หูอื้อจากโดยสารเครื่องบิน หูอื้อจากเปลี่ยนความดันอากาศ (Barotitis)

สารบัญ

ทั่วไป

หูอื้อจากโดยสารเครื่องบิน หรือหูอื้อจากเปลี่ยนความดันอากาศ หรือหูอื้อจากเปลี่ยนความดันบรรยากาศ (Barotitis) เป็นการอักเสบของหูชั้นกลาง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงความดันอากาศ/ความดันบรรยากาศ/ความกดดันอากาศ บางคนเรียกว่า Ear Squeeze, Aerotitis, Barotitis media, หรือ Airplane ear จึงทำให้มีการอักเสบหรือ เลือดออกในหูชั้นกลาง มักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงความสูงอย่างรวดเร็ว จากการบิน การดำน้ำ และในห้องปรับบรรยากาศความดันสูง (Hyperbaric chamber )

หูอื้อจากโดยสารเครื่องบินเกิดได้อย่างไร?

หูอื้อจากโดยสารเครื่องบิน

หูชั้นกลางอักเสบ หรือหูอื้อ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงความกดดันบรรยากาศ/อากาศ เกิดขื้นได้โดย ปกติหูชั้นกลางมีช่องทางแคบๆ ที่เรียกว่า ท่อยูสเตเชียน (Eustachian tube) เป็นท่อเปิดออกสู่ภายนอกในส่วนของลำคอ ทางโพรงหลังจมูก (Nasopharynx) ถ้าอากาศในหูชั้นกลางมีความดันสูงกว่าอากาศภายนอก มันจะดันผ่านออกไปสู่ภายนอกได้ แต่ในทางตรง กันข้าม เมื่ออากาศภายนอก มีความดันสูงกว่าอากาศภายในช่องหูชั้นกลาง จะทำให้ภายในท่อยูสเตเชียน เกิดความดันเป็นลบ (Negative pressure) เยื่อบุท่อยูสเตเชียนจึงถูกดูดเข้ามาติด กันสนิท ทำให้เกิดภาวะท่อตีบตัน ทำให้อากาศไม่สามารถถ่ายเฉลี่ยความกดดันได้ จึงไม่เกิดความสมดุลของความกดดันบรรยากาศระหว่างหูชั้นกลางกับบรรยากาศภายนอก มักเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงความสูง (Altitude) อย่างรวดเร็ว ดังที่พบได้ในภาวะต่อไปนี้

  • เครื่องบินที่เปลี่ยนระดับขึ้น-ลงอย่างรวดเร็ว
  • การลอยตัวขึ้นสู่ผิวน้ำ หรือ ดำน้ำลงสู่ความลึกอย่างฉับพลันของนักประดาน้ำ (Scuba)
  • ดิ่งพสุธา (Skydiving) ที่ล่วงหล่นอย่างรวดเร็ว
  • ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาในห้องปรับบรรยากาศความดันสูง (Hyperbaric chamber)

ทั้งนี้ การอุดตันของท่อยูสเตเชียนดังกล่าว ยังมักพบได้ในรายติดเชื้อระบบทางเดินหาย ใจส่วนบน (URI, Upper respiratory tract infection), โรคภูมิแพ้, ไซนัสอักเสบ

ซึ่งการตีบตันของท่อยูสเตเชียนจากการเสียสมดุลของความดันอากาศภายในและภาย นอกหูชั้นกลางนี้ อาจแก้ไขได้โดย การกลืน การหาว การดูดน้ำ/นม และ/หรือการทำ Valsalva manoeuvre (หายใจเข้า แล้วบีบจมูก 2 ข้างและปิดปากให้แน่น แล้วเบ่งลมออก/หายใจออกเบาๆ) ซึ่งทั้งหมด จะทำให้รูเปิดของท่อยูสเตเชียนถ่างออก

อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงของหูอื้อจากการเปลี่ยนความดันอากาศ?

ปัจจัยเสี่ยงของหูอื้อจากการเปลี่ยนความดันอากาศ คือ

  • เป็นโรคหวัด
  • เดินทางโดยเครื่องบิน
  • นักประดาน้ำ
  • นักดิ่งพสุธา
  • นักปีนเขา (High altitude mountain climber)
  • High impact sport
  • ทารกและเด็กเล็ก ที่ท่อยูสเตเชียนมีขนาดเล็ก จึงปิดเปิดลำบาก

หูอื้อจากโดยสารเครื่องบินมีอาการอย่างไร?

