อยู่กับผู้สูงวัย อย่างเข้าใจโรคสมองเสื่อม (ตอนที่ 2)

โรคสมองเสื่อม (Dementia) ไม่ได้ก่อปัญหาเรื่องความทรงจำเพียงอย่างเดียว แต่ยังทำให้ความสามารถในการเรียนรู้ลดลง การใช้เหตุผล การทรงจำหรือพยายามเรียกสิ่งที่เคยรู้จักในอดีต แล้วยังทำให้สูญเสียรูปแบบการคิด ความรู้สึก และกิจกรรมต่างๆ อีกด้วย

นอกจากปัญหาด้านจิตใจและพฤติกรรมจะมีผลกระทบต่อผู้ป่วย โรคสมองเสื่อมยังส่งผลถึงคุณภาพชีวิตของผู้ดูแลผู้ป่วย และการดูแลโดยองค์กรหรือสถาบันที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากโรคสมองเสื่อม ทำให้ผู้ป่วยมีสภาพแย่ลง ไม่สนใจตนเอง และไม่สามารถยับยั้งการกระทำ อาจระเบิดอารมณ์ หรือกระทำการรุนแรง

ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ประมาณ 20-30% จะได้รับผลกระทบจากอาการซึมเศร้า (Depression) และอีก 20% จะมีอาการวิตกกังวล (Anxiety) อาการทางโรคจิต (Psychosis) เช่นอาการหลอนหรือก่อกวน และอาการกระสับกระส่ายหรือก้าวร้าวรุนแรง ก็มักพบได้ในผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมเช่นกัน จึงมีความจำเป็นต้องประเมินอาการทั้งหลายดังกล่าว และดูแลรักษาตามพื้นฐานของโรคสมองเสื่อมเป็นรายบุคคล

วารสารสมาคมแพทย์แคนาดา (Canadian Medical Association Journal) รายงานว่า ควรมีความตระหนักถึงปัญหาร้ายแรงที่เกิดจากการขับรถของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ที่ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อตนเองและต่อผู้อื่น จนอาจถึงชีวิต แพทย์ควรแนะนำการทดสอบขับขี่ยานพาหนะที่เหมาะสม เมื่อถึงเวลาที่ควรหยุดขับขี่

ในประเทศอังกฤษมีหน่วยงานที่ดูแลใบอนุญาตขับขี่และยานพาหนะ (Driving & Vehicle Licensing Agency: DVLA) ก็ได้ระบุว่าผู้ป่วยจากโรคสมองเสื่อมที่มีปัญหาความจำระยะสั้น มีความสับสนงุนงง รวมถึงปัญหาด้านสายตาหรือการตัดสินใจ จะต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

ในสหรัฐอเมริกา มีกฎหมายรัฐฟลอริดา ชื่อ Baker Act อนุญาตให้ผู้รักษากฎหมายและศาล มีอำนาจบังคับการตรวจสอบสภาพจิตของผู้ต้องหาที่เป็นโรคสมองเสื่อมหรือโรคจิตอื่นๆ ในประเทศอังกฤษ ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ที่อาจเป็นอันตรายต่อตนเองหรือต่อผู้อื่น อาจถูกจองจำ อาศัยอำนาจกฎหมายสุขภาพจิต (Mental Health Act) ของปี พ.ศ. 2526 เพื่อประเมิน ดูแล และรักษา แต่เป็นมาตรการสุดท้าย และมักจะหลีกเลี่ยงได้ หากผู้ป่วยมีครอบครัวหรือเพื่อนช่วยดูแลให้

การเกิดความบาดเจ็บที่สมอง (Brain injury) หลายประเภท เพียงครั้งเดียวก็อาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายที่คงอยู่ อาการบาดเจ็บรุนแรง (Trauma) ที่สมองอาจก่อให้เกิดความเสียหายในเนื้อสมองส่วนสีขาว (White matter) โดยทั่วไป จะกระจาย (Diffuse) ความเสียหายไปตามแกน (Axonal) ของเซลล์ประสาท หรืออาจสร้างความเสียหายเฉพาะบริเวณ ที่อาจต้องอาศัยศัลยกรรมระบบประสาท (Neurosurgery) ในการรักษา

การขาดเลือดหรือออกซิเจนไปเลี้ยงสมองชั่วคราว อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บเฉพาะที่เพราะหลอดโลหิตตีบตัน (Hypoxic-ischemic injury) โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) หรือการติดเชื้อทำให้เยื่อบุสมองอักเสบ (Meningitis) และหรือตัวเนื้อสมองอักเสบ (Encephalitis) ทำให้เกิดอาการชัก (Seizure) และภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ (Hydrocephalus) อาจทำให้เกิดผลในระยะยาวกับกระบวนการรับรู้และทำความเข้าใจ (Cognition)

การบริโภคสุรา (Alcohol) ที่มากเกินไปทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมจากสุรา (Alcohol dementia) ส่วนยาเสพติดอื่นๆก็มีสารที่ก่อให้เกิดโรคสมองเสื่อม เมื่อบุคคลเลิกพฤติกรรมการบริโภคสุราหรือยาเสพติดเกินขนาดแล้ว โรคสมองเสื่อมก็จะยังคงอยู่แต่จะไม่มีการทำลายต่อ

แหล่งข้อมูล:

  1. Dementia. http://en.wikipedia.org/wiki/Dementia [2012, May 3].