spondylitis) โดยประมาณร้อยละ 10–15 ของคนที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน จะเป็นโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน

แหล่งข้อมูล:

  1. Vigorous Exercise Might Protect Against Psoriasis. http://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/psoriasis/news/20120524/vigorous-exercise-might-protect-against-psoriasis [2012, June 3].
  2. Psoriasis. http://en.wikipedia.org/wiki/Psoriasis [2012, June 3].