หนูไม่อยากเป็นเด็กแอลดี (ตอนที่ 2)

พญ. อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวต่อไปว่า เมื่อได้สัมผัสกับเด็กจริงๆ เราจะรู้ว่า เด็กเหล่านี้มีไหวพริบดี โดยเฉพาะทักษะเอาตัวรอด (โกหก) ถามว่าเด็กเหล่านี้สร้างปัญหามากหรือไม่ ต้องบอกว่า "น้อย" แต่เวลาที่ผู้ปกครองพามาหาหมอ เด็กๆ ก็มักจะมีอาการ "ทับซ้อน" ของโรค เสียแล้ว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านอารมณ์ หรือปัญหาเรื่องเพศ

ดังนั้น ถ้าเด็กๆ LD เติบโตขึ้นมาอย่างไม่มีใครเข้าใจหรือใส่ใจ ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงที่พวกเขาจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมมากกว่าเด็กอื่นๆ เพราะจริงๆ แล้วเด็กเหล่านี้มีสติปัญญาดี เพียงแต่ไม่สามารถเลือกใช้ให้ถูกทาง พวกเขาจึงต้องการการดูแลและให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ก่อนที่จะไปสร้างปัญหาอื่นๆ ให้กับสังคมและครอบครัว

ความบกพร่องทางการเรียนรู้อาจเกิดขึ้นได้ใน 4 ขั้นตอนของกระบวนการรับรู้ข้อมูล (Information processing) ได้แก่ 1. การป้อนข้อมูลเข้า (Input) 2. การผสมผสานข้อมูล (Integration) 3. การเก็บข้อมูล (Storage) และ 4. ข้อมูลที่ส่งออก (Output)

  • การป้อนข้อมูลเข้า (Input) เป็นการรับรู้ข้อมูลโดยผ่านประสาทการรับรู้ เช่น การเห็นและการได้ยิน ความลำบากในการเห็นทำให้เกิดปัญหาในการรับรู้เรื่องของรูปร่าง ตำแหน่ง และขนาด

    ทั้งยังอาจทำให้เกิดปัญหาในการเรียงลำดับ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความล่าช้าในการประมวลผลหรือขาดการรับรู้ชั่วคราว ความลำบากในการได้ยินสามารถทำให้เกิดปัญหาในการแยกเสียง เด็กบางคนอาจจะไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยการสัมผัส เช่น บางคนอาจจะไม่มีความรู้สึกต่อความเจ็บปวด เป็นต้น

  • การผสมผสานข้อมูล (Integration) เป็นขั้นตอนของการแปรข้อมูล การจัดชนิด การเรียงลำดับ หรือการเชื่อมกับสิ่งที่เคยเรียนรู้มาก่อน

    เด็กที่มีปัญหาระดับนี้จะไม่สามารถเล่าเรื่องให้ถูกต้องตามลำดับได้ ไม่สามารถจดจำลำดับของข้อมูล เช่น วันในสัปดาห์ สามารถเข้าใจเรื่องใหม่แต่ไม่สามารถที่จะเชื่อมกับการเรียนรู้ด้านอื่นได้ หรือสามารถที่จะเรียนรู้ความจริงแต่ไม่สามารถนำความจริงมารวมกันให้เป็นภาพใหญ่ได้ ความลำบากในการใช้ศัพท์ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องความเข้าใจได้

  • การเก็บข้อมูล (Storage) ปัญหาในเรื่องความจำอาจเกิดขึ้นทั้งความจำระยะสั้นหรือความจำระยะยาว แต่ส่วนใหญ่เกิดกับความจำระยะสั้นซึ่งทำให้เกิดความยากในการเรียนรู้สิ่งใหม่หากไม่มีการย้ำหลายๆ ครั้ง ปัญหาในเรื่องความจำของการเห็นสามารถเป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ที่จะสะกดคำ
  • ข้อมูลที่ส่งออก (Output) ออกมาจากสมองทั้งในรูปของคำพูด ภาษา หรือ การกระทำ เช่น ท่าทาง การเขียน หรือการวาดรูป ความลำบากของภาษาที่แสดงออกสามารถทำให้เกิดปัญหาในการพูดจา เช่น การตอบคำถาม ซึ่งต้องมีการนำข้อมูลออกจากความจำ จัดเรียงความคิด และแปรมาเป็นคำก่อนที่จะพูดออกไปหรือเขียนออกมาเป็นภาษาเขียน

    ความสามารถในการสั่งการ (Motor abilities) ก็สามารถทำให้เกิดปัญหาด้านการเคลื่อนไหวด้วย เช่น อาการซุ่มซ่าม มีแนวโน้มที่จะเดินโขยกเขยก หกล้ม หรือชนกับสิ่งของ ทั้งยังอาจมีปัญหาในการวิ่ง การปีน หรือการเรียนรู้ที่จะขี่จักรยาน คนที่มีปัญหาเกี่ยวกับการสั่งการนี้อาจจะมีปัญหาในการติดกระดุม ผูกเชือกรองเท้า หรือการเขียนด้วย

แหล่งข้อมูล:

  1. ประกวดสื่อหนังสือเด็ก LD ครั้งที่ 2 ชิงเงินรวม 150,000 บาท - http://www.naewna.com/local/62146 [2013, September 5].
  2. Learning disability. http://en.wikipedia.org/wiki/Learning_disability [2013, September 5].