สโคโปลามีน (Scopolamine)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

สโคโปลามีน (Scopolamine) หรือ ไฮออสซีน (Hyoscine) คือยาใช้รักษาโรคที่ก่อปัญหากับกล้ามเนื้อบางโรค เช่น ปวดท้องแบบปวดบีบ ฯลฯ, ยานี้จัดเป็นสารจำพวก Tropane alkaloid (สารมีในกลุ่มพืชสมุนไพรที่เรียกว่า Solanaceae), อยู่ในกลุ่มยาแอนตี้มัสคารินิก (Antimuscarinic drugs)  

อนึ่ง: โรคที่ก่อปัญหากับระบบกล้ามเนื้อของมนุษย์อาทิ เช่น

  • โรคพาร์กินสัน
  • รักษาอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น เพื่อลดการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้
  • ป้องกันการคลื่นไส้อาเจียนปในระหว่างการเดินทาง(เมารถ-เมาเรือ)หรือในระหว่างการ ดำน้ำลึก

ทั้งนี้ ยานี้จะออกฤทธิ์ลดการกระตุ้นของกระแสประสาทที่ไปยังกล้ามเนื้อรวมถึงการกดศูนย์กระตุ้นการอาเจียนในสมองอีกด้วย

มีข้อห้ามใช้ยานี้อยู่บางประการที่แพทย์ต้องสอบถามประวัติสุขภาพของผู้ป่วยเพื่อนำมาประกอบกันก่อนที่จะสั่งจ่ายยานี้เช่น

  • เคยแพ้ยาชนิดนี้หรือไม่
  • มีโรคหลอดเลือดหัวใจ/โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง  มีภาวะตกเลือดอย่างรุนแรง เป็นแผลในกระเพาะอาหาร หรือการเคลื่อนตัวของกระเพาะ-ลำไส้มีความผิดปกติ กระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติ  มีภาวะต่อมลูกหมากโต  ตับ-ไตทำงานได้น้อยลง รวมถึงมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือไม่
  • มีการใช้ยาอื่นๆอยู่ก่อนหน้านี้แล้วหรือไม่ เช่น ยาในกลุ่ม Anticholinergic, Antihistamine, หรือยาต้านเศร้ากลุ่ม TCAs, ด้วยยาเหล่านี้สามารถเพิ่มอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ของยาสโคโปลามีนได้อย่างมากมาย
  • มีการใช้ยาประเภท Phenothiazines เช่นยา Chlorpromazine อยู่ก่อนหรือไม่ ด้วยยานี้จะลดประสิทธิภาพการออกฤทธิ์ของยาสโคโปลามีนได้

 จะเห็นได้ว่ายานี้มีประโยชน์ทางคลินิกโดยใช้รักษาได้หลายอาการโรค แต่ก็มีเงื่อนไขของการใช้ยาอย่างมากมายเช่นเดียวกัน ในบทความนี้จะขอนำเสนอประโยชน์และสรรพคุณโดยเน้นในเรื่องป้องกันและบรรเทาอาการคลื่นไส้-อาเจียนในระหว่างการเดินทาง/อาการเมารถเมาเรือของยา สโคโปลามีนเท่านั้น

 *หมายเหตุ: Scopolamine และ Hyoscine เป็นยาตัวเดียวกัน แถบอเมริกาจะใช้ชื่อ Scopolamine ในขณะที่แถบอังกฤษจะเรียกยานี้ว่า Hyoscine ขนาดการใช้ยาที่เหมาะกับแต่ละอาการโรคและรูปแบบของผลิตภัณฑ์จะมีความแตกต่างกันออกไปทั้งชนิดยารับประทาน ยาฉีด ยาอมใต้ลิ้น ยาเหน็บทวาร และยาพลาสเตอร์ปิดผิวหนัง

สโคโปลามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ยาสโคโปลามีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • บรรเทาและป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียน
  • ป้องกันอาการเมารถเมาเรือ (Motion sickness)
  • รักษาอาการปวดท้องแบบปวดบีบ/ปวดเกร็งในระบบทางเดินอาหารและระบบทางเดินปัสสาวะ
  • รักษาอาการโรคพาร์กินสัน

สโคโปลามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาสโคโปลามีนคือ ตัวยาจะเข้าไปแข่งขันและยับยั้งการทำงานของตัวรับ/หน่วยรับความรู้สึกมัสคารินิก(Muscarinic receptors) และออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลาง และระบบประสาทส่วนปลาย ส่งผลให้กล้ามเนื้อเรียบของอวัยวะภายในร่างกายเกิดการคลายตัว พร้อมกับลดการเคลื่อนตัว/บีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ จึงเกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

สโคโปลามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาสโคโปลามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • พลาสเตอร์ปิดหลังใบหู ขนาด 1.5 มิลลิกรัม
  • ยาเม็ด ขนาด 10 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาน้ำ ขนาด 5 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
  • ยาฉีด ขนาด 0.4 และ 1 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาฉีด ขนาด 20 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

สโคโปลามีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาสโคโปลามีนมีขนาดการบริหารยา/การใช้ยาขึ้นกับแต่ละอาการหรือแต่ละโรค จึงต้องอยู่ในคำสั่งใช้ยานี้จากแพทย์เท่านั้น ในที่นี้ขอยกตัวอย่างขนาดยาเฉพาะกรณีบรรเทาอาการคลื่นไส้-อาเจียน และป้องกันหรือรักษาอาการเมารถเมาเรือ  เช่น

ก.สำหรับบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน:

  • ผู้ใหญ่: เช่น ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำหรือเข้ากล้ามเนื้อหรือเข้าใต้ผิวหนังขนาด 0.3 -65   มิลลิกรัมทุก 6 - 8 ชั่วโมง โดยเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
  • เด็กอายุ 1 - 12 ปี: เช่น ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำหรือเข้ากล้ามเนื้อหรือเข้าใต้ผิวหนังขนาด 006 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมทุก 6 - 8 ชั่วโมง โดยขนาดสูงสุดไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัม/การฉีด 1 ครั้ง และต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
  • เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี: เช่น ยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ที่ชัดเจนในการใช้ยาในเด็กวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

ข.สำหรับอาการเมารถเมาเรือ:

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป: เช่น ใช้ชนิดพลาสเตอร์ปิดผิวหนังขนาด 1.5 มิลลิ กรัมปิดผิวหนังข้างศีรษะตรงบริเวณหลังใบหูประมาณ 4 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง และให้เปลี่ยนใหม่ทุก 3 วันตามความจำเป็น
  • เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ที่ชัดเจนในการใช้ยาในเด็กวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาสโคโปลามีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาสโคโปลามีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยา/ใช้ยาสโคโปลามีนสามารถรับประทานยา/ใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไปไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

สโคโปลามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาสโคโปลามีนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)  เช่น

  • ตาพร่า
  • เจ็บหน้าอก
  • ปัสสาวะขัด
  • รูม่านตาขยาย
  • วิงเวียน
  • เป็นลม
  • ปวดตา
  • ใบหน้าแดง
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • มีผื่นคันตามผิวหนัง
  • หัวใจเต้นช้า
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • เหงื่อแตก
  • เหนื่อยง่าย

*อนึ่ง: กรณีที่ได้รับยานี้เกินขนาด: จะพบอาการวิตกกังวล สูญเสียการมองเห็นตาบอดกลางคืน   เห็นภาพซ้อน ไม่มีสมาธิ ปัสสาวะน้อย ปากคอแห้ง   ผิวแห้ง ปวดหัว หงุดหงิด กระสับกระส่าย มีภาวะชัก ง่วงนอน เหนื่อยง่าย  กล้ามเนื้ออ่อนแรง กรณีพบอาการเหล่านี้ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้สโคโปลามีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาสโคโปลามีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับการดื่มสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือยาที่ออกฤทธิ์กดการทำงานของประสาทส่วนกลาง ด้วยจะทำให้เกิดอาการวิงเวียนและผลข้างเคียงอื่นๆติดตามมา
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคต้อหิน โรคต่อมลูกหมากโต ผู้ที่มีภาวะปัสสาวะขัด
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต
  • ระวังการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร รวมถึงเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) และผู้สูงอายุ ด้วยผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ (ผลข้างเคียง) ของยานี้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติ โรคลมชัก โรคหัวใจและหลอดเลือด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ         

