หนทางป้องกัน ไขมันในเลือดสูง

อนุสนธิข่าว จากเมื่อวานนี้ นพ. ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยังกล่าวถึงการที่กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ทุกจังหวัดรณรงค์ ในการตรวจคัดกรองสุขภาพประชาชน ที่อายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศในปี พ.ศ. 2553 ซึ่งพบว่า มีผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวานรวม 4 ล้านกว่าคน นอกจากนี้ ยังพบผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงอีกกว่า 8 ล้านคน

ภาวะไขมันในเลือดสูง (Hyperlipidemia) เป็นความผิดปกติที่พบมากขึ้นในหมู่คนไทย ที่ดำเนินชีวิตคล้ายกับชาวตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากสาเหตุทางด้านกรรมพันธุ์แล้ว ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่จะทำให้เกิดภาวะดังกล่าว ได้แก่ การกินอาหารที่มีไขมันสูง (โดยเฉพาะไขมันจากสัตว์) การที่มีอายุมากขึ้น การขาดการออกกำลังกาย และการดื่มแอลกอฮอล์และ/หรือการสูบบุหรี่เป็นประจำ

ทางการแพทย์ได้แบ่งไขมันในเลือดออกเป็น 2 ชนิดกล่าวคือ คอเลสเตอรอล (Cholesterol) และไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides) ซึ่งจะอยู่ในรูปของโครงสร้างพิเศษที่ขนถ่ายไขมันทั้งสองตัว จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง เรียกว่า ไลโปโปรตีน (Lipoprotein) ซึ่งมีหลายชนิด แต่ที่สำคัญๆ มี 2 ชนิด อันได้แก่ คอเลสเตอรอลชนิดให้โทษ (Low -density lipoprotein : LDL) และคอเลสเตอรอลชนิดให้คุณ (High -density lipoprotein : HDL)

ภาวะไขมันในเลือดสูงนั้น เกิดจากภาวะที่เลือดมี LDL สูงและมี HDL ต่ำ ความผิดปรกตินี้จะนำไปสู่ การเกิดหลอดเลือดแดงแข็งและตีบแคบ โดยเฉพาะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจและสมอง ทำให้มีความเสี่ยงสูงของการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งก่อให้เกิดอัมพฤกษ์ หรืออัมพาต และอาจเป็นอันตรายจนเสียชีวิตได้

การรักษาในเบื้องต้น แพทย์จะแนะวิธีที่ไม่ต้องใช้ยา โดยการควบคุมอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง อาทิ การหลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงด้วยน้ำมันจากสัตว์ แต่ใช้น้ำมันจากพืชแทนน้ำมันจากสัตว์ อันได้แก่ น้ำมันถั่วเหลือง ซึ่งจะมีกรดที่เป็นตัวนำคอเลสเตอรอลไปเผาผลาญ นอกจากนี้ ยังต้องหลีกเลี่ยงเครื่องในสัตว์ ไข่แดง หอยนางรม ปลาหมึก กุ้ง หนังเป็ดและหนังไก่ แต่ถ้าผู้ป่วยมีไตรกลีเซอไรด์สูงด้วย ก็ต้องระมัดระวังอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล เครื่องดื่มที่มีรสหวาน รวมทั้งผลไม้รสหวานจัด

ส่วนอาหารที่แนะนำให้รับประทาน จะเป็นประเภทเนื้อปลา เนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน และนมพร่องมันเนย รวมทั้งผักต่างๆ และผลไม้บางชนิดที่ให้เส้นใยและกาก อาทิ คะน้า ฝรั่ง ส้ม และเม็ดแมงลัก เพื่อให้ร่างกายได้รับกากใยมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการดูดซึมของไขมันสู่ร่างกายให้น้อยลง

นอกจากนี้ยังต้อง หลีกเลี่ยงการดื่มเหล้าเบียร์ เพราะแอลกอฮอล์ทำให้มีการสะสมไขมันตามเนื้อเยื่อเพิ่มขึ้น และให้งดสูบบุรี่ เพราะบุหรี่จะทำให้ HDL ในเลือดต่ำลง แล้วยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ/โรคหัวใจขาดเลือด ส่วนการออกกำลังกายที่ดี อาทิ การเดินเร็ว เต้นแอโรบิก ขี่จักรยาน อย่างต่อเนื่องสัปดาห์ละ 3 – 4 ครั้ง ครั้งละ 20 – 30 นาที จะช่วยลดปริมาณไขมันในเลือดลง ในขณะเดียวกันก็เพิ่มระดับของ HDL อีกด้วย

การใช้ยาในการรักษาแบ่งออกเป็นกลุ่มต่างๆ แล้วแต่กรณี แพทย์มักให้ยากลุ่ม Statin เพื่อลดความเสี่ยงเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ ถ้าระดับไตรกลีเซอไรด์สูงขึ้นมาก แพทย์ก็มักจะให้ยากลุ่ม Fibrate เนื่องจากคุณประโยชน์ของตัวยา การใช้กลุ่มยาทั้งสองร่วมกัน แม้จะได้ผลดี แต่จะเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้เส้นใยกล้ามเนื้ออ่อนแอ (Myopathy) จึงต้องได้รับการดูแลอย่างไกล้ชิดจากแพทย์ นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม Fenofibrate เพื่อแก้ปัญหาในการเกิดโรคมะเร็ง ยากลุ่มนี้จะต้องอาศัยเอนไซม์ และความสามารถของตับในการแปรรูปยาให้อยู่ในสภาพทำงานได้ (Active form)

แหล่งข้อมูล:

  1. ผู้ป่วยเบาหวาน-ความดันสูง-ไขมันสูง เลี่ยงดื่มของมึนเมา เสี่ยงเส้นเลือดสมองแตก http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000166810 [2011, January 5].
  2. ภาวะไขมันในเลือดสูง http://th.wikipedia.org/wiki/ไขมันในเลือดสูง [2012, January 5].
  3. Hyperlipidemia. http://en.wikipedia.org/wiki/Hyperlipidemia [2012, January 5].