อย่าตกใจ ไข้หวัดหมู (ตอนที่ 6)

อนุสนธิข่าวจากวันก่อน กระทรวงสาธารณสุขชี้แจงว่า หากประชาชนป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ซึ่งอาการของโรคนี้ คือ มีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามร่างกาย ก็ขอให้นอนพักผ่อนมากๆ และสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย โดยอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นเอง ส่วนการป้องกันโรคทั่วไปขอให้ยึดหลัก “กินร้อน ใช้ช้อนกลางล้างมือบ่อย” หลังสัมผัสสิ่งของต่างๆ เนื่องจากเชื้อจะติดอยู่ที่มือ [เป็นส่วนใหญ่]

หน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลกยังกังวลกับเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 ว่าสามารถกลายพันธุ์และทวีความรุนแรงขึ้นได้ ในการรับมือกับไวรัสดังกล่าว องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) และรัฐบาลสหรัฐเร่งการรณรงค์วัคซีนขนานใหญ่เมื่อปลาย พ.ศ. 2552 ซึ่งนับว่าเป็นครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การค้นพบวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ เมื่อปี พ.ศ. 2498 เป็นต้นมา

ดังนั้นหน่วยงานรัฐบาล จะกระตุ้นให้ประชาคม ธุรกิจและแต่ละบุคคล ในการเตรียมการสำหรับความเป็นไปได้ที่อาจมีการปิดโรงเรียน หรือปิดที่ทำงาน กรณี นักเรียนนักศึกษา หรือลูกจ้างจำนวนมากต้องเจ็บป่วยด้วยเชื้อ A H1N1 และมีผลกระทบอย่างอื่นของการระบาดในวงกว้างที่สามารถเป็นไปได้

การระบาดทั่วของโรคไข้หวัดหมู (Swine flu) นั้น มักจะถึงจุดสูงสุดราวกลางฤดูหนาวในซีกโลกเหนือ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา (U.S. Centers for Disease Control and Prevention : CDC) ได้แนะนำว่า ควรจะป้องกันด้วยการให้วัคซีนแก่กลุ่มที่ต้องการเป็นพิเศษ ในสหราชอาณาจักร สำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ (National Healthcare Service : NHS) ก็ได้ให้คำแนะนำในลักษณะเดียวกัน

บุคคลดังกล่าวได้แก่ สตรีมีครรภ์ ทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือน เด็กซึ่งมีอายุระหว่าง 6 เดือน ถึง 4 ปี ผู้มีอายุมากกว่า 4 ปีซึ่งเสี่ยงต่อโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล สมาชิกในครอบครัวซึ่งมีภูมิคุ้มกัน บกพร่อง หรือไม่ค่อยสมบูรณ์นัก และเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข [โดยเฉพาะผู้ที่ต้องปฏิบัติงานเกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่]

ในช่วงแรกของการระบาด ได้มีการพยากรณ์ว่า ต้องมีการฉีดวัคซีน 2 ครั้ง แต่ผลจากกรณีในการรักษาแสดงให้เห็นว่า วัคซีนของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 นั้น สามารถป้องกันได้ในผู้ใหญ่ด้วยวัคซีนเพียงโด้ส (Dose) เดียว แทนที่จะเป็น 2 โด้ส เพราะฉะนั้น ปริมาณวัคซีนที่มีจำกัด จึงสามารถขยายผู้รับการฉีดวัคซีนเป็น 2 เท่าจากที่เคยพยากรณ์ไว้

สำหรับเด็กซึ่งมีอายุต่ำกว่า 10 ปี ได้มีการแนะนำให้ฉีดวัคซีน 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 21 วัน อย่างไรก็ตาม ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลยังต้องการวัคซีนแยกต่างหากจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ถึงแม้ว่าอาการของไข้หวัดใหญ่ส่วนใหญ่จะไม่รุนแรงนักและกินเวลาเพียงไม่กี่วันโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษา [ในโรงพยาบาล]

เมโยคลินิก (Mayo Clinic) ซึ่งเป็นสถานพยาบาลในสหรัฐอเมริกาที่มีชื่อเสียงโด่งดังในการวิจัยและรักษาโรคซับซ้อนแก่ผู้ป่วยจากทั่วทุกมุมโลก ได้แนะนำมาตรการส่วนบุคคลเพื่อป้องกันการติดไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้กับการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้ อันได้แก่ การฉีดวัคซีน การล้างมือบ่อยๆ และทั่วถึง การรับประทานอาหารซึ่งมีผลไม้และผักสด ธัญพืชเต็มเมล็ด (ไม่ผ่านการขัดสี) อาหารโปรตีนในปริมาณที่เหมาะสม และอาหารไขมันต่ำ

นอกจากนี้ยังแนะนำให้มีการนอนหลับอย่างเพียงพอ การออกกำลังกายเป็นกิจวัตร และการหลีกเลี่ยงฝูงชนแออัด [เช่น ตามศูนย์การค้า] การสูบบุหรี่ก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งทำให้อาการของโรครุนแรงยิ่งขึ้น ในนครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ผู้เข้ารับการรักษาเพราะติดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ส่วนใหญ่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นนอกจากเป็นผู้สูบบุหรี่ [เป็นประจำ]

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ. ชี้หวัดใหญ่ 2009 ในเม็กซิโก ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ ยันคนไทย 50% มีภูมิคุ้มกัน http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000010708 [2012, February 1].
  2. การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 http://th.wikipedia.org/wiki/การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่_2009 [2012, February 1].