สิว (Acne)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

สิว (Acne) คือ โรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยมาก ประชากรเก้าในสิบคนเคยมีปัญหาสิวอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต ในประเทศไทยเองมีการศึกษาที่สำรวจความชุกของสิวในนักศึกษาเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลพบว่า 64.7% ของกลุ่มตัวอย่างมีปัญหาสิวในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ปัญหาสิวไม่ได้ส่งผลให้เกิดแผลเป็นที่ผิวหนังเท่านั้น พบว่าในหลายครั้งปัญหาสิวได้ก่อให้เกิดแผลเป็นในจิตใจทำให้ขาดความมั่นใจในตัวเอง ซึมเศร้า แยกตัวจากสังคม รวมไปถึงการเลือกปฏิบัติจากสังคม และโอกาสในหน้าที่การงานอีกด้วย

ปัจจัยที่ก่อให้เกิดสิวมีอะไรบ้าง?

สิว

สิวเป็นโรคที่เกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกันโดยปัจจัยที่พบได้บ่อยมีดังนี้

  • พันธุกรรม พบว่าถ้าบิดาหรือมารดาเป็นสิวรุนแรง โอกาสที่บุตรจะเป็นสิวขั้นรุนแรงมีถึงหนึ่งในสี่
  • ฮอร์โมน โดยเฉพาะอย่างยิ่งฮอร์โมนเพศชายและฮอร์โมน Dehydroepian drosterone-Sulfate (DHEA-S) จากต่อมหมวกไต ซึ่งนอกจากระดับของฮอร์โมนเหล่านี้ที่สูงขึ้นใน ช่วงวัยรุ่นแล้ว พบว่าบางครั้งยังเกิดจากความไวต่อการตอบสนองของตัวรับสัญญาณฮอร์ โมนที่ผิวหนังอีกด้วย
  • การขับของซีบัม (Sebum) หรือไขมันที่มากเกินไปร่วมกับการอุดตันของเซลล์ผิวหนังชั้นบนสุด และการอักเสบที่สัมพันธ์กับเชื้อแบคทีเรียชนิด Pro pionibacterium acnes (P.Acnes)

สิวมีกี่ประเภท? มีความรุนแรงอย่างไร?

ประเภทและความรุนแรงของสิว

ก. ประเภทของสิว: ลักษณะร่องรอยสิวที่พบได้บ่อยแบ่งเป็นสี่ประเภทคือ

  • สิวอุดตัน (Comedones)
  • สิวอักเสบ (Papules)
  • สิวหัวหนอง (Pustules)
  • สิวหัวช้าง (Nodules) มักพบบริเวณที่มีต่อมไขมันหนาแน่นคือ ใบหน้า อก และส่วนหลังช่วงบน บางครั้งอาจพบที่หนังศีรษะได้

ข. ความรุนแรงของสิว: อาจแบ่งได้เป็น 4 ระดับหรือ 4 เกรด (Grade) จากรุนแรงน้อยไปหามาก คือ

  • เกรดหนึ่ง: มีแต่สิวอุดตัน
  • เกรดสอง: มีสิวอุดตันและสิวอักเสบบ้างประปราย
  • เกรดสาม: มีสิวอุดตัน สิวอักเสบ และสิวหัวหนองในจำนวนที่มากขึ้น
  • เกรดสี่: มีสิวอุดตัน สิวอักเสบ สิวหัวหนอง และสิวหัวช้าง มักเห็นร่องรอยแผลเป็นร่วมด้วย

รักษาสิวอย่างไร?

สิวเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่ไม่มีสูตรตายตัวในการรักษา วิธีรักษาสิวในปัจจุบันอาจแบ่งออก เป็นหมวดหมู่/กลุ่มใหญ่ๆคือ กลุ่มยาอนุพันธุ์ของวิตามินเอ, กลุ่มยาปฏิชีวนะ, กลุ่มยาฮอร์โมน, การใช้เลเซอร์/แสง, การผลัดเซลล์ผิวด้วยกรดผลไม้, และการกดสิว, การเลือกวิธีรักษาต้องคำนึงถึงประเภท ของสิว, ความรุนแรง, และความเหมาะสมต่อผิวของแต่ละคน, รวมถึงปัจจัยอื่นๆของผู้เป็นสิวร่วมด้วย

