หญ้าหยาดน้ำค้าง ไฟไหม้ฟางเส้นใหม่ (ของวงการสุขภาพไทย)

ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 9 มีนาคมว่า มีชาวบ้านพากันมาเก็บหญ้าหยาดน้ำค้างจำนวนมากที่ จังหวัดกำแพงเพชร โดยมีหญิงวัย 56 ปีเปิดเผยว่าป่วยเป็นมะเร็งเต้านมและโรคมะเร็งทรวงอก อาการหนัก จนผมร่วงเกือบหมดศีรษะ เจ็บปวดมาก ถึงขั้นเตรียมตัวเตรียมใจพร้อมตายแล้ว แต่เมื่ออธิษฐานขอให้หายเจ็บป่วย ก็ได้ยาผีบอกมาในสมาธิ คือหญ้าหยาดน้ำค้าง ให้นำมาตากแดดแล้วชงดื่ม ขณะนี้อาการดีขึ้นร่างกายแข็งแรง ผมดกดำเต็มศีรษะ

ข่าวดังกล่าวกลายเป็นข่าวดังในสื่อทุกประเภทอยู่ในขณะนี้ ว่าหญ้าหยาดน้ำค้างนี้รักษาได้สารพัดโรค ทั้งอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ตามข้อ ปวดกระดูก โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง จนชาวบ้านพากันไปเก็บหรือซื้อหามารับประทานเป็นจำนวนมาก

การรักษาด้วยพืช (Phytotherapy) เป็นการศึกษาถึงการสกัดจากพืชธรรมชาติ อีกคำที่เราคุ้นหูและใช้แทนกันได้คือพืชสมุนไพร (Herbalism) หรือยาทางเลือก โดยมีวัตถุประสงค์ในการบำรุงสุขภาพหรือรักษาความเจ็บป่วยนั่นเอง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มักเป็นปัญหาในยาสมุนไพรคือเรื่องของมาตรฐาน ที่จะต้องให้ได้ความเข้มข้นตามที่ระบุ มักเป็นเรื่องยาก

ความเข้มข้นของสารประกอบบางตัวก็มีผลทำให้การวัดค่าการออกฤทธิ์คลาดเคลื่อนไป เช่นปัจจัยร่วมบางอย่างที่ขาดหายไป ปัญหาอีกประการคือไม่ทราบสารประกอบสำคัญบางตัว ผู้ผลิตใช้สารออกฤทธิ์ที่ต่างกันในตัวยาเดียวกัน บางรายใช้มาตรฐานระดับที่ต่างกันของสารออกฤทธิ์ตัวเดียวกัน นับได้ว่ายังไม่มีมาตรฐานที่ใช้ร่วมกันอย่างจริงจัง แต่ละบริษัทก็ตั้งมาตรฐานของตน

David Winston ผู้ผลิตยาสมุนไพรได้เปิดเผยว่า มีโอกาสสูงมากที่ผู้ผลิตจะทำการผสมพืชที่มีฤทธิ์น้อยกว่ามาตรฐานที่ต้องการกับพืชที่ออกฤทธิ์เกินมาตรฐาน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ค่าความเข้มข้นที่ต้องการ คุณภาพของยาสมุนไพรขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่นสายพันธุ์ ภาวะดิน แดด และอากาศที่ปลูกพืช รวมถึงระยะเก็บพืช ขั้นตอนก่อนปลูก การเก็บรักษาตัวยาสมุนไพร

คุณภาพของยาสมุนไพรมักถูกกำหนดด้วยคุณภาพทางประสาทสัมผัส เช่นรส สี กลิ่น และความเข้มข้นของยา การปนเปื้อน และปริมาณการใช้ที่มากเกินไป การไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้ยาสมุนไพรก็มักเป็นผลเสีย ในบางกรณีอาจถึงชีวิตได้ ยาสมุนไพรบางชนิดก็ทำปฏิกิริยากับยาสังเคราะห์ อาจก่อให้เกิดพิษในตัวผู้ป่วย

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้ ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และ สำนักการแพทย์พื้นบ้าน แถลงข่าวผลการตรวจสอบหญ้าหยาดน้ำค้างภายหลังออกสื่อไปทั่วประเทศว่า หญ้าหยาดน้ำค้างเป็นผักพื้นบ้าน มีอีกชื่อว่าหญ้ากาบหอยตัวเมีย มีสรรพคุณในการฆ่าเชื้อโรค ลดไข้ คนอีสานใช้รักษากามโรค ใช้แก้กลาก เกลื้อน ฆ่าแบคทีเรีย ต้มอาบสตรีหลังคลอด แต่ไม่พบว่าสามารถรักษาโรคมะเร็งได้ เคยมีการศึกษาทดลองในประเทศเวียดนาม แต่ให้ผลได้ไม่ดี สรุปว่าไม่สามารถรักษาโรคมะเร็งได้แต่อย่างใด

และเมื่อมีความแตกตื่นต้องการมาก ก็ทำให้ราคาหญ้าหยาดน้ำค้างพุ่งสูงขึ้น ในความเป็นจริง หากต้องการรับประทานผักพื้นบ้าน หรือสมุนไพรก็มีพืชที่มีการวิจัยและรับรองแล้วถึง 30 ชนิด ว่ามีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ อย่างขมิ้นชัน หญ้าปักกิ่ง ใบยอ และมะกรูด เป็นต้น บริโภคได้อย่างปลอดภัย ถ้าไม่บริโภคมากจนเกินไป อีกทั้งยังหาได้ง่ายในราคาไม่แพง

แหล่งข้อมูล:

  1. ฮือฮา-หญ้าหยาดน้ำค้าง-รักษาได้สารพัดโรค http://news.sanook.com/1103659/ [2012, March 17].
  2. สรุป หญ้าหยาดน้ำค้างรักษามะเร็งไม่ได้ http://dailynews.co.th/politics/17387 [2012, March 17].
  3. Phytotherapy. http://en.wikipedia.org/wiki/Medicinal_plant [2012, March 17].