อยู่กับผู้สูงวัย อย่างเข้าใจโรคสมองเสื่อม (ตอนที่ 1)

บทความนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากผู้เขียนมีบุคคลที่นับถืออายุ 70 กว่าปี เป็นโรคสมองเสื่อม (Dementia) โดยเธออยู่คนเดียวที่สหรัฐอเมริกา มีลูกอาศัยอยู่คนละรัฐ ตามประสาโลกตะวันตก ช่วง 1 ปีหลังสุด เวลาคุยกัน ลูกก็ได้รับทราบความเปลี่ยนแปลงที่แปลกในร่างกายและจิตใจเธอ เป็นระยะๆ เธอเคยเป็นคนมั่นใจและดูแลตัวเองดี ก็กลายเป็นไม่มั่นใจและหลงลืม จนช่วงท้ายไม่รู้ว่าตัวเองลืมกินข้าวแล้วปวดท้องมาก จนต้องเรียก 911 (ตำรวจฉุกเฉิน) ให้มารับไปโรงพยาบาลหลายครั้งจนผิดสังเกต ลูกจึงให้ตรวจร่างกายอย่างละเอียด จนพบสาเหตุ ว่าเป็นโรคสมองเสื่อม

Dementia มีรากศัพท์จากภาษาลาติน มีความหมายดั้งเดิมว่า ความบ้า ความวิกลจริต (de=ไม่มี ment (mind)=จิตใจ) หมายถึงความสูญเสียอย่างรุนแรงของความจำ ความรู้ความเข้าใจ ในคนปรกติ โดยไม่ได้มีการบาดเจ็บอะไร ซึ่งเกินกว่าที่ควรจะเป็นในผู้สูงอายุวัยเดียวกัน อาจมีอาการคงที่ เนื่องจากความเสียหายของสมองส่วนกลางบางส่วนเท่านั้น หรืออาจมีการเพิ่มอัตราก้าวหน้าในความสูญเสียของความทรงจำในระยะยาว เนื่องจากความเสียหายที่เพิ่มขึ้นหรือเนื่องจากโรคบางโรค

แม้โรคสมองเสื่อมนี้จะพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ แต่ก็เกิดกับคนวัยก่อน 65 ปีได้ด้วย อันเป็นผลจากการสำรวจโดย มหาวิทยาลัย Harvard และประชาคมยุโรป (Europe consortium) ซึ่งพบว่า ปัญหาสุขภาพในประชากรวัยผู้ใหญ่ อันดับสองรองจากโรคมะเร็ง คือ โรคสมองเสื่อม ซึ่งไม่ได้เป็นโรคเดี่ยว แต่เป็นกลุ่มอาการความเจ็บป่วยที่ไม่เฉพาะเจาะจง อันมีผลกระทบต่อส่วนความสามารถในการรับรู้และทำความเข้าใจ (Cognition) ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับ ความทรงจำ ความสนใจ ภาษา และการแก้ไขปัญหา ส่วนมากแล้ว ระยะเวลาแสดงอาการคือ 6 เดือน กว่าผู้ป่วยจะได้รับการวินิจฉัย

หากความผิดปรกติดังกล่าว เห็นได้ในเวลาสั้น และเป็นอยู่ไม่กี่วันถึง 2–3 อาทิตย์ จะเรียกว่า อาการเพ้อ (Delirium) แต่สมองเสื่อมทุกประเภท จะแสดงความผิดปรกติในการทำงานด้านจิตใจเป็นกระบวนการแรก ส่วนในขั้นท้ายๆ ผู้ป่วยอาจฉงนงุนงง ในเรื่องเวลา (ไม่รู้วัน เดือน แม้กระทั่งปี) ในเรื่องสถานที่ (ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน) หรือในเรื่องบุคคล (ไม่รู้จักและจำไม่ได้แม้กระทั่งคนรอบข้าง) แม้เราสามารถรักษาโรคสมองเสื่อมได้ในระดับหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่แล้ว มักไม่ทันกับอัตราก้าวหน้าในวิวัฒนาการของโรค ทำให้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

อาการของโรคสมองเสื่อมสามารถแบ่งได้เป็น รักษาให้กลับมาสภาพเดิมได้และรักษาให้กลับมาสภาพเดิมไม่ได้ ขึ้นกับสมุฏฐานวิทยาของโรค มีเพียงไม่ถึงร้อยละ 10 ที่มีการรักษาให้หายได้ โดยสาเหตุจากกระบวนการแตกต่างกันไป เช่น อาการผิดปรกติของอวัยวะต่างๆ อาการหายใจลำบาก โรคดีซ่าน (Jaundice/ตับอักเสบ) หรือความเจ็บปวดที่มีลักษณะตามสมุฏฐานต่างๆ ของโรค

หากไม่ประเมินประวัติผู้ป่วยอย่างละเอียดถี่ถ้วน อาการเพ้อระยะสั้น จะเป็นอยู่ไม่กี่วัน มักเข้าใจกันผิดว่าเป็นโรคสมองเสื่อม เพราะมีอาการเหมือนกันทุกประการ ต่างกันเพียงแต่ระยะเวลาที่เป็น ส่วนโรคซึมเศร้า โรควิกลจริตต่างๆ ก็จะถูกแยกไปอีกต่างหากจากอาการเพ้อ และโรคสมองเสื่อม ในกรณีหลัง มีสาเหตุจำเพาะหลากหลาย แต่จะแสดงอาการต่างกันเล็กน้อย อย่างไรก็ตามอาการมักจะทับซ้อนกัน จนทำให้ไม่สามารถวินิจฉัยประเภทได้จากอาการเพียงอย่างเดียว มีไม่กี่กรณีที่อาการบ่งบอกสาเหตุได้แม่นยำ แต่การวินิจฉัยอาจไม่แม่นยำพอ ยกเว้นการตรวจชิ้นเนื้อสมองขณะมีชีวิต หรือชัณสูตรศพเท่านั้น

โรคสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยที่สุด ได้แก่ อัลไซเมอร์ (Alzheimer) ความเสื่อมเนื่องจากหลอดเลือด ความเสื่อมในสมองส่วนหน้า ความเสื่อมส่วนการใช้คำหรือสัญลักษณ์ ฯลฯ ผู้ป่วยอาจแสดงกระบวนการเสื่อมมากกว่าสองอย่างพร้อมกัน โดยที่ ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 10 จะมีอาการสมองเสื่อมแบบผสมผสาน (Mixed dementia) เช่น อาจเป็นทั้งอัลไซเมอร์ (Alzheimer) และ ความเสื่อมจากเนื้อเยื่อสมองตายจากหลอดโลหิตอุดตันหลายจุด (Multi-infarction dementia)

แหล่งข้อมูล:

  1. Dementia. http://en.wikipedia.org/wiki/Dementia [2012, May 2].