อยู่อย่างไรให้เป็นสุขกับโรคลมชัก : แกล้งชัก...จนตาย

เมื่อผมพูดถึงเรื่องนี้ทีไร ผมรู้สึกเศร้าหดหู่ทุกครั้ง เพราะคิดเสมอว่าผมหรือเปล่าที่เป็นต้นเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ท่านลองคิดตามเรื่องนี้ดูครับว่าเริ่มต้นอย่างไร

น้องผู้หญิงเป็นผู้ป่วยโรคลมชักอายุประมาณ 25 ปี แต่งงานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ฐานะของผู้ป่วยค่อนข้างดี การแต่งงานของทั้ง 2 นั้นไม่ค่อยราบรื่นเท่าที่ควร ญาติฝ่ายหญิงไม่ค่อยชอบสามี (ไม่ทราบว่าสาเหตุใด)

หลังจากแต่งงานได้ไม่นาน ชีวิตครอบครัวก็เริ่มมีปัญหาจากน้องที่เริ่มมีนิสัยสนุกสนาน กลายเป็นคนเงียบขรึม เริ่มมีอาการวิตกกังวล หงุดหงิดง่าย สุดท้ายก็มีอาการชักเกร็งกระตุก แต่ไม่หมดสติเป็นๆหายๆวันละหลายๆครั้ง โดยเฉพาะเมื่อสามีอยู่ด้วย ไม่ยอมพูดกับใคร ญาติพาไปรักษามาหลายโรงพยาบาลอาการก็ไม่ดีขึ้น

จากประวัติและอาการข้างต้น ผมก็สงสัยว่าน่าจะเป็นภาวะชักที่ไม่ใช่ชักจริง หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า non-epileptic seizure แพทย์บางท่านเรียกว่า pseudo- seizure หรือ psychogenic seizure ซึ่งสรุปแล้วก็คือว่า ผู้ป่วยแสดงออกมาคล้ายกับอาการชัก แต่ไม่ใช่ชักจริงๆ เกิดจากความผิดปกติทางสุขภาพจิต ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยที่ไม่ได้ตั้งใจจะทำให้เกิดอาการดังกล่าว ดังนั้นแพทย์จึงไม่อยากใช่คำว่าแกล้งชัก (ส่วนที่ผมใช้เป็นหัวเรื่องนั้นเพื่อให้น่าสนใจน่าติดตาม)

ผมจึงปรึกษาจิตแพทย์ให้มาร่วมรักษาด้วย แต่ตลอดเวลาที่นอนรักษาในโรงพยาบาลประมาณ 1 สัปดาห์ อาการไม่ดีขึ้นเลย ผู้ป่วยไม่ยอมพูดกับใคร ยกเว้นสามีคนเดียว แต่สามีก็ถูกกีดกันจากญาติของผู้ป่วยไม่ให้เข้าเยี่ยม ผมเป็นหมอเจ้าของไข้ ก็ไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร สุดท้ายคุณพ่อของผู้ป่วยถามผมว่า ”คุณหมอลูกผมเป็นอะไรกันแน่ หมอรักษามา 1 สัปดาห์ไม่ดีขึ้นเลย” ผมจะตอบว่าอย่างไรดีครับ ผมคิดอยู่นานมาก สุดท้ายก็บอกกับญาติผู้ป่วยไปว่า ”ลูกสาวของคุณเป็นความผิดปกติทางสุขภาพจิต ก่อให้เกิดภาวะจิตใต้สำนึกให้แสดงออกมาคล้ายการชัก” ญาติผู้ป่วยถามต่อ “คุณหมอว่าลูกผมเป็นโรคจิตใช่หรือเปล่า” ยุ่งแล้วครับท่านผู้อ่าน ช่วยผมด้วยจะตอบอย่างไรดี ผมก็ต้องไตร่ตรองอย่างรอบคอบแล้วตอบไปว่า “จะว่าใช่ก็ใช่ครับ แต่ไม่ได้เป็นบ้านะครับ” คุณพ่อถามต่อ “ถ้าลูกผมเป็นโรคจิต ทำไมผมพาไปรักษากับจิตแพทย์มาตั้งหลายคน รวมทั้งโรงพยาบาลจิตเวชก็ไป ไม่เห็นจะดีขึ้นเลยจึงพามาหาหมอ แล้วหมอก็บอกว่าเป็นโรคจิต ผมว่าไม่ถูกนะครับ ถ้าอย่างนั้นผมขอพาลูกผมกลับไปรักษาที่ใหม่ดีกว่า”

ผมไม่สามารถให้คำอธิบายใดๆได้มากกว่านี้ ไม่สามารถทักท้วงให้คุณพ่ออนุญาตให้ผมและจิตแพทย์รักษาต่อได้ คุณพ่อพาลูกสาวกลับในวันรุ่งขึ้น ผมเศร้า และเซ็งไปหลายวัน

เรื่องยังไม่จบครับ หลังจากนั้นประมาณ 2 สัปดาห์ ผมไปดูผู้ป่วยแผนกฉุกเฉิน พบผู้ป่วยมาโรงพยาบาลอีก แต่คราวนี้แย่ครับไม่รู้สึกตัว ไข้สูง ปัสสาวะไม่ออก ปรากฏว่าผู้ป่วยมีปัญหาใหม่เกิดขึ้นเป็นภาวะกล้ามเนื้อแตกสลายทั้งตัวอย่างรุนแรง ร่วมกับภาวะไตวายเฉียบพลัน

เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นถึงเป็นแบบนี้ไปได้ หลังจากที่พ่อพาลูกสาวออกจากโรงพยาบาล ได้พาไปพบแม่หมอท่านหนึ่ง (แม่หมอหมายถึงหมอผีผู้หญิงนะครับ ไม่ใช่แม่ของหมอ) แม่หมอบอกถูกผีเข้า จึงทำพิธีไล่ผี แต่ไล่เท่าไหร่ผีก็ไม่ออก จึงใช้ไม้ทุบตีจนตัวน่วมไปหมด ผู้ป่วยแน่นิ่งไม่มีอาการเอะอะโวยวายหรือชักเกร็งกระตุก แม่หมอบอกว่าผีออกไปแล้ว ญาติจึงพากลับมาพักที่บ้าน แต่เหตุการณ์กลับเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆเพราะการที่ผู้ป่วยถูกทุบตีด้วยไม้นั้น ก่อให้เกิดการแตกสลายของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง ส่งผลให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน สุดท้ายผมก็รักษาผู้ป่วยรายนี้ไม่ได้ และเสียชีวิตในที่สุด

เศร้าจริงๆครับ เหตุการณ์นี้สอนผมหลายอย่างเช่น ความเชื่อของคนมีผลต่อการรักษาอย่างมาก การสื่อสารระหว่างหมอและญาติผู้ป่วยมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด การรักษาต้องพยายามสร้างความเข้าใจในตัวโรคทุกชนิดให้ดีไม่ว่าโรคนั้นจะเป็นโรคทางกายหรือโรคทางใจ