หยุดบุหรี่ หยุดเสี่ยง (ตอนที่ 2)

สารนิโคตินเป็นสารที่พบในยาสูบทั่วไป เป็นสารเสพติดเช่นเดียวกับเฮโรอีนหรือโคเคน เมื่อมีการสูบบุหรี่ นิโคตินจะสูดลึกเข้าไปในปอด แล้วดูดซึมอย่างรวดเร็วเข้าสู่กระแสเลือดไปทั่วร่างกาย ซึ่งความเป็นจริงก็คือ นิโคตินสามารถเข้าสู่สมองได้เร็วกว่าการฉีดยาเข้าเส้นเลือดเสียอีก

นิโคตินมีผลกระทบต่อทุกส่วนของร่างกาย รวมถึงหัวใจ หลอดเลือด ฮอร์โมน การเผาผลาญในร่างกาย (Metabolism) และสมอง นอกจากนี้ยังสามารถพบนิโคตินในนมแม่ (Breast milk) และเมือกที่ปากมดลูดของผู้หญิงที่สูบบุหรี่ด้วย ในระหว่างตั้งครรภ์นิโคตินจะซึมผ่านรก โดยมีการพบนิโคตินในน้ำคร่ำ (Amniotic fluid) และสายสะดือ (Umbilical cord blood) ของเด็กแรกเกิด

นักสูบบุหรี่จะสูบบุหรี่มากขึ้นเมื่อระบบประสาท (Nervous system) เข้าได้ดีกับนิโคติน หรือมีจำนวนนิโคตินในเลือดมากขึ้น เมื่อสูบไปเรื่อยๆ อำนาจในการต้านฤทธิ์นิโคตินจะมากขึ้น ทำให้มีการสูบมากขึ้นไปอีกจนถึงระดับที่รู้สึกสบาย หลังสูบบุหรี่เสร็จระดับนิโคตินในร่างกายจะเริ่มตกลง และนักสูบบุหรี่ก็จะเกิดความอยากสูบอีก หากไม่ได้สนองความอยากก็จะรู้สึกหงุดหงิด กระสับกระส่าย ไม่สบาย แต่ถ้าได้สูบอีกอาการต่างๆ ก็จะหายไป แล้วก็เป็นวัฏจักรไปเรื่อยๆ

การพยายามลดหรือเลิกสูบบุหรี่ทำให้สารนิโคตินน้อยลงและทำให้เกิดอาการอยากบุหรี่ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ อาการอยากมักเริ่มขึ้นหลังจากสูบบุหรี่ไปแล้ว 2-3 ชั่วโมง จนถึง 2-3 วัน หรือหลายสัปดาห์ โดยอาการดังกล่าว (Withdrawal symptoms) รวมถึง

  • เวียนศีรษะ (Dizziness) ซึ่งมักจะเป็นระยะเวลา 1-2 วันหลังการเลิก
  • หดหู่ซึมเศร้า (Depression)
  • รู้สึกขัดข้องใจ ร้อนรน โกรธง่าย
  • วิตกกังวล (Anxiety)
  • หงุดหงิดฉุนเฉียว (Irritability)
  • มีปัญหาเรื่องการนอน ง่วงนอน และฝันร้าย
  • ไม่มีสมาธิ
  • ทุรนทุราย (Restlessness)
  • อยากอาหาร
  • น้ำหนักเพิ่ม
  • ท้องผูกและมีลมในกระเพาะ
  • ไอ ปากแห้ง เจ็บคอ
  • แน่นหน้าอก (Chest tightness)
  • หัวใจเต้นช้าลง (Slower heart rate)

แหล่งข้อมูล:

  1. What do I need to know about quitting? http://www.cancer.org/healthy/stayawayfromtobacco/guidetoquittingsmoking/guide-to-quitting-smoking-why-so-hard-to-quit [2014, February 2].