หินปูนเกาะกระดูกหู (ตอนที่ 1)

เสียงแห่งความเงียบ่

สืบเนื่องจากบทความเรื่อง เสียงแห่งความเงียบ ในตอนที่แล้ว เรามาคุยกันต่อเรื่องของหู โดยตอนนี้จะเกี่ยวกับโรคที่ทำให้หูตึง ไม่ยอมหย่อน ที่เรียกว่า โรคหินปูนเกาะกระดูกหู

โรคหินปูนเกาะกระดูกหู (Otosclerosis หรือ Otospongiosis) เป็นความผิดปกติของกระดูกที่อยู่ใกล้หูชั้นกลาง ทำให้ไม่เกิดการสั่นสะเทือนของกระดูกหูเพื่อตอบสนองต่อคลื่นเสียง ซึ่งสามารถเป็นสาเหตุทำให้สูญเสียการได้ยิน (Hearing loss)

ส่วนใหญ่มักเกิดกับหูทั้งสองข้าง มีเพียงร้อยละ 10-15 เท่านั้นที่อาจเป็นข้างเดียว โดยมักจะเริ่มเป็นตั้งแต่ช่วงอายุ 10-30 ปี เกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และคนผิวขาว (Caucasian) มักเป็นมากกว่าคนเชื้อชาติอื่น

แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า โรคหินปูนเกาะกระดูกหูเกิดจากการโรคถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์แบบลักษณะลักษณะเด่น (Autosomal dominant disease) บ้างก็เชื่อว่าเกิดจากโรคหัด (Measles) บางงานวิจัยก็ระบุว่า โรคหินปูนเกาะกระดูกหูสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์

ทั้งนี้ โดยเฉลี่ยคนที่มีพ่อหรือแม่เป็นโรคนี้จะมีโอกาสในการเป็นร้อยละ 25 แต่หากมีทั้งพ่อและแม่ที่เป็น โอกาสจะเพิ่มร้อยละ 50

อาการที่สำคัญ ได้แก่

  • สูญเสียการได้ยินและค่อยๆ แย่ลงๆ
  • มีเสียงดังในหู (Tinnitus)
  • เวียนศีรษะ (Vertigo / dizziness)
  • มีปัญหาเรื่องการทรงตัว (Balance problems)

การวินิฉัยว่าเป็นโรคหินปูนเกาะกระดูกหู จะทำโดยแพทย์ที่ชำนาญทางหูคอจมูก (Otolaryngologist) หรือ โสตแพทย์ (Otologist) นักตรวจการได้ยิน (Audiologist) โดยขั้นแรกจะตรวจว่ามีปัญหาสุขภาพอะไรบ้างที่ทำให้เกิดอาการเดียวกันนี้ได้ ต่อไปก็จะทำการตรวจการได้ยิน (Audiogram) และตรวจการทำงานของหูชั้นกลาง (Tympanogram) หรือบางครั้งอาจให้ทำซีทีสแกนด้วย

การตรวจการได้ยิน (Audiometry / Audiology) จะช่วยทำให้รู้ว่ามีการสูญเสียการได้ยินระดับไหน

เพราะโรคหินปูนเกาะกระดูกหูจะค่อยๆ แย่ลงเป็นลำดับๆ ดังนั้นในระยะแรกอาจไม่จำเป็นต้องทำการรักษา อาจรอจนมีปัญหาการได้ยินที่มากขึ้น ทั้งนี้ ระยะแรกมักสังเกตว่าจะไม่ค่อยได้ยินโทนเสียงต่ำ (Low-pitched sounds) หรือเสียงกระซิบ (Whisper)

หากสูญเสียการได้ยินในระดับอ่อนอาจใช้เครื่องช่วยฟัง (Hearing aid) ซึ่งอาจช่วยให้การได้ยินดีขึ้น แต่ไม่ได้เป็นการรักษาหรือสามารถป้องกันการสูญเสียการได้ยินได้

ปัจจุบันยังไม่ยาที่ใช้รักษาโรคนี้โดยตรง แต่ฟลูออไรด์ (Fluoride) แคลเซียม หรือวิตามินดี อาจช่วยชะลอการสูญเสียการได้ยินได้ อย่างไรก็ดีก็ยังไม่เป็นที่พิสูจน์ได้แน่ชัด

แหล่งข้อมูล

  1. Otosclerosis. http://en.wikipedia.org/wiki/Otosclerosis [2015, May 28].
  2. Otosclerosis. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/001036.htm [2015, May 28].
  3. Otosclerosis. http://www.nidcd.nih.gov/health/hearing/pages/otosclerosis.aspx[2015, May 28].
  4. Otosclerosis. http://american-hearing.org/disorders/otosclerosis/ [2015, May 28].
  5. What You Should Know About Otosclerosis. http://www.entnet.org/content/what-you-should-know-about-otosclerosis [2015, May 28].
  6. Otosclerosis. http://vestibular.org/otosclerosis [2015, May 28].