สิวเสี้ยน (Trichostasis spinulosa)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

สิวเสี้ยน (Trichostasis spinulosa) เป็นภาวะที่พบได้บ่อยทั้งวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ ตลอดจน ถึงวัยผู้สูงอายุ แต่พบได้น้อยมากในวัยเด็ก พบในชายมากกว่าหญิง

ยังไม่มีการศึกษาสถิติการเกิดสิวเสี้ยนไว้อย่างชัดเจน โดยทั่วไปคนมักสับสนระหว่างสิวเสี้ยนกับสิวอุดดัน เนื่องจากมักเกิดในบริเวณเดียวกัน คือ บริเวณใบหน้าที่มีความมัน เช่น จมูก หน้าผาก โหนกแก้ม และมีลักษณะเป็นจุดเล็กๆสีดำตามรูขุมขนเช่นกัน แต่แท้จริงแล้วสิวเสี้ยน มีข้อแตกต่างจากสิวอุดตัน คือ หากเราส่องดูรอยโรคด้วยแว่นขยาย ในสิวเสี้ยนจะพบเส้นขนเล็กๆกระจุกตัวอัดอยู่ในรูขุมขน โผล่ขึ้นมาคล้ายหนามจากรูขุมขน ซึ่งลักษณะนี้จะไม่พบในสิวอุดตัน

สิวเสี้ยนเกิดได้อย่างไร? มีอะไรเป็นปัจจัยเสี่ยง?

สิวเสี้ยน

ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดของการเกิดสิวเสี้ยน แพทย์เชื่อว่า อาจเกิดจาก

  • การระคายเคืองผิวหนังจากการขัดถูแรงๆ
  • การทายาสเตียรอยด์
  • การใช้ผลิตภัณฑ์ผิวหนังที่ระคายเคืองต่อผิวหนัง

ส่วนปัจจัยเสี่ยงของการเกิดสิวเสี้ยน คือ

  • ความมันบนใบหน้า ซึ่งสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศในร่างกาย และ
  • การรบกวนผิวมากๆ เช่น การขัดถูใบหน้าแรงๆ

ทั้งนี้ สิวเสี้ยนไม่ใช่โรคติดต่อ จึงไม่สามารถติดต่อได้ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การสัมผัส หรือการใช้ของใช้ร่วมกัน

สิวเสี้ยนมีอาการอย่างไร?

อาการหรือลักษณะของสิวเสี้ยน คือ

  • จะมองเห็นเป็นเป็นจุดสีดำตามรูขน โดยเฉพาะบริเวณผิวมัน เช่น จมูก หน้าผาก แก้ม ลำตัว (เช่น ต้นแขน สะบัก)
  • ซึ่งถ้าส่องดูด้วยแว่นขยาย จะเห็นกระจุกขนคล้ายหนามโผล่มาจากรูขุมขน ร่วมกับมีรูขุมขนอุดตันเป็นสีดำ

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่ ?

สิวเสี้ยน ไม่ส่งมีผลเสียทางสุขภาพ แต่หากพบว่า สร้างความไม่สบายใจเกี่ยวกับความสวย งาม สามารถพบแพทย์ผิวหนังเพื่อรับคำแนะนำและการรักษาได้

แพทย์วินิจฉัยสิวเสี้ยนได้อย่างไร?

แพทย์สามารถวินิจฉัยสิวเสี้ยนได้จาก

  • การสอบถามอาการ และ
  • การตรวจดูรอยโรค
  • โดยแพทย์ไม่จำเป็นต้องตัดตรวจชิ้นเนื้อ หรือมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่น

รักษาสิวเสี้ยนอย่างไร?

