สารเสพติด ยอดฮิตของเยาวชน (ตอนที่ 4)

อนุสนธิข่าวต่อจากวันก่อน ยาเสพติดที่ใช้กันมากในหมู่เยาวชนไทย รองจากกัญชา คือยาบ้า (Amphetamine) ซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกัน อาทิ ยาขยัน ยาแก้ง่วง หรือยากระตุ้น (Dope) ในภาษาอังกฤษ เรียกว่า “Speed” สามารถกินโดยตรง ผสมในอาหารหรือเครื่องดื่ม หรือนำยามาบดแล้วนำไปลนไฟ เพื่อสูดดมเป็นไอระเหยเข้าสู่ร่างกาย

ในระยะแรก ยาบ้า เป็นยอดนิยมในบรรดานักศึกษาที่ต้องดูตำราสอบอยู่ถึงดึกดื่น จึงเรียกกันว่า “ยาขยัน” ต่อมาเป็นที่แพร่หลายในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะคนขับรถบรรทุก จึงเรียกว่า “ยาม้า” เข้าใจกันว่า ชื่อนี้มาจากความคึกคะนองเหมือนม้าหลังเสพยา หรือไม่ก็เป็นเครื่องหมายการค้า (Logo) ของบริษัทเภสัชภัณฑ์ Wellcome ซึ่งนำเข้ายาตัวนี้มาขายในประเทศไทย เป็นครั้งแรก

ยาบ้ามีประวัติการสังเคราะห์ที่ยาวนาน มากว่าหนึ่งศตวรรษแล้ว ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ยาตัวเคยใช้เป็นสารกระตุ้นความทรหดอดทนและความกล้าหาญของทหารทั้งสองฝ่าย ประมาณกันว่ามีการใช้ยาบ้ากว่า 72 ล้านเม็ดในช่วงสงครามดังกล่าว หลังสงครามเลิกแล้ว การใช้ยาบ้าเริ่มแพร่ขยายขอบเขตออกไปสู่ชุมชนมากขึ้น

ในอดีต ยาตัวนี้เคยใช้เป็นยารักษาโรคอยู่บ้าง สำหรับผู้ป่วยที่ภาวะง่วงเกิน (Narcolepsy) จนเผลอหลับไปโดยไม่รู้ตัว และเด็กสมาธิสั้น โดยเฉพาะในเรื่องการเรียน (Attention Deficit Disorder: ADD) นอกจากนี้ยังใช้ในการลดน้ำหนัก แต่ปัจจุบันพบว่า ยาตัวนี้และอนุพันธ์ต่างๆ นอกจากจะไม่มีประโยชน์ [อย่างที่เข้าใจแต่แรก] แล้วกลับมีผลเสียต่อจิตประสาท ในประเทศไทย จึงมีการเปลี่ยนชื่อจาก “ยาม้า” มาเป็น “ยาบ้า” ในปี พ.ศ. 2539 พร้อมระบุเป็นสิ่งเสพติดประเภท 1 ซึ่งห้ามจำหน่าย และมีบทลงโทษรุนแรงต่อผู้ขายและผู้เสพ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2441

ในปัจจุบัน มีการลักลอบสังเคราะห์กันในประเทศเพื่อนบ้าน โดยจะมีการรับซื้อยาบ้าจากแถบชายแดนไทยกัมพูชา ส่งผ่านทางประเทศลาว แล้วนำยาบ้ามาบดผสมกับแป้งทำยา (Drug Powder) จากนั้นก็นำมาอัดขึ้นรูปใหม่เป็นเม็ดยาที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น และกำไรก็จะเพิ่มขึ้นจากการลดตัวสารเสพติดต่อเม็ดลง

เมื่อเสพเข้าสู่ร่างกาย ยาบ้าจะออกฤทธิ์ทำให้ร่างกายตื่นตัว หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง ใจสั่น ประสาทตึงเครียด แต่เมื่อหมดฤทธิ์ยาแล้ว กลับจะรู้สึกอ่อนเปลี้ยเพลียแรงมากกว่าปกติ เมื่อประสาทล้า ก็ทำให้การตัดสินใจเชื่องช้าและผิดพลาดได้ง่าย นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้บ่อยครั้ง

หากใช้ยาบ้า ติดต่อกันเป็นเวลยาวนาน จะทำให้สมองเสื่อม เกิดอาการประสาทหลอน เห็นภาพลวงตา หวาดระแวง คลุ้มคลั่ง เสียสติ จนเป็นบ้าไป อาจทำร้ายร่างกายตนเองและผู้อื่นได้ หรือในกรณีที่ได้รับยาในปริมาณมาก จะไปกดทับระบบประสาทและระบบการหายใจ ทำให้หมดสติ และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

การบำบัดผู้ติดยาบ้า มิใช่เพียงทำให้ร่างกายปลอดจากสารเสพติด แต่เป็นการรักษาความผิดปรกติของระบบประสาทส่วนกลาง (Central nervous system) และสารส่งผ่านประสาท (Neurotransmitter) กล่าวคือ สมองของผู้ติดยาต้องการฤทธิ์ของสารเสพติด ไปกระตุ้นให้ระบบประสาททำงานอย่างปรกติ แต่ถ้าช่วงใดขาดสารเสพติดไปกระตุ้น ก็จะเกิดอาการผิดปรกติขึ้นดังกล่าวข้างต้น

นอกจากระบบประสาทแล้ว พฤติกรรมและสภาพแวดล้อมของผู้ติดยาต้องได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น การฟื้นฟูสมรรถภาพมีหลายวิธี อาทิ การเข้าค่ายฟื้นฟูดังกล่าว การให้คำปรึกษา การทำจิตบำบัด และชุมชนบำบัด เพื่อให้ผู้ติดยาเข้าใจถึงปัญหาของตนเองที่นำไปสู่การเสพติด นอกจากนี้ยังต้องปรับสภาพครอบครัวและสภาพกลุ่มเพื่อนฝูงโดยช่วยกันสร้างความมั่นคงทางจิตใจแก่ผู้ติดยา ให้สามารถยืนหยัดแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้โดยต้องไม่หวนกลับไปเสพยาอีก

แหล่งข้อมูล:

  1. Amphetamine. http://en.wikipedia.org/wiki/Amphetamine [2011, Jan 1].
  2. ยาบ้า http://th.wikipedia.org/wiki/ยาบ้า [2011, Jan 1].