อาการของหูอื้อจากโดยสารเครื่องบิน/จากเปลี่ยนความดันอากาศ จะมากหรือน้อยขึ้น อยู่กับว่าการอุดตันของท่อยูสเตเชียนนั้นเกิดขึ้นนานเท่าไร รุนแรงเพียงไร และเป็นบ่อยแค่ไหน

รายที่อักเสบปานกลาง จะมีความรู้สึกตึงๆในหู ปวดหู หูอื้อ อาจปวดบริเวณโหนกแก้ม หน้าผาก

ในรายที่อาการรุนแรง จะมีเวียนศีรษะ หน้ามืด มีเสียงในหู และ การได้ยินลดลง อาจมีเลือดออกจากหู จมูก ถ้าเป็นในเด็ก เด็กจะร้องไห้โยเย

อาการเหล่านี้อาจมีเพียงเล็กน้อย หรือ เป็นมาก อาจเกิดขึ้นทันทีขณะอยู่บนเครื่องบิน หรือ ดำน้ำ หรือมีอาการหลังจากนั้นก็ได้ และอาการอาจเป็นอยู่ตลอดเวลา หรือ หายไปเองก็ได้ใน 1-2 วัน

เมื่อไรควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการหูอื้อจากโดยสารเครื่องบิน/จากเปลี่ยนความดันอากาศ ควรพบแพทย์เสมอเมื่อ อาการหูอื้อยังคงอยู่หลังจากเกิดอาการ 2-3 วันแล้ว, มีอาการมากขึ้น, มีปัญหาทางการได้ยิน, มีน้ำ/ของเหลวออกจากหู, มีเลือดออกทางหู, มีอาการผิดปกติอื่นๆร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน, และ/หรือมีเลือดออกทางจมูก/เลือดกำเดา หรือ เมื่อกังวลในอาการ

แพทย์วินิจฉัยหูอื้อจากโดยสารเครื่องบินอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะหูอื้อจากโดยสารเครื่องบิน/จากเปลี่ยนความดันอากาศ ได้จาก อา การ ประวัติที่เป็นปัจจัยเสี่ยง (ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง) และ อาการแสดง การตรวจร่างกาย การตรวจหู และ/หรือ การตรวจการได้ยิน

การตรวจหู จะพบแก้วหูบุ๋มเข้าใน (Retracted tympanic membrane) อาจพบมีน้ำเลือด ก้อนเลือดในหูชั้นกลาง หรือ ที่แก้วหู รายที่เป็นมาก แก้วหูอาจทะลุหรือฉีกขาด

การตรวจการได้ยิน พบว่า การได้ยินลดลงเป็นแบบที่ไม่ได้เกิดจากเส้นประสาทหู แต่เป็นแบบที่เรียกว่า Conductive hearing loss

รักษาหูอื้อจากโดยสารเครื่องบินอย่างไร?

โดยทั่วไปการรักษาหูอื้อจากโดยสารเรื่องบิน/จากเปลี่ยนความดันอากาศ ถ้าอาการเป็นไม่มาก มักไม่ต้องให้การรักษา อาการจะหายไปใช้เวลาเป็นชั่วโมง หรือ เป็นวัน 1-2 วัน

บางรายที่เป็นมาก ซึ่งพบน้อยราย ต้องทำการผ่าตัด เปิดช่องที่แก้วหู (Myringotomy) เพื่อระบายของเหลว และอากาศที่อยู่ในหูชั้นกลางออก และ อาจใส่ท่อพลาสติกไว้ หรือ ทำผ่า ตัดปิดแก้วหู (Typanoplasty) ในรายที่แก้วหูทะลุ

ในรายที่เป็นโรคหวัด โรคภูมิแพ้ ควรหลีกเลี่ยงการบิน การดำน้ำ แต่เมื่อมีความจำเป็น และเกิดอาการ ต้องมีการให้ยารักษาอาการ ได้แก่

  • ยาแก้ปวด เมื่อมีอาการปวดหู
  • ยาลดการบวมของเนื้อเยื่อหู (Decongestant)
  • ยาพ่นจมูก/พ่นคอ เพื่อลดอาการบวมของเนื้อเยื่อจมูก/คอ เพื่อช่วยให้ลดการบวมของรูเปิดท่อยูสเตเชียน
  • ยาปฏิชีวนะ เมื่อมีการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ และ/หรือของหูชั้นกลาง

