หากสัมผัสสารพิษ ฝ่าวิกฤติเบื้องต้นอย่างไรดี (ตอนที่ 1)

นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผย เมื่อเร็วๆ นี้ ถึงผลกระทบ

  1. จากเหตุการณ์ถังเก็บสารเคมีอันตรายโทลูอีน (Toluene) ของโรงงานบีเอสที อิลาสโตเมอร์ส ในเครือบริษัทกรุงเทพ ซินธิติกส์ (BST) จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ระเบิดไฟลุกไหม้ และ
  2. เหตุการณ์ก๊าซโซเดียมไฮโปคลอไรต์ (Sodium hypo-chlorite) รั่วจากโรงงาน บริษัท อดิตยา เบอร์ล่า เคมีคัลส์ (ประเทศไทย) จำกัด (ABC) ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก จ. ระยองเช่นกัน

สรุปยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์โรงงานบีเอสทีระเบิดรวม 11 ราย และได้รับบาดเจ็บกว่า 140 ราย ขณะนี้ยังอยู่ในโรงพยาบาล 24 ราย ส่วนกรณีก๊าซโซเดียมไฮโปคลอไรด์ รั่วในโรงงานของบริษัทเอบีซี มีผู้เข้ารับการตรวจรักษาด้วยอาการไอจาม คันจมูก คันคอ หายใจไม่ออก รวม 126 ราย ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นและกลับบ้านได้แล้วเกือบทั้งหมด

โทลูอีน เป็นสารละลาย (Solvent) ที่ใช้กันทั่วไป เป็นของเหลวใส ละลายได้ในน้ำ มีกลิ่นเหมือนน้ำมันทินเนอร์ (Thinner) ที่ใช้ละลายสี เป็นอนุพันธ์ของเบนซีน (Benzene) ส่วนใหญ่ใช้ในอุตสาหกรรม เป็นตัวยาแนวซีลีโคน (Silicone sealant) ตัวทำปฏิกิริยาเคมี (Chemical reactant) หมึกพิมพ์ กาว (Adhesive) และสารเคลือบ (Lacquer)

ในทางเคมี โทลูอีนเป็นสารประกอบของน้ำและคาร์บอนที่มีกลิ่นหอม (Aromatic hydrocarbon) ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบป้อนเข้าเครื่อจักร ในโรงงานอุตสาหกรรม (Feedstock) เช่นเดียวกับสารละลายอื่นๆ โทลูอีนอาจใช้เป็นสารสูดดม (Inhalant) ที่มีคุณสมบัติทำให้เกิดความมึนเมา (Intoxicating)

อย่างไรก็ตาม การสูดดมโทลูอีนอาจเป็นสาเหตุของอันตรายร้ายแรงต่อระบบประสาท (Neurological harm) นอกจากนี้ โทลูอียังเป็นสารละลายสำคัญที่สามารถละลายในสารเคมีอนินทรีย์ (Inorganic) ที่สังเกตเห็นได้ชัด เช่น ธาตุกำมะถัน (Sulfur) ซึ่งใช้ในการผลิตดินระเบิด ไม้ขีดไฟ ยางรถยนต์ ฯลฯ

เราสามารถใช้สารโทลูอีนเป็นตัวขยายค่าออกเทน (Octane) ของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในเครื่องยนต์เผาไหม้ภายใน (Internal combustion engine) ในทางการแพทย์ เช่น ยาฆ่าเชื้อโรค (Disinfectant) หรือในการทดลองทางชีวเคมี เช่น ใช้แยกเซลล์เม็ดเลือดแดง เพื่อสกัดสารสีแดง/ฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) จากเม็ดเลือดแดง

เมื่อเร็วๆนี้ โทลูอีนเพิ่งถูกใช้เป็นส่วนผสมของน้ำมันเครื่องบินเจ็ท (Jet) เนื่องจากมีคุณสมบัติเป็นสารประกอบอนุพันธ์เบนซีน นอกจากนี้ โทลูอีนก็ยังถูกใช้เป็นน้ำยาระบายความร้อน ในระบบทำปฏิกิริยานิวเคลียร์ และในกระบวนการขจัดโคเคน (Cocaine) ออกจากใบของต้นโคคา (Coca) ที่ใช้ในการผลิตหัวเชื้อน้ำดื่มโคคา-โคลา (Coca-Cola)

แม้จะมีประโยชน์มากมาย แต่โทลูอีนก็มีโทษต่อสุขภาพไม่น้อย ไม่ควรสูดดมสารโทลูอีน เพราะการสูดดมเพียงเล็กน้อยถึงปานกลางอาจก่อให้เกิดความเหนื่อยล้า อาการสับสน (Confusion) อ่อนเพลีย มีอาการมึนเมา สูญเสียความจำ (Memory loss) คลื่นเหียน (Nausea) เบื่ออาหาร (Appetite loss) สูญเสียการได้ยิน (Hearing loss) และการรับรู้สี (Color vision loss) แต่เมื่อเลิกสัมผัส อาการเหล่านี้ก็จะค่อยๆหายไป

การสูดดม (Inhaling) โทลูอีนในปริมาณมากอย่างรวดเร็ว อาจทำให้เกิดอาการ มึนงง ล่องลอย คลื่นเหียน หรือง่วงนอน รวมทั้งทำให้หมดสติจนถึงเสียชีวิตได้ แต่ก็มีพิษน้อยกว่าเบ็นซิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง (Carcinogen) มากกว่าโทลูอีนที่ใช้เป็นสารละลายกลิ่นหอม (Aromatic solvent) ในอุตสาหกรรมเคมี

แหล่งข้อมูล:

  1. “รมช.สธ.” เผยเหยื่อโรงงานระยองบึ้ม นอนโรงพยาบาล 35 รายปลอดภัย-ระดมแพทย์เคลื่อนที่ช่วยประชาชน http://manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9550000056260 [2012, May 12].
  2. Toluene. http://en.wikipedia.org/wiki/Toluene [2012, May 12].