หมอนรองกระดูกเคลื่อน มาเยือนคุณหรือยัง? (ตอนที่ 4)

แพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนโดยดูจากประวัติอาการของผู้ป่วย และการตรวจร่างกาย บางขั้นตอนของการวินิจฉัยอาจมีการทดสอบเพื่อให้แน่ใจถึงสาเหตุของอาการนั้นๆ เช่น กระดูกสันหลังเคลื่อน (Spondylolisthesis) กระดูกสันหลังเสื่อม (Degeneration) เนื้องอก (Tumors) การแพร่กระจายของเนื้อร้าย (Metastases) เช่นเดียวกับการประเมินผลทางเลือกในการรักษาให้มีประสิทธิภาพที่สุด

การตรวจสอบทางกายภาพ (Physical examination) ว่าหมอนรองกระดูกเคลื่อนหรือไม่ ทำได้โดยการนอนแล้วยกขาสูงโดยให้เข่าตรง (The Straight leg raise : SLR) ถ้ายกขาสูงระหว่าง 30 – 70 องศา แล้วผู้ป่วยมีอาการปวดหลัง แสดงว่าผลการทดสอบเป็นบวก (Positive) กล่าวคือ น่าจะมีสาเหตุมาจากหมอนรองกระดูกเคลื่อน

แม้ว่าเอกซเรย์ (X-ray) กระดูกส่วนที่ก่อให้เกิดอาการ จะมีข้อจำกัดในการดูเนื้อเยื่อของหมอนรองกระดูก กล้ามเนื้อ และเส้นประสาท แต่การ เอกซเรย์ ยังคงเป็นวิธีที่ใช้ยืนยันว่า ไม่ใช่อาการที่เกิดจากเนื้องอก การติดเชื้อ กระดูกหัก หรืออื่นๆ และยังเป็นวิธีที่เสียค่าใช้จ่ายไม่แพงนักในการขจัดข้อสงสัยว่า จะเป็นอาการหมอนรองกระดูกเคลื่อนหรือไม่ ถ้าผลเอกซเรย์ ยืนยันว่าใช่ จะได้ใช้วิธีการตรวจอย่างอื่นให้แน่ใจอีกครั้ง

การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ ซีทีสแกน (CT Scan = Computed tomography scan) สามารถแสดงรูปร่างและขนาดของช่องไขสันหลัง รวมถึงสิ่งที่อยู่ในช่องกระดูกสันหลังและบริเวณรอบๆ ได้ เช่น เนื้อเยื่อ เป็นต้น อย่างไรก็ดี การยืนยันว่าหมอนรองกระดูกเคลื่อนโดยการดูจากเครื่องซีทีสแกนก็ยังทำได้ยาก

การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ เอมอาร์ไอ (MRI = Magnetic resonance imaging) เป็นการดูภาพโครงสร้างของร่างกายด้วยภาพ 3 มิติ ทำให้เห็นถึงช่องไขสันหลัง รากเส้นประสาทประสาท และบริเวณโดยรอบ รวมถึงการขยาย การเสื่อมสภาพ และก้อนเนื้องอก แสดงให้เห็นถึงเนื้อเยื่ออ่อนได้ดีกว่าการตรวจด้วยซีทีสแกน การตรวจด้วยเอมอาร์ไอสามารถใช้วินิจฉัยอาการหมอนรองกระดูกเคลื่อนได้ดีที่สุด

การฉีดสีเพื่อตรวจระบบไขสันหลัง (Myelography) เป็นการตรวจระบบไขสันหลัง โดยการฉีดสี (สารทึบรังสี) เข้าไปในช่องน้ำไขสันหลัง และถ่ายภาพเอกซเรย์ไขสันหลังเพื่อหาความผิดปกติของระบบไขสันหลัง การตรวจชนิดนี้ สามารถแสดงภาพของสิ่งที่กดทับกระดูกสันหลังหรือเส้นประสาท เช่น หมอนรองกระดูกเคลื่อน ก้อนเนื้องอก หรือ กระดูกงอก (Bone spurs) นอกจากนี้การตรวจด้วยวิธีนี้ยังใช้แสดงบริเวณรอยโรคได้เป็นอย่างดีเมื่อใช้ตรวจควบคู่กับการตรวจซีทีสแกน

การวัดคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (EMG = Electromyogram) และการตรวจการชักนำประสาท (NCS = Nerveconductionstudies) ใช้วัดกระแสไฟฟ้าที่อยู่ตามรากประสาท (Nerve roots) ประสาทส่วนปลาย (Peripheral nerves) และเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อว่าถูกทำลายหรือไม่ ถ้าเส้นประสาทอยู่ในระหว่างการรักษาจากการบาดเจ็บที่ผ่านมา หรือมีการกดทับเส้นประสาทอีกด้านหนึ่ง การตรวจด้วยวิธีนี้จะแสดงตำแหน่งที่ประสาทไขสันหลังทำงานผิดปกติได้

ในหลายกรณี การรักษาอาการหมอนรองกระดูกเคลื่อนไม่จำเป็นต้องใช้การผ่าตัดเสมอไป จากศึกษาเส้นประสาทไซอาติก (Sciatic) ที่สามารถเป็นสาเหตุของหมอนรองกระดูกเคลื่อนพบว่า หลัง 12 สัปดาห์ ผู้ป่วยร้อยละ 73 มีการพัฒนาที่ดีขึ้นโดยไม่ต้องผ่าตัด อย่างไรก็ดี การศึกษานี้ไม่ได้ระบุว่าในกลุ่มที่ศึกษามีจำนวนผู้ป่วยกี่รายที่มีอาการหมอนรองกระดูกเคลื่อนที่มีสาเหตุมาจากเส้นประสาทไซอาติก

แหล่งข้อมูล:

  1. Spinal disc herniation http://en.wikipedia.org/wiki/Herniated_nucleus_pulposus [2012, July 30].
  2. Straight leg raise. http://en.wikipedia.org/wiki/Straight_leg_raise [2012, July 30].