หูอื้อจากโดยสารเครื่องบินมีการพยากรณ์โรคอย่างไร? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

โดยทั่วไป การพยากรณ์โรคของหูอื้อจากโดยสารเครื่องบิน/จากเปลี่ยนความดันอากาศ เป็นภาวะที่ไม่รุนแรง หายได้เองในระยะเวลาเป็นชั่วโมง หรือ 1-3 วัน โดยไม่มีผลข้างเคียง แต่บางรายที่อาการรุนแรง ที่มีการฉีกขาดของเนื้อเยื่อแก้วหู หรือมีการติดเชื้อรุนแรงของหูชั้นกลาง อาจส่งผลให้หูด้านนั้น มีหูอื้อเรื้อรัง มีเสียงในหูเรื้อรัง มีการได้ยินลดลง หรือ มีหูหนวก ได้

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีหูอื้อจากโดยสารเครื่องบิน? เมื่อไรควรพบแพทย์ก่อนนัด?

การดูแลตนเองเมื่อมีอาการหูอื้อจากโดยสารเครื่องบน/หูอื้อจากเปลี่ยนความดันอากาศคือ การเปิดท่อยูสเตเชียน โดย กลืน (น้ำลาย น้ำ หรืออาหาร) การหาว เคี้ยวหมากฝรั่ง ดูดน้ำ ดูดลูกกวาดอมยิ้ม และ/หรือ Valsalva manoeuvre

แต่ถ้าดูแลตนเองแล้ว อาการยังคงอยู่นานเกิน 2-3 วัน หรืออาการมากขึ้น ควรพบแพทย์ และเมื่อพบแพทย์แล้ว ถ้าอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการที่ผิดไปจากเดิม ก็ควรรีบพบแพทย์ก่อนนัด

ป้องกันหูอื้อจากโดยสารเครื่องบินได้อย่างไร?

การป้องกันหูอื้อจากโดยสารเครื่องบิน/จากเปลี่ยนความดันอากาศ ได้แก่ ไม่ควรทำการบิน หรือ การดำน้ำ (SCUBA) เมื่อเป็นหวัด แต่หากจำเป็น ก็ต้องใช้ยาช่วยก่อนขึ้นเครื่องบินหรือทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดการเสียสมดุลของความดันอากาศฯ ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อการรักษา

นอกจากนั้น คือ ระหว่างเครื่องบิน ขึ้น-ลง/มีการเปลี่ยนความดันอากาศ ควรเคี้ยวหมากฝรั่ง และ/หรือ พยายามกลืนน้ำลายแรงๆ และบ่อยๆ เพื่อดันให้อากาศผ่านรูเปิดของท่อยูสเตเชียนเข้าไปในหูชั้นกลาง เพื่อปรับความดันอากาศกับความดันในหูชั้นกลางให้อยู่ในสมดุล

อนึ่ง การป้องกันอาการนี้ในทารกและในเด็กเล็ก คือ ให้เด็ก ดูดน้ำนม หรือดูดน้ำ ในช่วงขึ้น-ลงเครื่องบิน

สรุป

อาการ หูอื้อ ปวดหู จากการโดยสารเครื่องบิน โดยทั่วไปมักเป็นอยู่ระยะหนึ่ง ซึ่งไม่ต้องให้การรักษา อาการก็จะหายไปในเวลาเป็นชั่วโมง หรือ เป็นวัน ในรายที่ให้การรักษา อาการจะดีขึ้น ส่วนใหญ่ไม่พบว่ามีความผิดปกติของอวัยวะแบบถาวร หรือ การได้ยินลดลง แต่ในรายที่มีอาการมาก อาจพบมีการสูญเสียการได้ยินแบบถาวร เยื่อแก้วหูทะลุ ฉีกขาด หรือ มีการติดเชื้อโรคของหูชั้นกลางได้

บรรณานุกรม

  1. RUSSELL B. RAYMAN, ET AL., CLINICAL AVIATION MEDICINE, 2000.
  2. CLAUS CURDT-CHRISTIANSEN ET AL., PRINCIPLES ANDPRACTICE OF AVIATION., 2010.
  3. JAMES M. WALLACE ET AL, HANDBOOK FOR CIVIL AVIAITON MEDICAL EXAMINERS, 1998.
  4. http://www.patient.co.uk/health/Ears-and-Flying.htm [2013,Oct29].