อยู่อย่างไรให้เป็นสุขกับโรคลมชัก : ความพอเพียง...พึงพอใจในการรักษา

โรคลมชักมีขั้นตอนในการวินิจฉัย การรักษาที่ต้องอาศัยเครื่องมือทางการแพทย์ เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองและการตรวจแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง การรักษามีความจำเป็นต้องใช้ยากันชักรุ่นใหม่ ซึ่งราคาแพง ในผู้ป่วยบางรายบางส่วนต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งก็มีค่าใช้จ่ายสูงและที่สำคัญ คือ ต้องอาศัยการดูแลจากทีมแพทย์ พยาบาล เภสัชกรที่มีความชำนาญในการให้การรักษา ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทยจึงเกิดภาวะความไม่เพียงพอของทรัพยากรต่างๆที่ใช้ในการักษา เพราะขาดงบประมาณ รวมทั้งระบบประกันสุขภาพต่างๆที่ยังมีปัญหาอยู่บ้างในปัจจุบัน

อีกประการหนึ่งที่สำคัญ คือ ข้อจำกัดทางความรู้และทัศนคติของประชาชนต่อผู้ป่วยโรคลมชัก ซึ่งยังขาดอยู่มาก จากหลายๆตัวอย่างข้างต้น มีอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน คือ ความคาดหวัง ความพอเพียงของผู้ป่วยและญาติ

ผู้ป่วยบางรายมีอาการไม่บ่อย ไม่รุนแรง(ตามความคิดของหมอ) แต่มีความกังวลมากกว่าผู้ป่วยที่มีอาการมากกว่า ดังนั้นความคาดหวังของผู้ป่วยและญาติ มีผลต่อการักษาดังตัวอย่าง

ผู้ป่วยชายอายุ 30 ปี มีอาการชักเฉพาะที่ขาดสติ และแบบชักเกร็งกระตุกทั้งตัวมาตั้งแต่อายุ 3 ขวบ มีอาการวันละ 10 ครั้ง รับการรักษามาตลอด ปัจจุบันอาการชักลดลงเหลือวันละ 5 ครั้ง ผู้ป่วยและพ่อแม่มีความสุขมากขึ้น ไม่ค่อยกังวล ถึงแม้ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

อีกครอบครัวหนึ่งผู้ป่วยอายุ 15 ปี มีอาการชักเฉพาะที่ขาดสติ ช่วงแรกก่อนรับการรักษามีอาการ วันละ 1 ครั้ง เมื่อรับการรักษาอาการดีขึ้นมากเหลือเพียง 2-3 เดือน มีอาการเพียง 1 ครั้ง แต่ผู้ป่วยและครอบครัวมีความกังวลอย่างมากว่าลูกจะหายไหม จะชักอีกหรือเปล่า เรียนหนังสือได้หรือไม่

ท่านจะเห็นได้ว่าความไม่สมดุลของ 2 ตัวอย่างข้างต้นก็ก่อให้เกิดปัญหาในการรักษา ความกังวลใจมากเกินไปก่อให้เกิดความเครียด ส่งผลให้เป็นตัวกระตุ้นและก่อให้เกิดการชักได้

ผมจะแนะนำผู้ป่วยทุกรายว่าเวลาเรามีปัญหาอะไร ให้มองในทางบวกไว้เสมอ มีผู้ป่วยจำนวนมากที่มีอาการรุนแรงมากกว่าเรา แล้วเราจะมีความสุขมากขึ้น กำลังใจมีมากขึ้น และถ้ายังรักษาไม่หายวันนี้ วันหน้าก็มีการรักษาใหม่ที่ทำให้หายได้ อย่าเพิ่งหมดหวังหมดกำลังใจครับ ต้องเชื่อว่าวันพรุ่งนี้ยังมีหวังครับ