การรักษาสิวเสี้ยน มีหลายวิธี ได้แก่

ก. ใช้ยาทา: โดย

  • กรดวิตามินเอ (Retinoic acid): เพื่อละลายการอุดตันของต่อมไขมัน เป็นทั้งการรักษาและการป้องกัน ใช้ทาบริเวณสิวเสี้ยนก่อนนอน ทั้งนี้ยานี้อาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวได้ในช่วงแรกที่ใช้ยา นอกจากนั้น ควรใช้ครีมกันแดดในเวลากลางวันเพื่อลดอาการผิวระคายเคืองจากแสงแดด
  • ยาทา Benzoyl peroxide ทาทิ้งไว้ประมาณ 5 - 10 นาทีแล้วล้างออก เช้า - เย็น เพื่อช่วยลดความมันและสิ่งสกปรกอุดตันตามรูขุมขน

ข. การใช้แผ่นลอกสิวเสี้ยน: ที่มีขายในท้องตลาด หรือสามารถทำได้เองที่บ้านโดยการทาไข่ขาวที่บริเวณสิวเสี้ยน แปะทับด้วยกระดาษซับหน้ามันหรือกระดาษชำระ ปล่อยให้แห้ง แล้วลอกออก ไม่ควรทำเกิดสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

ค. การเลือกผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับผิวหนัง: ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีสารดูดซับความมัน และมีส่วนผสมของกรดเอเอชเอ (AHA: Alpha hydroxy acid) เพื่อช่วยผลัดเซลล์ผิว

ง. การรักษาด้วยเลเซอร์ (Laser):

  • ใช้เลเซอร์ที่จับเม็ดสี สีดำ เช่น Nyd-Yag เพื่อกำจัดจุดดำที่เกิดจากรูขุมขนอุดตัน เมื่อทำหลายครั้งสามารถกำจัดได้หมด แต่ก็สามารถกลับมาเป็นได้อีก จึงควรชั่งน้ำหนักกับค่า บริการ
  • การใช้เลเซอร์ IPL (Intense pulse light) เพื่อกำจัดขนที่กระจุกแน่นในรูขุมขน

จ. การกดสิวเสี้ยนออก: สามารถทำได้ด้วยตนเอง แต่หากไม่ชำนาญ อาจทำให้ผิวหนังที่ถูกกด เกิดการแดงและอักเสบติดเชื้อได้

สิวเสี้ยนก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

สิวเสี้ยน ไม่ส่งผลข้างเคียง หรือผลกระทบต่อสุขภาพแต่อย่างใด แต่อาจมีผลทางจิตใจในเรื่องของความสวยงาม

ส่วนการรักษาสิวเสี้ยน อาจมีผลข้างเคียง เช่น อาการระคายเคืองจากการทายา หรือ ผิวบวมแดงหลังทำเลเซอร์

สิวเสี้ยนมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของสิวเสี้ยน คือ เป็นภาวะที่ไม่มีผลต่อสุขภาพ แต่อาจส่งผลในด้านความสวยงาม และหลังการรักษา สามารถกลับมาเป็นได้อีกเสมอ แม้ใช้ยาทาในการป้องกันแล้วก็ตาม

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นสิวเสี้ยน คือ

  • ไม่ขัดถูใบหน้าและผิวหนังแรงๆ
  • ใช้เครื่องสำอางที่เหมาะกันสภาพผิวโดยเฉพาะกับผิวหน้า

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

หลังการรักษาสิวเสี้ยน หากพบผลข้างเคียงจากการรักษา เช่น ผิวแพ้ระคายเคือง ผิวบวมแดง สามารถพบแพทย์ก่อนนัด เพื่อรับคำแนะนำและการดูแลรักษา

ป้องกันสิวเสี้ยนอย่างไร?

การป้องกันสิวเสี้ยนเต็มร้อย ยังเป็นไปไม่ได้ เพราะยังไม่ทราบสาเหตุเกิดที่ชัดเจน แต่การใช้ยาทากรดวิตามินเอ และ Benzoyl peroxide ทาผิวหน้าเป็นประจำเพื่อป้องกันการเกิดเป็นซ้ำหลังการรักษาสิวเสี้ยน และไม่ขัดถูใบหน้าแรงๆ จะช่วยลดปัจจัยกระตุ้นการเกิดสิวเสี้ยนได้

บรรณานุกรม

  1. รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน .สิวเสี้ยน. Siriraj E-Public library https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=479 [2020,May2]
  2. รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน .สิวเสี้ยน. Siriraj E-Public library https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=480 [2020,May2]
  3. https://emedicine.medscape.com/article/1071782-overview#showall [2020,May2]