ก. กลุ่มยาอนุพันธุ์ของวิตามินเอ: แบ่งได้เป็น

  • ยาทากลุ่มอนุพันธุ์วิตามินเอ: อาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ยาทากลุ่มเรตินอยด์ (Retinoid) เป็นยาหลักที่สำคัญที่สุดสำหรับการรักษาสิวในปัจจุบัน โดยช่วยลดการขับซีบัมส่วนเกิน ลดการอุดตัน และยังมีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบของสิวด้วย ข้อเสียของยาในกลุ่มนี้คือ ทำให้เกิดการระ คายเคือง ผิวแดง หรือลอกเป็นขุยได้บ่อย ซึ่งอาจป้องกันโดยทายาในปริมาณน้อยๆเริ่มจากทายาเพียงคืนเว้นคืนก่อน
  • ยารับประทาน Isotretinoin: เป็นยารับประทานในกลุ่มอนุพันธุ์ของวิตามินเอ ออก ฤทธิ์ในลักษณะเดียวกับยาทา แต่ยับยั้งการขับของซีบัมและยับยั้งการเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย P.Acnes ได้ดีกว่า แต่เนื่องจากมีผลข้างเคียงหลายประการ จึงเหมาะกับผู้ที่มีสิวขั้นรุนแรงเท่า นั้น ผลข้างเคียงรุนแรงที่ควรทราบคือ ทำให้เด็กในครรภ์พิการแต่กำเนิดได้หากรับประทานใน ขณะตั้งครรภ์ เอนไซม์ตับสูงขึ้น ซึมเศร้า ไขมันในเลือดสูงขึ้น และผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยเช่น ปากแห้ง ตาแห้ง เลือดกำเดาไหล เป็นต้น

ข. กลุ่มยาปฏิชีวนะ: แบ่งเป็น

  • ยาปฏิชีวนะแบบทา ช่วยลดปริมาณเชื้อแบคทีเรีย P.Acnes ที่ผิวหนัง ส่งผลให้เกิดสิวอักเสบลดลง โดยยาที่ใช้กันมากคือยา Erythromycin, Clindamycin และ Isotretinoin ในปัจจุบันมีการใช้ยาผสมระหว่าง Benzoyl peroxide และ Erythromycin หรือ Clindamycin พบว่าช่วยลดอัตราเชื้อดื้อยาและได้ผลการรักษาที่ดีขึ้น ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยในยากลุ่มนี้คือ การระคายเคืองที่ผิวหนัง
  • ยาปฏิชีวนะแบบรับประทาน ได้ผลเช่นเดียวกับแบบทา แต่มักเห็นผลได้เร็วกว่า แต่มีข้อเสียคือ ทำให้เกิดการดื้อยาหรือเชื้อดื้อยาได้มากกว่า และมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงได้มากกว่าซึ่งขึ้นกับแต่ละชนิดของยาปฏิชีวนะนั้นๆ ยาปฏิชีวนะที่ถูกนำมาใช้รักษาสิวอักเสบกันมากคือ Doxycycline, Erythromycin, Minocycline และ Tetracycline

ค. กลุ่มยาฮอร์โมน: ได้แก่

  • ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาคุมกำเนิดที่มีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเพศชาย (Anti-androgen) ถูกนำมาใช้ในการรักษาสิวที่เกิดจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนได้ผลดีในบางราย แต่อาจมีผล ข้างเคียงจากฤทธิ์ของฮอร์โมนเช่น น้ำหนักขึ้น ปวดหัว บวมน้ำ และห้ามรับประทานในผู้ที่มีประวัติโรคเลือดแข็งตัวง่าย โรคหลอดเลือดหัวใจ(โรคหัวใจ) โรคมะเร็งเต้านม และโรคตับ
  • ยากลุ่ม Spironolactone เป็นยาขับปัสสาวะที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง แต่มีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเพศชายหรือ Anti-androgen ด้วย จึงถูกนำมาใช้รักษาสิวที่เกิดจากความไม่สมดุลของฮอร์โมน โดยใช้ในปริมาณยาที่ต่ำกว่าการรักษาความดันโลหิตสูง ไม่เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาความดันโลหิตต่ำ ผู้สูงอายุ ผลข้างเคียงจากยาคือ ปัสสาวะบ่อยและอาจมีการเสียสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกายได้

ง.การใช้เลเซอร์/แสง:

