สโมสรมังสวิรัติที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

เทศกาลถือศีลกินผัก (กินเจ) ระหว่างวันที่ 26 กันยายน ถึง 6 ตุลาคม ศกนี้ อาจทำให้คุณผู้อ่านคิดว่า เป็นประเพณีของชาวจีนเท่านั้น แต่หลักฐานเท่าที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ระบุว่า เป็นประเพณีที่วิวัฒนาการมาจากชาวอินเดีย (โดยเฉพาะในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชที่ตราเป็นกฎหมายคุ้มครองสัตว์นานาชนิด) และชาวกรีกในเวลาไล่เลี่ยกันในศตรรษที่ 6 มังสวิรัติ (ซึ่งครอบคลุมถึงการถือศีลกินผัก) เป็นหลักปฏิบัติที่สืบเนื่องจากปรัชญาและศาสนาที่ยึดมั่นการไม่เข่นฆ่าหรือเบียดเบียนสัตว์

หลังจากอาณาจักรโรมันเริ่มหันมานับถือคริสตศาสนา มังสวิรัติก็เลือนหายไปจากยุโรป แต่หลายนิกายของศาสนาคริสต์ในสมัยกลาง (Medieval) มีการห้ามบริโภคเนื้อสัตว์ยกเว้นเนื้อปลา จนกระทั่งสมัยเฟื่องฟูศิลปวัฒนธรรม ระหว่างศตวรรษที่ 19 ซึ่งมีการสถาปนาสโมสรมังสวิรัติ (Vegetarian Society) แห่งแรกของโลกในอังกฤษ และศตวรรษที่ 20 ซึ่งมีการก่อตั้งสหภาพมังสวิรัตินานาชาติ (International Vegetarian Union) ในเยอรมัน อันเป็นการรวมตัวขององค์กรมังสวิรัติจากนานาประเทศทั่วโลก

สโมสรมังสวิรัติ ในประเทศอังกฤษก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2390 นับเป็นสถาบันมังสวิรัติที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษา สนับสนุน และเป็นตัวแทนของผู้ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ทั่วราชอาณาจักรอังกฤษ เป็นองค์กรสาธารณกุศล ที่ทำงานร่วมกับภาคธุรกิจและรัฐกิจ โดยเฉพาะผู้กำหนดนโยบายและนักวิชาชีพต่างๆ แต่ดำรงความเป็นเอกเทศในการปฏิบัติงานเพราะอาศัยแหล่งเงินทุนจากค่าสมาชิก และเงินบริจาคเท่านั้น มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมือง Altrincham มหานคร Manchester

ผู้ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ มีอยู่ทั่วทุกแห่ง บางคนเชื่อมั่นในสิ่งที่เขารับประทาน ในขณะที่ผู้อื่นต้องการแรงสนับสนุนและข้อแนะนำ และหลายคนที่จับจ่ายก็ไม่สามารถแยกแยะอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นผลิตภัณฑ์จากสัตว์ได้ บรรดาพ่อครัว [และแม่ครัว] ตามภัตตาคาร มักคิดว่า ลูกค้ามังสวิรัติจะรับประทานเนื้อปลา หรือไข่ไก่ ในขณะที่นักวิชาชีพสุขภาพ ก็ไม่ได้รับการฝึกอบรมเรื่องคุณค่าทางโภชนาการเท่าที่ควร ส่วนโรงพยาบาลทั่วไปมักไม่จัดอาหารมังสวิรัติให้ผู้ป่วยเลย

ประเด็นต่างๆ ดังกล่าว เป็นเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการกำเนิดสโมสรมังสวิรัติที่มีอายุเก่าแก่ถึง 164 ปี ซึ่งทุกวันนี้มีกิจกรรมต่างๆ ที่รวมทั้งการฝึกอบรมผ่านโรงเรียนสอนการปรุงอาหารชื่อ “Cordon Vert Cookery School” และการให้การรับรอง (Accreditation) การปฏิบัติที่ดี (Good practice) ของร้านค้าร้านอาหาร เพื่อให้ผู้ไม่รับประทานเนื้อสัตว์สามารถจับจ่าย และบริโภคอาหารมังสวิรัตินอกบ้าน ด้วยความสบายใจ

ในรายงาน Dietary Guidelines for Americans ประจำปี พ.ศ. 2553 ของกระทรวงเกษตร และกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐอเมริกา กล่าวถึงผลการศึกษาวิจัยในหมู่ผู้ใหญ่ พบว่าผู้รับประทานอาหารมังสวิรัติมีความสัมพันธ์กับสุขภาพที่ดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับผู้บริโภคเนื้อสัตว์ โดยมีระดับความอ้วน (Obesity) ที่ต่ำกว่า ความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจที่น้อยกว่า รวมทั้งอัตราการตายรวม และความดันเลือดที่ลดลง เนื่องจากโดยเฉลี่ยแล้ว ผู้รับประทานอาหารมังสวิรัติ จะบริโภคสัดส่วนที่น้อยกว่าของแคลอรีจากไขมัน (โดยเฉพาะกรดไขมันอิ่มตัว) และแคลอรีรวมทั้งหมด ในขณะที่บริโภคใยอาหาร (Fiber) เกลือแร่โปตัสเซี่ยม และวิตามิน C ที่มากกว่า จึงมีดัชนีมวลรวมร่างกาย (Body mass index; BMI) ที่ต่ำกว่า คุณลักษณะเหล่านี้ และปัจจัยวิถีชีวิติอื่นๆ ทำให้ผลของสุขภาพออกมาในเชิงบวก

แหล่งข้อมูล:

  1. Vegetarianism. http://en.wikipedia.org/wiki/Vegetarianism [3 ตุมลาคม2544].
  2. Vegetarian Society. http://www.vegsoc.org/page.aspx?pid=759 [3 ตุมลาคม2544].