สไปโรโนแลคโตน (Spironolactone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

สไปโรโนแลคโตน (Spironolactone) เป็นสารสังเคราะห์ที่อยู่ในกลุ่มสเตียรอยดอล แอนไทมินเนอราโลคอร์ติคอยด์ (Steroidal antimineralocorticoid, สารต้านการออกฤทธิ์ของกลุ่มฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมน้ำและเกลือแร่ของร่างกาย/ฮอร์โมน Mineralocorticoid ที่สร้างจากต่อมหมวกไต) ถูกนำมาใช้เป็นยาขับปัสสาวะและลดความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต่อต้านแอนโดรเจนฮอร์โมน (Androgen hormone, ฮอร์โมนเพศชาย)

จากการศึกษาเรื่องเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยา เมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย) ของยาตัวนี้พบว่า หลังรับประทาน ยานี้จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดและจับกับพลาสมาโปรตีนถึงประมาณ 90% ตับจะเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยา และร่างกายต้องใช้เวลา 1.3 - 2 ชั่วโมงในการกำจัดยาออก 50% โดยผ่านไปกับน้ำปัสสาวะและอุจจาระ

องค์การอนามัยโลกจัดให้สไปโรโนแลคโตนเป็นยาจำเป็นสำหรับสาธารณสุขขั้นมูลฐานของชุมชน คณะกรรมการอาหารและยาของประเทศไทยได้บรรจุยาสไปโรโนแลคโตนอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ หมวดยาอันตราย ดังนั้นการใช้ยาที่ถูกต้อง ปลอดภัย จึงต้องอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์เท่านั้น

ยาสไปโรโนแลคโตนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

สไปโรโนแลคโตน

ยาสไปโรโนแลคโตนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ลดอาการบวมน้ำของร่างกาย
  • รักษาโรคความดันโลหิตสูง
  • รักษาภาวะหัวใจล้มเหลวขั้นรุนแรง
  • รักษาภาวะบวมน้ำจากโรคตับอักเสบ
  • เป็นยาขับปัสสาวะสำหรับผู้ที่มีระดับโพแทสเซียมในร่างกายต่ำ
  • รักษาภาวะขนดกเกิน
  • ต้านฤทธิ์ ฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน(Aldosterone, ฮอร์โมนในกลุ่มฮอร์โมน Mineralo corticoid สร้างจากต่อมหมวกไต มีหน้าที่ควบคุมสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย)

ยาสไปโรโนแลคโตนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาสไปโรโนแลคโตนมีกลไกการออกฤทธิ์ที่ไต และมีกลไกแข่งขันกับฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน (Competitive antagonist of aldosterone) ทำให้เพิ่มการขับออกจากไตของโซเดียม และน้ำ แต่มีการเก็บกลับของเกลือโพแทสเซียมคืนสู่ร่างกาย จากเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้ยามีฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ

ยาสไปโรโนแลคโตนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาสไปโรโนแลคโตนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดขนาด 25, 100 มิลลิกรัม/เม็ด

ยาสไปโรโนแลคโตนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาสไปโรโนแลคโตนมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับลดอาการบวมน้ำ (Edema): เช่น
  • ผู้ใหญ่: รับประทานเริ่มต้น 100 มิลลิกรัม/วัน จากนั้นปรับเป็น 400 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กทารก: รับประทาน 1 - 2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 1 เดือน - 12 ปี: รับประทาน 1 - 3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 12 - 18 ปี: รับประทาน 50 - 100 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน 1 - 2 ครั้งต่อวัน
ข. สำหรับความดันโลหิตสูง (Hypertension): เช่น
  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 25 - 50 มิลลิกรัม/วัน หากจำเป็นสามารถเพิ่มเป็น 100 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก: ไม่มีขนาดรับประทานที่เป็นมาตรฐาน การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
ค. สำหรับภาวะหัวใจล้มเหลวขั้นรุนแรง (Severe congestive heart failure):เช่น
  • ผู้ใหญ่: สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่ม ACE inhibitor และยาขับปัสสาวะ (Loop diuretic) รวมถึงได้รับหรือไม่ได้รับยากลุ่มคาร์ดิแอคกลัยโคซายด์ (Cardiac glycoside, ยารักษาโรคหัวใจกลุ่มหนึ่ง) ร่วมด้วย ขนาดรับประทานเริ่มต้นที่12.5 - 25มิลลิกรัม/วัน อาจเพิ่มเป็น 50 มิลลิกรัม/วัน หลังจากการรักษาในช่วงแรกไปแล้ว 8 สัปดาห์
  • เด็กทารก: รับประทาน 1 - 2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 1 เดือน - 12 ปี: รับประทาน 1 - 3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 12 - 18 ปี: รับประทาน 50 - 100 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน 1 - 2 ครั้ง ต่อวัน
ง. สำหรับขับปัสสาวะในผู้ป่วยที่มีภาวะโพแทสเซียมในร่างกายต่ำ (Diuretic induced hypokalemia): เช่น
  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 25 - 100 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กทารก: รับประทาน 1 - 2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 1 เดือน - 12 ปี: รับประทาน 1 - 3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 12 - 18 ปี: รับประทาน 50 - 100 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน 1 - 2 ครั้งต่อวัน
จ. สำหรับผู้ที่มีภาวะแอลโดสเตอโรนสูงชนิดปฐมภูมิ (Primary hyperaldo steronism/ ฮอร์โมนต่อมหมวกไต ชนิด Aldosterone สูงเกินปกติ เป็นภาวะพบได้น้อยมากๆ โดยสาเหตุอาจจากมีเนื้องอกหรือจากเซลล์ต่อมหมวกไตเจริญเกินปกติ): เช่น
  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 400 มิลลิกรัม เป็นเวลา 3 - 4 สัปดาห์
  • เด็ก: ไม่มีขนาดรับประทานที่เป็นมาตรฐาน การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
ฉ. สำหรับภาวะขนดกเกิน (Hirsutism): เช่น
  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 50 - 200 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก: ไม่มีขนาดรับประทานที่เป็นมาตรฐาน การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์

