หนูไม่อยากเป็นเด็กแอลดี (ตอนที่ 1)

คงเคยได้ยินคำกล่าวของนักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะระดับโลกอย่างอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่ว่า “ถ้าอยากให้เด็กๆ ฉลาด ก็อ่านนิทานให้เขาฟัง แล้วถ้าอยากให้พวกเขาฉลาดกันมากขึ้น ก็อ่านนิทานให้เขาฟังกันมากขึ้น" คำกล่าวนี้น่าจะบ่งบอกได้ชัดเจนว่า การอ่านมีประโยชน์กับพัฒนาการของเด็กๆ มากเพียงใด

ดังนั้น แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านจึงเกิดขึ้นโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี, ศูนย์วิจัยการศึกษาเพื่อเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ, โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ, กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และ สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร จึงได้จัดการประกวดหนังสือสำหรับเด็ก LD ประจำปี 2556 เพื่อร่วมสร้าง "สื่อ" การเรียนรู้คุณภาพให้กับเด็กที่มีภาวะบกพร่องของกระบวนการเรียนรู้ ให้เด็กๆ กลับมามีความสุขในการเรียนอีกครั้งหนึ่ง

โรคบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disabilities = LD) หรือ โรคแอลดี เป็นความบกพร่องในทักษะการเรียนรู้เฉพาะด้าน เกิดจากระบบสมองส่วนกลางผิดปกติ เป็นการมีปัญหาในด้านวิชาการ เช่น การพูด การอ่าน การเขียน การสะกดคำ หรือการคำนวณ

แม้ว่าความบกพร่องทางการเรียนรู้จะเป็นสิ่งที่ติดตัวไปตลอดชีวิต แต่การให้การช่วยเหลือหรือส่งเสริมด้านการเรียนรู้ก็อาจช่วยลบปมนี้ได้ ครู ผู้ปกครอง และโรงเรียน สามารถที่จะสร้างแผนการเรียนร่วมกันได้เพื่อช่วยให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้เองโดยอิสระ

พญ. พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์และทิศทางสื่ออ่านสำหรับเด็ก LD ในสังคมไทยว่า หนังสือมีความสำคัญสำหรับเด็กๆ ทุกคน ไม่เว้นแม้แต่เด็ก LD ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการสำรวจจำนวนเด็ก LD อย่างเป็นทางการ แต่คาดว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 - 10 ของเด็กตั้งแรกเกิด – 15 ปี

โดยเด็กๆ กลุ่มนี้ จะมีกระบวนการจัดการข้อมูลด้านใดด้านหนึ่งที่พลาดไป ไม่สามารถทำได้อย่างเพื่อนวัยเดียวกัน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า "เขาทำไม่ได้" เขาแค่มีวิธีที่แตกต่างจากเด็กคนอื่นก็เท่านั้นเอง ตรงนี้จึงเป็นเรื่องของโอกาส ซึ่งหากเราไม่ทำอะไร แล้วปล่อยให้เขาใช้ความพยายามโดยลำพัง จนถึงวันที่เขาพบว่าห้องเรียนไม่สนุก การเรียนก็ไม่สนุก กระบวนการทางจิตวิทยาจะทำให้เขารู้สึกตัวเองว่า "เขาทำไม่ได้"

พญ. พรรณพิมล กล่าวอีกว่า ถ้าเราทำให้เขาเกิดความรู้สึกว่า เขาทำไม่ได้ตั้งแต่อายุยังน้อย เขาจะยุติการเรียนรู้อะไรอีกหลายๆ อย่างในชีวิต แต่ถ้าเราร่วมกันสร้างโอกาสให้เขาเพิ่มขึ้น ด้วย "ความเข้าใจ" ในความแตกต่างที่เขามี ก็เท่ากับว่าเรากำลังทำให้เด็กๆ กลุ่มนี้ มีโอกาสที่จะมีความสุขกับการเติบโต และการเรียนรู้ อันจะเป็นประโยชน์กับอนาคตของพวกเขาอย่างยิ่งยวด

ด้าน พญ. อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล ให้ข้อมูลการรักษาภาวะเด็ก LD ว่า เมื่อเทียบอัตราส่วนของเด็ก LD กับจำนวนเด็กทั้งหมด แม้จะมีจำนวนไม่มาก แต่ในจำนวนไม่มากนี้เอง กลับมีเด็กที่เดินเข้ามาเพื่อขอรับการรักษาน้อยยิ่งกว่า และเข้ามาด้วยความเข้าใจผิดของผู้ปกครองว่า "ลูกไม่ตั้งใจเรียน"

แหล่งข้อมูล:

  1. ประกวดสื่อหนังสือเด็ก LD ครั้งที่ 2 ชิงเงินรวม 150,000 บาท - http://www.naewna.com/local/62146 [2013, September 4].
  2. Learning disability. http://en.wikipedia.org/wiki/Learning_disability [2013, September 4].