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาสโคโปลามีนด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

สโคโปลามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาสโคโปลามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น       

  • การใช้ยาสโคโปลามีน ร่วมกับยา Propoxyphene จะทำให้เกิดอาการวิงเวียน ง่วงนอน รู้สึกสับสน ขาดสมาธิ อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้มากกับผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาสโคโปลามีน ร่วมกับยา Potassium chloride ชนิดรับประทานอาจก่อให้เกิดอา การระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นจนอาจเกิดเป็นแผลและมีภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารติดตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาสโคโปลามีน ร่วมกับยาลดความอ้วน เช่นยา Phentermine อาจทำให้อุณหภูมิของร่างกายขึ้นสูงผิดปกติจนถึงขนาดต้องส่งโรงพยาบาล อาการดังกล่าวนี้สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายโดย เฉพาะกับผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ในเขตร้อน เพื่อหลีกเลี่ยงอาการดังกล่าวจึงไม่ควรใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาสโคโปลามีน ร่วมกับยา Hydrocodone อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการข้างเคียงจากยาทั้ง 2 ตัวมากยิ่งขึ้นเช่น มีอาการวิงเวียน ง่วงนอน ขาดสมาธิ ปากคอแห้ง ท้องผูก เป็นตะคริวที่ท้อง เพื่อมิให้เกิดอาการข้างเคียงเหล่านี้จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน    

ควรเก็บรักษาสโคโปลามีนอย่างไร?

ควรเก็บยาสโคโปลามีน:

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิที่ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

สโคโปลามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาสโคโปลามีน  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Amcopan (แอมโคแพน) MacroPhar
Antispa (แอนตี้สปา) T P Drug
Bacotan FC (บาโคแทน เอฟซี) T.O. Chemicals
Buscono (บัสโคโน) Milano
Buscopan (บัสโคแพน) Boehringer Ingelheim
Butyl (บูติล) Masa Lab
Cencopan (เซ็นโคแพน) Pharmasant Lab
Hybutyl (ไฮบูติล) Pharmaland
Hyoscin BM (ไฮออสซิน บีเอ็ม) Patar Lab
Hyoscine-N-butylbromide GPO (ไฮออสซิน-เอ็น-บูติลโบรมายด์ จีพีโอ) GPO
Hyosman (ไฮออสแมน) T. Man Pharma
Hyosmed (ไฮออสเมด) Medifive
Hyospan (ไฮออสแพน) Polipharm
Hyostan (ไฮออสแทน) Pharmaland
Hyozin (ไฮโอซิน) Union Drug
Hy-Spa 10 (ไฮ-สปา 10) Medicine Products
Kanin (คานิน) L. B. S.
Myspa (มายสปา) Greater Pharma
Scopas (สโคพาส) Asian Pharm Asian Pharm
Spascopan (สพาสโคแพน) Bangkok Lab & Cosmetic
Spasgone-H (สพาสกอน-เอ็น) Chew Brothers
Spasmo (สพาสโม) Pharmahof
TRANSDERM-V (ทรานส์เดิร์ม-วี) Novartis
U-Oscine (ยู-ออสซีน) Umeda
Uospan (ยูออสแพน) Utopian
Vacopan (วาโคแพน) Atlantic Lab
Vescopolamine Injection (เวสโคโพลามายด์ อินเจ็คชั่น) Vesco Pharma

 

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/monograph/scopolamine.html  [2022,June25]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Scopolamine  [2022,June25]
  3. https://www.mims.com/thailand/drug/info/hyoscine?mtype=generic  [2022,June25]
  4. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=hyoscine&page=0  [2022,June25]
  5. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Vescopolamine%20Injection/?type=brief  [2022,June25]
  6. https://www.drugs.com/pro/isopto-hyoscine-ophthalmic-solution.html  [2022,June25]
  7. https://www.drugs.com/drug-interactions/scopolamine-index.html?filter=3&generic_only=  [2022,June25]