“สเต็มเซลล์” ตัวช่วยหรือตัวเสี่ยง (ตอนที่ 2)

นักวิจัยได้ค้นพบว่าสเต็มเซลล์มีแหล่งที่มาดังนี้

  • สเต็มเซลล์จากตัวอ่อน (Embryonic stem cells) สเต็มเซลล์นี้เกิดจากตัวอ่อนที่มีอายุ 4 - 5 วัน ในระยะนี้ตัวอ่อนจะถูกเรียกว่า “Blastocyst” ซึ่งมีประมาณ 150 เซลล์ และมีคุณสมบัติในการแบ่งตัวออกเป็นเซลล์ต้นกำเนิดใหม่ หรือ เปลี่ยนแปลงจากเซลล์ต้นกำเนิดไปเป็นเซลล์จำเพาะของเนื้อเยื่อชนิดอื่นๆ ได้หลายชนิด (Pluripotent stem cells) ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ จึงมีความเป็นไปได้อย่างสูงสุดที่จะใช้สเต็มเซลล์ตัวอ่อนในการสร้างหรือซ่อมเนื้อเยื่อและอวัยวะในร่างกายมนุษย์

    เราสามารถหา Embryonic stem cells ได้จากตัวอ่อน ซึ่งเป็นการนำไข่และอสุจิมาผสมกันให้เกิดการปฏิสนธิภายนอกร่างกายในห้องปฏิบัติการ (In Vitro Fertilization : IVF) สเต็มเซลล์นี้สามารถมีชีวิตและเจริญเติบโตได้ในหลอดแก้วหรือในจานเพาะเชื้อ (Petri dishes) ในห้องปฏิบัติการ

  • สเต็มเซลล์จากเนื้อเยื่อที่โตเต็มวัย (Adult stem cells หรือ Somatic stem cells) เป็นสเต็มเซลล์ที่ได้มาจากเนื้อเยื่อและอวัยวะที่พัฒนาเต็มที่แล้ว สเต็มเซลล์ชนิดนี้พบได้ไม่กี่แห่งในเนื้อเยื่อของร่างกาย เช่น ไขกระดูก เลือด ผิวหนัง ฟันน้ำนม เป็นต้น และยังสามารถพบสเต็มเซลล์ชนิดนี้ในเด็ก รก (Placentas) และสายสะดือ (Umbilical cords)

    เมื่อไม่นานมานี้เชื่อกันว่าสเต็มเซลล์ชนิดนี้สามารถใช้สร้างได้เฉพาะเซลล์ที่เหมือนกันเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น สเต็มเซลล์ไขกระดูกสามารถใช้สร้างได้เฉพาะเซลล์เลือดเท่านั้น อย่างไรก็ดีจากหลักฐานพบว่า สเต็มเซลล์ชนิดนี้อาจจะสร้างเซลล์ได้หลากหลายกว่าที่เราเคยคิดและสามารถสร้างเซลล์คนละชนิดได้ด้วย เช่น สเต็มเซลล์ไขกระดูกอาจจะสร้างเซลล์กล้ามเนื้อได้ ทั้งนี้ยังอยู่ระหว่างการวิจัยเบื้องต้นถึงประโยชน์และความปลอดภัยในคน

  • อินดิวซ์พลูริโพเทนท์สเต็มเซลล์ หรือ ไอพีเอสเซลล์ (Induced pluripotent stem cells : IPS cells) เป็นการเปลี่ยนแปลง Adult stem cells ให้มีคุณสมบัติเหมือน Embryonic stem cells ทั้งนี้นักวิจัยได้ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติดังกล่าวโดยใช้วิธีการป้อนโปรแกรมใหม่ (Reprogramming) เพื่อการแก้ไขยีนใน Adult stem cells เทคนิคใหม่นี้อาจช่วยให้นักวิจัยหลีกเลี่ยงข้อโต้แย้งที่เกี่ยวกับ Embryonic stem cells และป้องกันกรณีที่ระบบภูมิคุ้มกันปฏิเสธสเต็มเซลล์ตัวใหม่

    อย่างไรก็ดียังไม่เป็นที่ทราบกันว่าการเปลี่ยนแปลงสเต็มเซลล์นี้จะเป็นเหตุให้เกิดผลตรงกันข้ามในมนุษย์หรือไม่ เพราะตอนนี้นักวิจัยได้ทดลองในหนู โดยสามารถทำการเปลี่ยนแปลงสเต็มเซลล์แล้วป้อนโปรแกรมใหม่เพื่อให้กลายเป็นเซลล์หัวใจ เซลล์หัวใจใหม่นี้จะถูกฉีดเข้าในตัวหนูที่เป็นโรคหัวใจล้มเหลว ซึ่งสามารถช่วยในเรื่องการทำงานของหัวใจและมีชีวิตยืนยาวขึ้น

  • สเต็มเซลล์จากถุงน้ำคร่ำ (Amniotic fluid stem cell) นักวิจัยยังสามารถค้นพบสเต็มเซลล์จากถุงน้ำคร่ำ (Amniocentesis) โดยการเจาะถุงน้ำคร่ำ ด้วยการแทงเข็มบางยาวในท้องของหญิงมีครรภ์เพื่อเก็บตัวอย่างน้ำคร่ำ แล้วนำไปทดสอบว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เช่น กลุ่มอาการดาวน์ (Down syndrome) และดูความสมบูรณ์ของทารกในครรภ์มารดา (Fetal maturity) ทั้งนี้ ยังต้องอาศัยการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับสเต็มเซลล์จากถุงน้ำคร่ำอีกมาก

แหล่งข้อมูล

  1. Stem cells: What they are and what they do. http://www.mayoclinic.com/health/stem-cells/CA00081 [2013, April 3].
  2. สเต็มเซลล์ http://th.wikipedia.org/wiki/สเต็มเซลล์ [2013, April 3].