หมอนรองกระดูกเคลื่อน มาเยือนคุณหรือยัง? (ตอนที่ 6 และตอนจบ)

เนื่องจากการผ่าตัดรักษาโรคของหมอนรองกระดูกมีความเสี่ยง เพราะฉะนั้นก่อนการผ่าตัดควรคำนึงถึงองค์ประกอบต่อไปนี้ด้วย

  • ผู้ที่มีอาการปานกลางถึงอาการรุนแรง (ไม่สามารถทำงานหรือทำกิจกรรมปกติได้ และต้องรับยาแก้ปวดชนิดแรง) อาจได้ประโยชน์จากการผ่าตัด โดยผู้ที่ได้รับการผ่าตัดอาจรู้สึกดีขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ในระยะยาวผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดและผู้ที่ไม่ได้รับการผ่าตัดจะสามารถทำงานหรือกิจกรรมได้พอๆ กัน
  • ผู้ที่มีอาการปานกลางก็มีแนวโน้มที่ดีได้แม้ไม่ได้รับการผ่าตัด
  • บางคนอาจต้องผ่าตัดซ้ำหลังการผ่าตัดครั้งแรก
  • ศัลยแพทย์อาจมีการใช้เทคนิคการกรีดหรือการฉีดเพื่อทำลายหมอนรองกระดูก เช่น การผ่าแบบ Endoscopic discectomy และแบบ Electrothermal disc decompression ซึ่งผลยังอยู่ระหว่างการศึกษา และยังไม่เป็นที่ยอมรับ ดังนั้นควรขอความเห็นเพิ่ม (Second opinion)

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันกำลังมีการศึกษาเรื่อง การใช้การบำบัดด้วยเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell therapy) ในการรักษาอาการหมอนรองกระดูกเคลื่อนอยู่ ดังนั้นในอนาคตเราอาจมีทางเลือกในการรักษามากเพิ่มขึ้นก็ได้

ปัจจัยเสี่ยงในการก่อให้เกิดอาการหมอนรองกระดูกเคลื่อนมีหลายอย่าง ทั้งที่เราควบคุมไม่ได้และที่ป้องกันได้ โดยสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ แต่ควรรู้ไว้เพื่อเตรียมตัวรับสถานการณ์นั้นรวมถึง

  • การมีอายุที่มากขึ้น มักทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับหลังส่วนล่าง โดยเฉพาะตอนเริ่มวัยกลางคน
  • ผู้ชายมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้หญิง
  • มีประวัติการได้รับบาดเจ็บที่หลัง หรือเคยผ่าตัดหลัง

ทางที่ดีที่สุดก็คือ เราควรป้องกันการปวดหลังหรืออาการหมอนรองกระดูกเคลื่อนได้โดย

  • ลดงานหรือกิจกรรมที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดหมอนรองกระดูกเคลื่อน เช่น การนั่งเป็นเวลานาน การยกหรือลากของหนัก การก้มหรือหมุนตัว การทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมาก การใช้หลังทำท่าซ้ำๆ หรือการสั่นสะเทือนที่ต่อเนื่องเป็นเวลานาน (เช่น การขับรถ)
  • รักษาน้ำหนักตัวให้พอดี การมีน้ำหนักตัวเกิน/โรคอ้วนโดยเฉพาะในส่วนหน้าท้อง อาจเพิ่มความตึงในหลังส่วนล่าง ซึ่งสามารถทำให้ปวดหลังได้
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรงและมีความยืดหยุ่น
  • ไม่สูบบุหรี่ เพราะสารนิโคตินและพิษจากยาสูบสามารถทำลายร่างกายได้ โดยสารนิโคตินจะลดความสามารถในการดูดซึมสารอาหารของหมอนรองกระดูก ทำให้หมอนรองกระดูกแห้งและเปราะได้ง่าย
  • อยู่ในท่าทางที่ถูกต้องเพื่อลดการกดทับของหลัง
    • ใช้ท่ายืนหรือท่าเดินที่ถูกต้อง รักษาไหล่ให้ตรง หลังตรง
    • นั่งในท่าที่เป็นกลาง (Neutral position) กล่าวคือ ให้กระดูกสันหลังอยู่ในรูปตัว S โดยใช้หมอนเล็กๆ หรือผ้าเช็ดตัวม้วนไว้หนุนหลังส่วนล่าง
    • พยายามนอนในท่าที่เป็นกลาง อาจใช้ผ้าเช็ดตัวม้วนเพื่อหนุนหลังส่วนล่างหรือวางหมอนไว้ใต้เข่า
    • ยกของในท่าทางที่ถูกต้อง กล่าวคือ ยกของโดยนั่งยองๆ ย่อเข่าลง และใช้ขาดันตัวขึ้น

แหล่งข้อมูล:

  1. Spinal disc herniation. http://en.wikipedia.org/wiki/Herniated_nucleus_pulposus [2012, August 1].
  2. Herniated Disc – Surgery. http://www.webmd.com/back-pain/tc/herniated-disc-surgery [2012, August 1].
  3. Herniated Disc – Prevention. http://www.webmd.com/back-pain/tc/herniated-disc-prevention [2012, August 1].
  4. Herniated Disc - What Increases Your Risk. http://www.webmd.com/back-pain/tc/herniated-disc-what-increases-your-risk [2012, August 1].