สุขภาพช่องปาก ด้วยรากฟันเทียม

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ในปีงบประมาณ 2555 สธ. จะเดินหน้านโยบายรัฐบาลพัฒนางานสาธารณสุขให้เกิดเป็นรูปธรรม ขณะนี้ได้จัดทำเป็นโครงการต่างๆรองรับทั้งหมด 68 งาน และมีคณะทำงานรับผิดชอบแต่ละโครงการ อาทิ โครงการรากฟันเทียมพระราชทาน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ ตั้งเป้าใส่รากฟันเทียมให้ผู้สูงอายุ 3,000 ราย

รากฟันเทียม (Dental implant) เป็น “ราก” ที่ทำจากโลหะไทเทเนียม (Titanium) ใช้ในด้านทันตกรรมเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูฟันซี่ที่สูญเสียไป รากฟันเทียมทุกวันนี้ มีรูปร่างที่ดูคล้ายกับรากฟันจริง ใส่ไว้ในกระดูกขากรรไกร โดยที่กระดูกดังกล่าวยอมรับและบูรณาการเข้ากับไทเทีเนียม กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือพื้นผิวของโลหะหลอมละลายเข้ากับกระดูกขากรรไกรโดยรอบ แต่เนื่องจากรากฟันเทียมปราศจากเอ็นยึดปริทันต์ (Periodontal ligament) [ปริทันต์ = ล้อมรอบฟัน] จึงรู้สึกแตกต่างเล็กน้อยจากฟันแท้ตามธรรมชาติเมื่อเคี้ยวอาหาร

รากฟันเทียมช่วยค้ำจุนอุปกรณ์เทียม (Prostheses) ต่างๆ อันได้แก่ ครอบฟัน (Crown) สะพานฟัน (Bridge) หรือฟันปลอม (Denture) และยังสามารถใช้เป็นสมอฟัน (Anchorage) เพื่อยึดเหนี่ยวการเคลื่อนของฟันที่จัดไว้ตามทันตกรรมประดิษฐ์ (Orthodontic tooth) การใส่รากฟันเทียมทำให้ฟันเคลื่อนไปทิศทางใดก็ได้ โดยไม่มีแรงต้าน

สมาคมทันตกรรมอเมริกัน (American Dental Association: ADA) ยังไม่ยอมรับการใส่รากฟันเป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขา (Specialty) รักษาได้แบบผู้ป่วยนอก โดยการดมยาสลบ (General anesthesia) หรือให้ยาชาเฉพาะช่องปาก (Oral conscious sedation) หรือให้ยาสลบโดยใช้ก๊าซไนตรัส (Nitrous oxide sedation) หรือให้ยาสลบเข้าหลอดเลือดดำ (Intravenous sedation) หรือให้ยาชาเฉพาะที่ (Local anesthesia) โดยบุคลากรทางการแพทย์ที่ผ่านการรับรองแล้ว อันได้แก่ ทันตแพทย์ ศัลยแพทย์ช่องปาก ปริทันต์ทันตแพทย์ (Periodontist) และทันตแพทย์ทันตกรรมประดิษฐ์ (Prosthodontist)

การยอมรับการใส่รากฟันเทียมของแต่ละประเทศแตกต่างกันไป เพราะยังไม่มีหลักสูตรการศึกษาอย่างเป็นทางการสำหรับทันตแพทย์ ซึ่งนำไปสู่อัตราอาการแทรกซ้อนที่สูง ในสหรัฐอเมริกา หลักสูตรการฝึกอบรมส่วนมากจัดขึ้นโดยผู้ผลิตทันตภัณฑ์รายใหญ่ๆ แต่เน้นหนักภาคปฏิบัติในการวางแผนการบำบัดรักษา การเลือกกรณีศึกษา ต้นแบบ (Protocol) การใส่รากฟัน วิธีการฟื้นฟูฟัน เป็นต้น

ความสำเร็จของการใส่รากฟันขึ้นอยู่กับทักษะของผู้ใส่ คุณภาพและปริมาณของมวลกระดูกขากรรไกร ณ จุดใส่รากฟัน และสุขอนามัยช่องปากของผู้ป่วย อัตราที่ยอมรับความสำเร็จของการใส่รากฟันอยู่ที่ 95% โดยหลักเกณฑ์สำคัญอยู่ที่เสถียรภาพของรากฟันที่ใส่ สุขภาพฟันโดยรวมของผู้ป่วย และการปฏิบัติตามข้อกำหนดของการดูแลหลังการใส่

ส่วนความล้มเหลว ซึ่งเกิดขึ้นประมาณ 5% นั้น มักเกิดจากการที่รากฟันเทียมไม่สามารถบูรณาการเข้ากับกระดูกขากรรไกร โดยหลักเกณฑ์สำคัญอยู่ที่การสูญเสียหรือเคลื่อนที่ของรากฟันเทียม และการสูญเสียบางส่วนของมวลกระดูกขาไกรใน 2 ปีแรก ปัจจัยเสี่ยงสูงของความล้มเหลวเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ การใส่รากฟันเทียมในตำแหน่งที่ไม่ถูกต้อง และการเสื่อมสภาพจากการใช้ฟันทำงานหนัก วิธีแก้ไขก็คือ การเลิกสูบบุหรี่ และตรวจสุขภาพช่องปากและฟันเป็นประจำ

แม้รากฟันเทียมจะไม่ก่อให้เกิดฟันผุ [เพราะทำจากโลหะ] แต่สามารถวิวัฒนาจนเกิดอาการอักเสบรอบๆ รากฟันเทียม (Peri-implantitis) ของเยื่อเมือก (Mucosa) และ/หรือกระดูกขากรรไกรรอบๆ รากฟันเทียม เนื่องจากการสูญเสียบางส่วนของมวลกระดูกขากรรไกร และรากฟันเทียมหลุดในที่สุด อาการนี้มักสัมพันธ์กับการติดเชื้อเรื้อรัง โดยเฉพาะในบรรดาผู้สูบบุหรี่จัด ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ไม่ดูแลสุขอนามัยในช่องปากให้ดี และกรณีที่เยื่อเมือกรอบรากฟันเทียมค่อนข้างบาง

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ. เดินหน้าสนองนโยบายรัฐ พัฒนางานสาธารณสุขปี 55 http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9540000157287&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2011, December 15].
  2. Dental implants. http://en.wikipedia.org/wiki/Dental_implant [2011, December 15].