หูอื้อ (Tinnitus)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

หูอื้อหมายถึงอะไร? มีกี่ชนิด? วินิจฉัยและรักษาอย่างไร?

หูอื้อ หรือเสียงในหู (Tinnitus) เป็นอาการ หรือ ภาวะที่พบได้ทั่วไป ทั้งนี้ในสหรัฐอเมริกามีคนป่วยเป็นโรคหูอื้อถึงสี่สิบล้านคน แต่มีเพียงหนึ่งในสี่เท่านั้นที่รู้สึกว่าหูอื้อเป็นปัญหาสำคัญ

ในด้านความหมาย อาการหูอื้อ หมายถึง การได้ยินลดลง หรือรู้สึกเหมือนมีอะไรอุดหูอยู่ หรือรู้สึกมีเสียงดังในหู ซึ่งอาจเป็นเสียงแหลม วี๊ด ๆคล้ายมีแมลงบินในหู หรือเสียงหึ่งๆ หรือเสียงตุบๆคล้ายชีพจรเต้น หรือแม้แต้เสียงการกลืนอาหาร หรือเสียงลมหายใจ และไม่ใช่ทุกคนที่ได้ยินเสียงหูอื้อจะรู้สึกรำคาญจนทนไม่ได้ บางคนอาจไม่มีปัญหากับอาการหูอื้อ ทั้งนี้หูอื้อบางชนิดก็ไม่มีอันตราย บางชนิดก็มีอันตราย ดังจะได้กล่าวถึงต่อไป

1. หูอื้อแบบมีเสียงแหลม วี๊ดๆ คล้ายมีแมลงในหูหรือเสียงหึ่งๆ ประเภทนี้มักเกิดจากมีความผิดปกติของหูชั้นใน หรือของเส้นประสาทหู มักเกิดร่วมกับอาการประสาทหูเสื่อมและการได้ยินลดลง อาจเป็นข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ อาการหูอื้อมักเกิดร่วมกับ อาการนอนไม่หลับ ซึ่งบ่อยครั้งผู้ป่วยมักเข้าใจว่าเสียงดังในหูทำให้นอนไม่หลับ เครียด หรือภาวะซึมเศร้า และภาวะทั้งหมดมีส่วนเสริมซึ่งกันและกันทำให้อาการยิ่งเป็นมากขึ้น

สาเหตุและปัจจัยที่ทำให้มีอาการหูอื้อชนิดนี้ มักเป็นปัจจัยเดียวกับที่ทำให้ประสาทหูเสื่อม เช่น การฟังเสียงดังๆ การใช้ยาปฏิชีวนะที่มีผลข้างเคียงต่อประสาทหู การผ่าตัดรักษาโรคทางสมอง หรือทางหูบางโรคที่อาจการะทบกระเทือนประสาทหู ผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็งบางชนิด หรือการฉายรังสี (รังสีรักษา) บริเวณศีรษะเพื่อรักษาโรคมะเร็ง การใช้ยาขับปัสสาวะบางชนิด การใช้ยาลดการอักเสบกลุ่มแอสไพริน การที่มีอายุมากขึ้น (ผู้สูงอายุ) หูก็อาจเสื่อมเองได้ การติดเชื้อบางชนิด เช่น เชื้อซิฟิลิส หรือเชื้อไวรัสที่ทำให้หูชั้นในอักเสบ และโรคเนื้องอกบริเวณประสาทสมองคู่ที่แปด (Acoustic neuroma) เป็นต้น ซึ่งเมื่อเกิดจากเนื้องอก มักเป็นอาการหูอื้อข้างเดียว ข้างที่เกิดโรค

การวินิจฉัยหูอื้อชนิดนี้ สามารถทำได้โดยการซักประวัติทางการแพทย์ที่อาจเป็นสาเหตุตามที่กล่าวมาข้างต้น รวมทั้งการตรวจร่างกายภายในช่องหู ซึ่งหากพบความผิดปกติก็จะสามารถทำการรักษาให้ตรงกับสาเหตุได้

นอกจากนี้ อาจจำเป็นต้องส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาโรคที่อาจซุกซ่อนอยู่ เช่น การตรวจหาเชื้อซิฟิลิส การวัดระดับการได้ยิน (Audiometry) การวิเคราะห์การทำงานของเส้นประสาทหูส่วนก้านสมองเพื่อหาหลักฐานว่ามีเนื้องอกเส้นประสาทหูหรือไม่ (ABR, Audiotory brain stem response) หรือการทำการสแกนสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก/เอมอาร์ไอ (MRI, Magnetic resonance imaging) ก็จะทำให้เห็นเนื้องอกที่เส้นประสาท หรือในสมองได้

