อยู่กับผู้สูงวัย อย่างเข้าใจโรคสมองเสื่อม (ตอนที่ 4 และตอนจบ)

ผู้สูงอายุควรได้รับการวินิจฉัยแยกแยะประเภทของอาการสมองเสื่อม ว่าเป็นบริเวณสมองส่วนนอก (Cortical) หรือบริเวณใต้สมองส่วนนอก (Sub-cortical) โดยผู้เชี่ยวชาญ ไม่วาจะเป็นจิตแพทย์ นักประสาทวิทยา นักจิตประสาทวิทยาหรือนักจิตวิทยา ระยะของอาการต้องนานกว่า 6 เดือน จึงจะวินิจฉัยได้ว่า มีโรคสมองเสื่อมหรือโรคเกี่ยวกับสมองใดๆ หรือไม่

การทดสอบที่ดีของการเรียนรู้ ความทรงจำ การทำความเข้าใจ (Cognitive test) แบบสั้น ใช้เวลาเพียง 5-10 นาที ก็พอวางใจได้และสามารถใช้ได้ในสถานที่ทำงาน เพื่อคัดกรองสถานะความรู้ความเข้าใจ ส่วนคะแนนจะต้องได้รับการแปลผลตามระดับการศึกษาและภูมิหลังอื่นๆ และในสถานการณ์พิเศษ เช่น ผู้รับการทดสอบอยู่ในภาวะเครียดสูงหรือเจ็บปวดมาก ก็จะไม่สามารถทำคะแนนบททดสอบความสามารถทางจิตใจได้ดีนัก

แม้ในปัจจุบันเราถือว่า MMSE (= Mini mental state examination) เป็นบททดสอบที่ดีและใช้กันแพร่หลายที่สุด แต่ยังมีอีกหนึ่งวิธีในการคัดกรองผู้ป่วยอาการสมองเสื่อม นั่นคือ การสอบถามจากแหล่งข้อมูลอื่นด้วย เช่น ญาติหรือผู้ช่วย ให้กรอกแบบสอบถามเกี่ยวกับการทำความรู้ ความเข้าใจในชีวิตประจำวันของผู้ป่วย แบบสอบถามนี้จะช่วยเติมเต็มข้อมูลการทดสอบที่ให้ผู้ป่วยทำ แบบสอบถามดังกล่าว หาได้ในอินเทอร์เน็ต ตามเว็บไซต์ต่างๆ

การตรวจเลือดเป็นประจำสามารถช่วยหาสาเหตุโรคที่ควรได้รับการรักษาได้เร็วขึ้น อาทิ การตรวจ วิตามินบี ฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ (Thyroid-stimulating hormone – TSH) การนับจำนวนเม็ดเลือด (Full blood count) สารเกลือแร่ (Electrolytes) แคลเซียม ค่าการทำงานของไต และเอ็นไซม์ตับ รวมถึงในบางกรณีอาจจำเป็นต้องตรวจการพร่องวิตามิน (Vitamin deficiency) และการติดเชื้อ (Infection) ซึ่งบ่อยครั้งเป็นสาเหตุสร้างความสับสน (Confusion) และความงุนงง (Disorientation) ในผู้สูงวัย จนผู้ป่วยที่เคยมีอาการสมองเสื่อมก่อนวัย (Early dementia) หวนกลับมาพบปัญหาที่รุนแรง แต่เป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ

การถ่ายภาพ (Scan) สมอง ด้วยเครื่อง ซีที/CT (= Computed tomography) และ เอมอาร์ไอ/MRI (=Magnetic resonance imaging) ในผู้ป่วยสมองเสื่อม เป็นวิธีทันสมัย แต่อาจไม่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของกระบวนสมองเสื่อม ซึ่งแพร่กระจายในผู้ป่วยที่ไม่มีปัญหาหลักเกี่ยวกับระบบประสาท เช่นผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือแขนขาอ่อนแรง แต่ CT และ MRI อาจช่วยให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในผู้ที่เป็นสมองเสื่อมเนื่องจากหลอดเลือด ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะเนื้อสมองตาย (Infarction)

ส่วนการตรวจด้วย สเปค/SPECT (=Single-photon emission CT) และ เพ็ท/PET (= Position emission tomography) ก็สามารถช่วยแยกแยะสาเหตุสมองเสื่อมที่มาจากหลอดเลือด ออกจากโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s) ได้ดีกว่าการตรวจวินิจฉัยจากการตรวจร่างกายจากแพทย์เพียงอย่างเดียว การศึกษาวิจัยในประเทศออสเตรเลียพบว่า การตรวจด้วย PET มีความแม่นยำ 86% ในการทำนายโรค สำหรับผู้ที่เริ่มมีปัญหาการรับรู้การทำความเข้าใจ ว่าจะเป็นโรคอัลไซเมอร์ภายใน 2 ปี

การศึกษาวิจัยกลุ่มตัวอย่าง 1,566 คน ในประเทศอิตาลี พบว่า 1,455 คน ไม่มีปัญหาเรื่องการรับรู้และการทำความเข้าใจ และ 121 คนมีปัญหาปานกลาง การศึกษาวิจัยยังพบว่าภายในระยะเวลา 3 ปีครึ่ง ผู้ที่มีปัญหาการรับรู้และการทำความเข้าใจ ระดับปานกลางดังกล่าว ที่บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ [สุรา, ไวน์] น้อยกว่า 1 แก้วต่อวัน จะมีการพัฒนาโรคสมองเสื่อมช้ากว่าในอัตรา 85% เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เลย

อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัยไม่สามารถพิสูจน์ว่าความดันโลหิตสูงมีความสัมพันธ์กับการพัฒนาของโรคสมองเสื่อม (Dementia) และการศึกษาวิจัยในประเทศแคนาดา พบว่าผู้ที่ใช้สองภาษา [อังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งเป็นภาษาราชการของประเทศ] จะยืดอายุการเริ่มเป็นโรคสมองเสื่อมออกไปได้ โดยเฉลี่ยอีก 4 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ใช้เพียงภาษาเดียว [อังกฤษ หรือฝรั่งเศส]

แหล่งข้อมูล:

  1. Dementia. http://en.wikipedia.org/wiki/Dementia [2012, May 5].