อบเนื้ออบตัว (ตอนที่ 1)

อบเนื้ออบตัว-1

The American Journal of Hypertension ได้ตีพิมพ์ผลงานการวิจัยการอบซาวน่าในชายวัยกลางคนมากกว่า 1,600 คน ในประเทศฟินแลนด์ โดยระบุว่า ผู้ที่อบซาวน่าสัปดาห์ละ 4-7 ครั้ง จะสามารถลดความเสี่ยงของการเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้เกือบครึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่อบซาวน่าเพียงสัปดาห์ละครั้งเดียว

ศาสตราจารย์ Jari Laukkanen แห่ง The University of Eastern Finland และทีมงาน เปิดเผยว่า การอบซาวน่าอาจจะลดระดับความดันโลหิตผ่านกลไกทางชีวภาพที่แตกต่างกันไป เพราะในการอบซาวน่า อุณหภูมิของร่างกายจะสูงขึ้น ทำให้หลอดเลือดขยายตัว ซึ่งเป็นการช่วยให้การทำงานของหลอดเลือดชั้นในดีขึ้น นอกจากนี้การอบซาวน่ายังช่วยขับของเหลวผ่านทางเหงื่อ เป็นการผ่อนคลายทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ

โดยทีมงานนักวิจัยได้ใช้เวลามากกว่า 22 ปี ในการติดตามศึกษา ซึ่งในระหว่างนี้ร้อยละ 15 ของผู้เป็นตัวอย่างในการศึกษาได้เป็นโรคความดันโลหิตสูง และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างผู้ที่อบซาวน่าเพียงสัปดาห์ละครั้งจะพบว่า ผู้ที่อบซาวน่าสัปดาห์ละ 4-7 ครั้ง จะลดความเสี่ยงในการเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้ร้อยละ 46 และผู้ที่อบซาวน่าสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งจะลดความเสี่ยงได้ร้อยละ 24

อย่างไรก็ดี ผลการวิจัยได้ระบุถึงเพียงความสัมพันธ์ระหว่างระดับความดันโลหิตที่ดีขึ้นกับความถี่ในการอบซาวน่าเท่านั้น ไม่ได้ระบุถึงความสัมพันธ์ของเหตุและผลโดยตรง

การอบซาวน่า (Sauna) มีจุดกำเนิดมาจากประเทศฟินแลนด์ เป็นการอยู่ในห้องหรืออาคารเล็ก ๆ ที่ออกแบบมาให้เป็นที่ที่รับความร้อนระหว่าง 70-100°C เพื่อช่วยในการผ่อนคลายและทำให้เหงื่อออก

โดยเหงื่อเป็นลักษณะอัตโนมัติของร่างกายในการคายความร้อนออกเพื่อทำให้ร่างกายเย็นลง ส่วนการปรับความร้อนตามส่วนต่างๆ ของร่างกายสามารถทำได้ด้วยการใช้ผ้าขนหนูช่วย เช่น คนที่อยู่ในห้องซาวน่ามักใช้ผ้าขนหนูโพกศีรษะเมื่อรู้สึกร้อนเกินที่ใบหน้าในขณะที่ร่างกายยังรู้สึกสบาย ทั้งนี้ การปรับระดับความร้อนในห้องซาวน่าอาจแปรได้ด้วย

  • ปริมาณน้ำที่เทลงในก้อนหิน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความชื้น ทำให้เหงื่อออกได้มาก (การเทน้ำใส่ก้อนหินที่ร้อน จะทำให้ก้อนหินเย็นลง และระบายความร้อนไปในอากาศ ทำให้ห้องร้อนขึ้น)
  • ระยะเวลาที่อยู่ในห้องซาวน่า
  • ตำแหน่งที่นั่งอยู่ในห้องซาวน่า

การอบซาวน่าเป็นประจำสามารถช่วยเรื่องการลดน้ำหนัก เพราะการที่เหงื่อออกมากช่วยให้ร่างกายปลดปล่อยสารพิษออกไป ทำให้ระบบการทำงานของต่อมไร้ท่อ (Neuro-endocrine-immune system) และระบบการหมุนเวียนของเลือดดีขึ้น

ทั้งนี้ มีการใช้ซาวน่าในการบำบัดโรคบางอย่าง เช่น การลดฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความเครียด (Stress hormones) การช่วยเรื่องสภาพหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular) การช่วยเรื่องอาการปวดข้อ (Rheumatic pain) แต่ไม่ช่วยเรื่องอาการปวดเส้นประสาท (Neuropathic pain)

นอกจากนี้ยังช่วยเรื่องการเบื่ออาหาร อาการหดหู่ซึมเศร้าอย่างอ่อนๆ อาการล้าเรื้อรัง (Chronic fatigue syndrome = CFS) กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ เอ็น และเนื้อเยื่ออ่อน (Fibromyalgia) โรคกลัวอ้วน (Anorexia nervosa)

และยังมีการแนะนำให้ใช้ซาวน่าในการรักษาต้อหิน (Glaucoma) กลุ่มอาการ โจเกรน (Sjogren syndrome) โรคปอดอุดกั้น (Obstructive lung disease) และการทำให้มดลูกเข้าอู่หลังคลอด

แหล่งข้อมูล:

  1. Can Sauna Sweats Lower Your Blood Pressure?https://www.webmd.com/hypertension-high-blood-pressure/news/20171009/can-sauna-sweats-lower-your-blood-pressure [2017, November 4].
  2. Sauna.https://en.wikipedia.org/wiki/Sauna [2017, November 4].