การดูแลรักษาหูอื้อชนิดนี้ เป็นที่ยอมรับกันว่า หูอื้อชนิดนี้ยากต่อการรักษาให้หายขาด เนื่องจากจำเป็นต้องรักษาโรคของประสาทหูเสื่อม เช่น งดฟังเสียงดังจากแหล่งต่างๆ การให้ยาสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบของเส้นประสาท การให้ยาขยายหลอดเลือดในรายที่มีการตีบตันของหลอดเลือดหูชั้นใน เป็นต้น

อย่างไรก็ตามบางครั้งการรักษาอาจไม่ได้ผลตามที่ต้องการ ทั้งนี้เนื่องจากผู้ป่วยมีภาวะ หรือโรค อื่นอยู่ด้วย เช่น เครียด นอนไม่หลับ หรือมีโรคซึมเศร้า ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขภาวะ/โรคเหล่านี้ไปด้วยกัน เช่น การออกกำลังกาย การรักษาทางจิตวิทยา/จิตเวช และมีผู้ทดลองใช้อุปกรณ์ที่มีเสียงในลักษณะพิเศษมาช่วยกลบเสียงหูอื้อ เช่น การใช้วิทยุเปิดเบาๆ หรือการใช้เทปเสียง หรือซีดี หรือแพทย์อาจแนะนำให้ใช้อุปกรณ์เครื่องช่วยฟัง ซึ่งช่วยทำให้เสียงจากสิ่งแวดล้อมดังขึ้นเพื่อช่วยกลบเสียงรบกวนจากหูอื้อได้ ปัจจุบันมีผู้คิดเครื่องสร้างเสียงดนตรีที่ไม่เป็นเพลงเพื่อช่วยดึงความสนใจออกไปจากภาวะหูอื้อ บ่อยครั้งที่พบว่าผู้ป่วยสามารถปรับตัวให้อยู่กับเสียงในหู/หูอื้อได้ จนเป็นความคุ้นเคย และไม่รำคาญอีกต่อไป

2. หูอื้อแบบรู้สึกตุบๆ กลุ่มนี้เกิดจากมีเนื้องอกในช่องหู (Glomus tumor) ซึ่งแพทย์ผู้ตรวจอาจสามารถได้ยินเสียงอื้อนั้นด้วย การวินิจฉัยจะต้องทำการซักประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ต้องทำการตรวจช่องหูชั้นกลาง อาจเห็นเนื้องอกเป็นสีแดงๆ หากพบเป็นเนื้องอก ต้องทำการตรวจเพิ่มเติม เช่นเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อหาขอบเขตการลุกลามของเนื้องอก และให้รักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งหูอื้อจากสาเหตุนี้ มักเกิดเพียงข้างเดียว คือข้างที่เกิดเนื้องอก

3. หูอื้อแบบได้ยินเสียงภายในร่างกายชัดกว่าปกติ เช่น เสียงพูดของตัวเอง หรือเสียงลมหายใจ มักเกิดจากมีความผิดปกติของหูชั้นนอก หรือหูชั้นกลาง บางครั้งเกิดจากโรคภูมิแพ้ ทำให้ท่อระบายอากาศของหู (Eustachian tube) บวมและถ่ายเทอากาศไม่ได้ ผู้ป่วยอาจสังเกตได้ว่า อาการมักเป็นๆ หายๆ หรือเวลาขึ้นเครื่องบิน หรือดำน้ำจะมีอาการปวดหู และมีหูอื้อ อย่างไรก็ตามถึงแม้จะพบได้น้อย แต่อาจเกิดจากโรคมะเร็งโพรงหลังจมูกได้ โดยเฉพาะถ้ามีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้ หรือร่วมกับมีต่อมน้ำเหลืองที่ลำคอ โต คลำได้ ซึ่งถ้าเป็นหูอื้อจากมะเร็งมักเป็นหูอื้อเพียงข้างเดียว ข้างที่มีก้อนมะเร็งโตจนอุดกั้นท่อระบายอากาศของหู อนึ่ง โรคมะเร็งชนิดนี้พบได้ค่อนข้างบ่อยในบ้านเรา มักพบในคนอายุ 35 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะมีเชื้อสายจีน ดังนั้นถ้ามีอาการหูอื้อข้างเดียว จึงควรรีบพบแพทย์ หู คอ จมูก

การวินิจฉัยสาเหตุโรคนี้ ต้องซักประวัติโรคทางหูในอดีต หรืออาการภูมิแพ้ ต้องตรวจหาความผิดปกติของช่องหู เมื่อเจอสาเหตุมักสามารถรักษาให้หายได้ เช่น หากเป็นโรคภูมิแพ้ ก็ต้องรักษาโรคภูมิแพ้ หรือมีหูอักเสบก็ต้องรักษาภาวะหูอักเสบ เป็นต้น

ใครบ้างมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดหูอื้อ?