การใช้เทคโนโลยีเลเซอร์หรือแสงต่างๆเพื่อรักษาสิว เริ่มขึ้นเมื่อมีการค้นพบว่า เชื้อแบคทีเรีย P.Acnes มีการสังเคราะห์เม็ดสีที่เรียกว่า พอร์ไฟริน (Porphyrins) ซึ่งแสงในบางช่วงคลื่นจะถูกดูดซึมโดยพอร์ไฟรินส์ได้มากส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียตาย เมื่อปริมาณเชื้อแบคทีเรียลดลงจำนวนสิวอักเสบก็ลดลงตามไปด้วย และยังพบด้วยว่าเลเซอร์/แสงในบางช่วงความยาวคลื่นช่วยลดการขับของซีบัมส่วนเกินลงจึงทำให้เกิดสิวอุดตันลดลงอีกด้วย

จ. การผลัดเซลล์ผิวด้วยกรดผลไม้:

กรดผลไม้หรือเอเอชเอ (Fruit acid หรือ AHA, Alpha hydroxyl acid) เข้มข้น มีคุณสมบัติช่วยผลัดเซลล์ผิวหนังกำพร้าชั้นบน ช่วยลดความหนืดเกาะตัวกันของหนังกำพร้า จึงส่งผลลดการอุดตันของซีบัมได้ดี ในบางการศึกษาพบว่าช่วยลดสิวอักเสบได้ดีเช่นกัน กรดผลไม้ ที่ถูกนำมาใช้บ่อยคือ Glycolic acid และ Salicylic acid การรักษาด้วยวิธีนี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ หากนำมาใช้เองโดยเทคนิคที่ไม่ถูกต้องอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อดวงตา ผิว หรือแผลเป็นถาวร ได้

ฉ.การกดสิว:

เป็นวิธีการรักษาที่ถูกนำมาใช้ตั้งแต่สมัยโบราณจวบจนปัจจุบัน มีทั้งการใช้เครื่อง มือกดสิวกดโดยตรงบนหัวสิวที่เปิดแล้ว การเปิดหัวสิวด้วยเข็มแล้วกด รวมถึงการประยุกต์ใช้ เลเซอร์เพื่อเปิดสิวที่หัวใหญ่แล้วจึงกดด้วยเครื่องมือกดสิว ซึ่งการกดสิวมีความเสี่ยงต่อการเกิดรอยช้ำหรือแผลเป็นได้ หากเทคนิคหรือเครื่องมือที่ใช้ไม่เหมาะสม

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองและการพบแพทย์เมื่อเป็นสิว ได้แก่

1. ห้ามแกะหรือกดสิวด้วยตนเอง เพราะการกดที่ไม่ถูกวิธีและการแกะสิวมักก่อให้เกิดแผล เป็นโดยเฉพาะหลุมสิว

2. หลายการศึกษาพบว่า การเลี่ยงอาหารที่มีค่าไกลซีมิกอินเดกซ์สูง (Glycemic index คือ ตัวบ่งชี้ว่า อาหารชนิดใดเมื่อกินแล้วส่งผลให้มีน้ำตาลกลูโคลสในเลือดสูงทันที) เช่น เค้ก คุกกี้ ขนมหวาน รวมถึงนมวัว อาหารทะเล และอาหารไขมันทรานส์สูง (Trans fat หรือ Trans fatty acid คือไขมันที่มีส่วนผสมของไฮโดรเจน) เช่น เนยเทียม ครีมเทียมบางชนิด ฟาสต์ฟูต อาหารทอด และอาหารสำเร็จรูปบางชนิด ให้ผลไม่ดีกับผู้ที่มีปัญหาสิว

3. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หากร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอจะส่งผลให้ระบบฮอร์โมนทำงานไม่สมดุลและมีปริมาณสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบเพิ่มขึ้น

4. ฝึกผ่อนคลายความเครียดเช่น ด้วยการนั่งสมาธิหรือการฝึกการหายใจ (Breathing exer cise)

5. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับผิวหน้าที่ระบุว่าไม่เป็นตัวก่อสิว “Non-comedogenic” คือไม่ก่อให้เกิดสิวอุดตัน และเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำมัน (Oil-based) เป็นส่วนประกอบหลัก

6. ล้างหน้าวันละ 2 ครั้งตามปกติไม่จำเป็นต้องล้างบ่อยจนเกินไป เพราะสิวไม่ได้เกิดจากความสกปรกอย่างที่เข้าใจกันแต่อย่างใด แต่สำหรับในคนที่หน้ามันมากอาจล้างเพิ่มระ หว่างวันด้วยน้ำเปล่าซึ่งจะไม่ทำให้เกิดการเสียสมดุลของค่ากรดด่างของผิวหน้า (พีเอช หรือ pH) และเซลล์ชั้นปกป้องผิวแต่อย่างใด

เมื่อใดจึงควรพบแพทย์?