อนึ่ง:

  • สามารถรับประทานยานี้ พร้อมอาหาร หรือ ก่อนอาหารก็ได้
  • แต่ที่สำคัญ คือ ควรต้องรับประทานในเวลาใกล้เคียงกันของทุกวัน

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาสไปโรโนแลคโตน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจ ลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาสไปโรโนแลคโตนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาสไปโรโนแลคโตน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาสไปโรโนแลคโตนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาสไปโรโนแลคโตนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • เสียสมดุลของน้ำและเกลือแร่ (อิเล็กโทรไลต์/Electrolyte) ของร่างกาย
  • มีภาวะเต้านมโต
  • ง่วงนอน
  • ปวดหัว
  • ระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร
  • มีภาวะเกลือโซเดียมในเลือดต่ำ (อาการ เช่น วิงเวียน หน้ามืด ความดันโลหิตต่ำ)
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • มีภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูง (อาการเช่น อ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง)
  • อ่อนเพลีย
  • สับสน
  • ประจำเดือนผิดปกติ
  • และ ภาวะขนดก

มีข้อควรระวังการใช้ยาสไปโรโนแลคโตนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาสไปโรโนแลคโตน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีปัญหาการขับถ่ายปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะไม่ออก หรือมีปัสสาวะน้อยเกินไป
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะไตวายเฉียบพลันหรือไตวายเข้าขั้นลุกลาม
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคแอดดิสัน / Addison disease (โรคชนิดหนึ่งของต่อมหมวกไตที่ส่งผลให้ต่อมหมวกไตสร้างฮอร์โมนได้ต่ำกว่าปกติ)
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้มีแนวโน้มป่วยด้วยภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูงเกินมาตร ฐาน หรือผู้ที่มีสภาวะกรดในร่างกายสูง/ภาวะเลือดเป็นกรด
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร และผู้ป่วยเบาหวาน
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะตับ - ไต ทำงานผิดปกติ
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุ บันทุกชนิด (รวมยาสไปโรโนแลคโตนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้น ฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาสไปโรโนแลคโตนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาสไปโรโนแลคโตน มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การรับประทานยาสไปโรโนแลคโตนร่วมกับยาแก้ปวด เช่นยา Aspirin สามารถทำให้ฤทธิ์การขับเกลือโซเดียมออกจากร่างกายลดลง และส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูงตามมา จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน หรือต้องปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสม
  • การรับประทานยาสไปโรโนแลคโตนร่วมกับยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ทำให้เกิดความเป็นพิษกับไต จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การรับประทานยาสไปโรโนแลคโตนร่วมกับยาหรืออาหารเสริมที่มีเกลือโพแทสเซียมเป็นองค์ประกอบหลัก อาจทำให้เกิดภาวะเกลือโพแทสเซียมเกินในร่างกาย/โพแทสเซียมในเลือดสูง ควรต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน หรือแพทย์ปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมในผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษายาสไปโรโนแลคโตนอย่างไร?

ควรเก็บยาสไปโรโนแลคโตน เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดดและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาสไปโรโนแลคโตนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาสไปโรโนแลคโตน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Aldactone (แอลแดคโตน) Pfizer
Altone (แอลโตน) Pharmaasant Lab
Hyles (ไฮเลส) Berlin Pharm
Pondactone (พอนแดคโตน) Pond’s Chemical
Spironex (สไปโรเน็กซ์) P P Lab

บรรณานุกรม

1 http://en.wikipedia.org/wiki/Spironolactone [2020,Feb22]
2 http://www.mims.com/USA/drug/info/spironolactone/ [2020,Feb22]
3 http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=spironolactone [2020,Feb22]
4 http://www.medicinenet.com/spironolactone/article.htm[2020,Feb22]