“สเต็มเซลล์” ตัวช่วยหรือตัวเสี่ยง (ตอนที่ 3)

ความก้าวหน้าในการวิจัยสเต็มเซลล์เป็นไปอย่างรวดเร็ว ล่าสุดงานวิจัยที่คว้ารางวัลโนเบลของ ศาสตราจารย์ชินยะ ยามานากะ ชาวญี่ปุ่นผู้ค้นพบวิธีการการนำเซลล์ชนิดใดก็ได้ในร่างกายมนุษย์มาทำให้กลายเป็นเซลล์ไอพีเอส (Induced pluripotent stem cells : IPS cells) ซึ่งมีคุณสมบัติเหมือน Embryonic stem cells ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเซลล์ใดก็ได้ในร่างกาย เนื่องจากเป็นเซลล์ของตัวผู้ป่วยเองจึงมีประโยชน์อย่างมากในการพัฒนาการรักษาใหม่

ตัวอย่างเช่น หากเป็นโรคทางพันธุกรรมเลือด ในทางทฤษฎีสามารถนำเซลล์ผิวหนังของคนไข้ออกมาทำเป็นเซลล์ไอพีเอสแล้วแก้ความผิดปกติทางพันธุกรรม ทำกลับเป็นสเต็มเซลล์เลือดที่ไม่มีอาการป่วย เพื่อนำกลับไปปลูกถ่ายเพื่อรักษาผู้ป่วยได้

นอกจากนี้เซลล์ไอพีเอสยังมีประโยชน์ในด้านของการทดลอง โดยเอานำเซลล์ไอพีเอสไปสร้างเป็นเซลล์จำลองที่เกิดโรคเพื่อเรียนรู้กลไกการ เกิดโรคและการใช้ยารักษา ทำให้สามารถรักษาผู้ป่วยในโรคนั้นๆ ได้โดยใช้ยาที่เป็นผลมาจากการทดลองกับเซลล์ไอพีเอส

การรักษาด้วยสเต็มเซลล์ (Stem cell therapy) ด้วยการเปลี่ยนหรือทดแทนเซลล์ที่ทำหน้าที่ผิดปกติหรือเซลล์ที่ถูกทำลาย คล้ายกับการปลูกถ่ายอวัยวะแต่เป็นการใช้เซลล์แทนที่จะเป็นอวัยวะ นักวิจัยจะเพาะสเต็มเซลล์ในห้องปฏิบัติการ สเต็มเซลล์เหล่านี้จะถูกจัดการเปลี่ยนให้เป็นเซลล์เฉพาะ เช่น เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ เซลล์เลือด หรือเซลล์ประสาท

การจัดการนี้อาจรวมถึงการเปลี่ยนแปลงสารในสเต็มเซลล์หรือการฉีด จีน/ยีน (Genes) เข้าไปในเซลล์ แล้วนำเซลล์เฉพาะนั้นไปปลูกถ่ายในคน ยกตัวอย่างเช่น กรณีคนที่เป็นโรคหัวใจ จะมีการฉีดเซลล์เข้าไปในกล้ามเนื้อหัวใจ ให้เซลล์ที่ปลูกถ่ายใหม่นี้ทำหน้าที่ซ่อมกล้ามเนื้อหัวใจส่วนที่ทรุดโทรม เป็นต้น

เพื่อให้เกิดประโยชน์ในมนุษย์ นักวิจัยจำเป็นต้องศึกษาถึงการจัดการกับสเต็มเซลล์ให้แปรไปเป็นเซลล์เฉพาะได้ตามที่ต้องการ เช่น เซลล์หัวใจ เซลล์กระดูก โดยไม่ก่อให้เกิดผลเสียที่ตามมา เนื่องจากมีการทดลองในสัตว์ว่า Embryonic stem cells มีการกระจายไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกายซึ่งไม่ได้เป็นไปตามที่เราต้องการ

สเต็มเซลล์อาจไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน (Immune response) ของร่างกาย ทำให้ร่างกายเข้าใจว่า สเต็มเซลล์เป็นสิ่งแปลกปลอม หรือทำให้มีการทำงานที่ไม่ปกติ ซึ่งอาจทำให้เกิดผลที่ไม่สามารถทราบได้

อย่างไรก็ดี สเต็มเซลล์ที่นำมาใช้รักษาโรคได้ผลเป็นที่ยอมรับทั่วไปในปัจจุบันมีเพียงโรคลูคีเมีย (Leukemia) เท่านั้น สำหรับโรคอื่นยังไม่มีการนำมาใช้ในทางคลีนิกอย่างชัดเจน และยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนเพียงพอ ดังนั้นจึงไม่ควรหลงเชื่อว่าการเก็บสเต็มเซลล์ของตน จะช่วยในการรักษาโรคของตนได้มากมาย

ทั้งนี้ ในการรักษาโรคลูคีเมียด้วยสเต็มเซลล์นั้น มีเป้าหมายที่จะกำจัดเซลล์เม็ดเลือดขาวด้วยการใช้รังสี (Radiation) และ/หรือ การให้เคมีบำบัด (Chemotherapy) หลังจากนั้นจึงมีการปลูกถ่ายไขกระดูกที่มีผู้บริจาคให้ (ซึ่งเข้ากันได้กับร่างกายของผู้ป่วย) สเต็มเซลล์ที่รับจากการบริจาคจะเข้าไปทำหน้าที่แทนเซลล์เม็ดเลือดที่มีปัญหา

แหล่งข้อมูล

  1. Stem cells: What they are and what they do. http://www.mayoclinic.com/health/stem-cells/CA00081 [2013, April 4].
  2. Information and Resources. http://www.webmd.com/a-to-z-guides/features/stem-cells-faq-questions-answers [2013, April 4].
  3. สเต็มเซลล์ http://th.wikipedia.org/wiki/สเต็มเซลล์ [2013, April 4].