ไม่มีข้อกำหนดชี้ชัดว่าเป็นสิวรุนแรงขั้นใดจึงควรพบแพทย์ แต่โดยทั่วไปแล้วถ้าสิวมีการอักเสบจะมีโอกาสเกิดรอยแผลเป็นหลุมสิวถาวรได้ ดังนั้นหากมีสิวอักเสบขึ้นต่อเนื่องหรือสิวความ รุนแรงตั้งแต่เกรดสองเป็นต้นไป ควรที่จะปรึกษาแพทย์เพื่อขอรับคำแนะนำในการปฏิบัติตัว หาสาเหตุ และรักษาด้วยยาตามที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการเกิดแผลเป็นถาวรต่อไป

ป้องกันสิวได้อย่างไร?

เมื่อดูจากปัจจัยเสี่ยงการป้องกันสิวเต็มร้อยเป็นไปได้ยาก แต่อาจลดโอกาสเกิดสิวให้น้อยลงได้โดย

  • ใช้เครื่องสำอางชนิดมีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก (Water- based) และเป็นชนิดที่ไม่ก่อสิว (Non-comedogenic) หลีกเลี่ยงการใช้ชนิดมีน้ำมันเป็นส่วนประกอบหลัก (Oil-based)
  • ไม่ควรล้างหน้าเกินวันละ 2 ครั้งเพราะการล้างหน้าบ่อยๆก่อการระคายเคืองต่อเซลล์ผิว หน้าอาจเป็นปัจจัยให้เกิดสิวได้
  • ไม่ใช้เครื่องสำอางรองพื้นที่หนาเกินไป
  • ล้างเครื่องสำอางใบหน้าออกให้สะอาดก่อนนอนเสมอเพราะเป็นสาเหตุก่อการอุดตันของซีบัม
  • ไม่แกะสิวหรือสัมผัสใบหน้าบ่อยๆเพราะเพิ่มโอกาสผิวติดเชื้อแบคทีเรีย
  • ฝึกผ่อนคลายความเครียดดังกล่าว
  • พักผ่อนให้เพียงพอเพื่อช่วยให้ระบบฮอร์โมนของร่างกายทำงานได้อย่างมีสมดุล
  • เมื่อเคยพบแพทย์เรื่องสิว ควรปฏิบัติต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์

บรรณานุกรม

  1. กันต์กมล กิจตรงศิริ. การสำรวจความชุก ผลกระทบ และการดูแลรักษาปัญหาจากสิวในนักศึกษาเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล. 2548. เภสัชศาสตร์ มหิดล
  2. J.K.L.Tan. Psychosocial impact of acne vulgaris. Skin Therapy Letter 2004; 9.
  3. Goulden V, McGeown CH, Cunliffe WJ. The familial risk of adult acne: a comparison between first-degree relatives of affected and unaffected individuals. Br J Dermatol. Aug 1999;141(2):297-300.
  4. Lucky AW, Biro FM, Simbartl LA, Morrison JA, Sorg NW. Predictors of severity of acne vulgaris in young adolescent girls: results of a five-year longitudinal study. J Pediatr. Jan 1997;130(1):30-9.
  5. Gollnick H. Current concept of the pathogenesis of acne. Drugs. Jan 2003; 63(15): 1579-1596
  6. Thiboutot, D., et al., New insights into the management of acne: an update from the Global Alliance to Improve Outcomes in Acne group. J Am Acad Dermatol, 2009. 60(5 Suppl): p. S1-50.
  7. Strauss JS, Krowchuk DP, Leyden JJ, et al. Guidelines of care for acne vulgaris management. J Am Acad Dermatol. Apr 2007;56(4):651-63.
  8. Liu, P.T., et al., Cutting edge: all-trans retinoic acid down-regulates TLR2 expression and function. J Immunol, 2005. 174(5): p. 2467-70.
  9. King, K., et al., A double-blind study of the effects of 13-cis-retinoic acid on acne, sebum excretion rate and microbial population. Br J Dermatol, 1982. 107(5): p. 583-90.
  10. Eady, E.A., et al., The effects of acne treatment with a combination of benzoyl peroxide and erythromycin on skin carriage of erythromycin-resistant propionibacteria. Br J Dermatol, 1996. 134(1): p. 107-13.
  11. Atzori, L., et al., Glycolic acid peeling in the treatment of acne. J Eur Acad Dermatol Venereol, 1999. 12(2): p. 119-22.
  12. Taub, A.F., Procedural treatments for acne vulgaris. Dermatol Surg, 2007. 33(9): p. 1005-26.