หูอื้อ

คนที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดหูอื้อ คือ

  • ทำงาน หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีเสียงดังโดยไม่มีเครื่องป้องกันหูที่ถูกต้อง
  • สูงอายุ อายุมากกว่า 65 ปี
  • คนที่หูได้ยินลดลงเมื่ออายุมากขึ้น
  • เป็นชาวตะวันตก
  • มีปัญหาด้านอารมณ์/จิตใจจากการถูกทำร้ายร่างกาย (Post traumatic stress disorder) โดยผู้ป่วยมักมีอาการเมื่อมีคนพูดเสียงดัง

เมื่อมีหูอื้อควรดูแลตนเองอย่างไร?

เมื่อมีอาการหูอื้อควรใช้ความสังเกตว่า เป็นหูอื้อแบบไหน เป็นเวลาเป็นโรคหวัด โรคภูมิแพ้ หรือเปล่า หรือมีอาการได้ยินลดลงซึ่งกรณีมีการได้ยินลดลงนี้ควรรีบพบแพทย์ด้านหู คอ จมูก เพราะอาจมีอาการประสาทหูเสื่อมได้

นอกจากนั้น คือ

  • ควรหลีกเลี่ยงเสียงดัง หรือควรใส่เครื่องป้องกันหูจากเสียงดังเสมอ
  • เมื่อเกิดความรำคาญจากเสียงในหู อาจเปิดเพลงเบาๆ เพื่อกลบเสียงในหู
  • เปิดพัดลมที่มีเสียงเบาๆ อาจช่วยกลบเสียงในหูลงได้
  • รักษาสุขภาพจิต เพราะพบว่า การมีความเครียด จะรู้สึกว่าเสียงในหูดังขึ้น
  • งด/เลิกบุหรี่ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ เพราะมีรายงานว่า อาจทำให้อาการหูอื้อเลวลงได้
  • งด/เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้หลอดเลือดขยายตัว ส่งผลให้ได้ยินการไหลเวียนของเลือดในหูดังขึ้น/หูอื้อมากขึ้น
  • ดูแลรักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ
  • ยอมรับ เข้าใจในอาการ และปรับตัว ลดความกังวล ลดความเครียด

อาการหูอื้อรุนแรงไหม? รักษาหายไหม?

หูอื้อมักมีอาการไม่รุนแรง แต่น่ารำคาญ บางรายนอนไม่หลับทำให้กระทบกับสุขภาพส่วนอื่น แต่ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุด้วย ซึ่งถ้าเกิดจากเนื้องอกประสาท Glomus tumor หรือโรคมะเร็ง ก็จะเป็นโรคที่รุนแรงได้ แต่สาเหตุนี้พบได้น้อยกว่าสาเหตุอื่นๆ

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ควรพบแพทย์ เมื่อ

  • มีหูอื้อหลังจากเป็นโรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ หรือไซนัสอักเสบ ทั้งนี้โดยอาการหูอื้อไม่ดีขึ้น/ไม่หายไปภายใน 1 สัปดาห์หลังอาการจากโรคต่างๆดังกล่าวหายแล้ว
  • มีหูอื้อที่ร่วมกับการได้ยินลดลง หรือมีอาการเวียนศีรษะ หรือบ้านหมุน
  • มีหูอื้อที่เกิดขึ้นโดยหาสาเหตุไม่ได้/ไม่รู้สาเหตุ เพราะอาจเกิดจากเนื้องอกประสาท หรือโรคมะเร็งโพรงหลังจมูกได้

ป้องกันอาการหูอื้อได้ไหม?

การป้องกันหูอื้อ ทำได้โดยการงด/หลีกเลี่ยงฟังเสียดังๆ หรือถ้าต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีเสียงดัง ต้องมีที่อุดหูป้องกัน หรือถ้าเป็นหวัด หรือภูมิแพ้ ต้องทำการรักษา และงดการดำน้ำในช่วงนั้น

นอกจากนั้น คือ การดูแลรักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อแรก

บรรณานุกรม

  1. Cummings: Otolaryngology: Head & Neck Surgery, 4th ed
  2. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/tinnitus/symptoms-causes/syc-20350156 [2019,Oct5]