สารเสพติด ยอดฮิตของเยาวชน (ตอนที่ 3)

อนุสนธิจากข่าวเมื่อวานซืน ยาเสพติดที่ใช้มากที่สุดคือกัญชา (Cannabis) ซึ่งเป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่ง มีแหล่งกำเนิดอยู่ในเอเชียกลางและเอเชียใต้ โดยลำต้นสูงประมาณ 2 – 5 เมตร เมื่อโตแต็มวัย ใบเลี้ยงจะแยกประมาณ 5 – 9 แฉก แล้วจะมีดอก ซึ่งทั้งดอกและใบเลี้ยง สามารถนำมาผสมกับตัวยา (จำพวกยาฆ่าหญ้า) เพื่อทำเป็นยา “กระตุ้นทางจิตประสาท” (Psychoactive) แต่ต่อมาได้วิวัฒนามาเป็นยาเสพติดยอดนิยมในหมู่วัยรุ่น

ผู้เสพกัญชาจะมีอาการหลอนประสาท ตัวอ่อน ตาลาย และชอบหัวเราะ ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของกัญชา การใช้ "บ้องไม้ไผ่" หรือ "ใบจาก" ในการเสพ จะทำให้รู้สึกตัวลอย มือไม้หมดแรง ตาห้อย และมีความสุขราวกับได้ขึ้นสวรรค์ ดังนั้น กัญชาจึงกลายเป็นยาเพื่อการผ่อนคลายที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ตามหลังเพียงแอลกอฮอล์ สารกาเฟอีน และยาสูบ

ในสหรัฐอเมริกา เป็นที่เชื่อกันว่า อย่างน้อย 100 ล้านคน ได้เคยลองเสพกัญชามาก่อน โดยที่ 25 ล้านคนเคยลองเสพใน 1 ปีที่ผ่านมา วารสารการแพทย์ของอังกฤษที่ชื่อ The Lancet รายงานว่า กัญชามีระดับ “เสพแล้วติด” (Dependence) ต่ำกว่านิโคตีน [ในบุหรี่] และแอลกอฮอล์ [ในเหล้า] เสียอีก

แต่การเสพเป็นประจำทุกวัน ในบางกรณี อาจมีความสัมพันธ์ทางจิตวิทยากับกลุ่มอาการถอนพิษยา (Withdrawal) อาทิ ความหงุดหงิด และการนอนกระสับกระส่าย และยังมีหลักฐานว่า หากผู้เสพรู้สึกเครียด จะมีแนวโน้มสูงขึ้นของการตื่นตระหนก อย่างไรก็ตาม กลุ่มอาการถอนพิษยามักจะไม่รุนแรงจนเป็นอันตรายต่อชีวิต

ผลกระทบจากการ “กระตุ้นทางจิตประสาท” ของกัญชาในขั้นแรกจะเป็นสภาวะการผ่อนคลาย และเคลิบเคลิ้มจากฤทธิ์ยา ในขั้นสองจะทำให้ความคิดแล่นในเชิงปรัชญา เกิดการทบทวนหวนคิดและการรับรู้ย้อนหลัง โดยเฉพาะในกรณีของความกังวัลและจิตหวาดระแวง และในขั้นสุดท้าย คือการเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ และเกิดความหิวโหย

การฟื้นความรู้สึกสู่สภาวะตามปรกติ จะเกิดขึ้นประมาณ 3 ชั่วโมง หลังจากการเสพเข้าไปครั้งใหญ่ ผ่านปล้องสูบ หรือระเหยหายไปเอง อย่างไรก็ตาม ถ้าเสพเข้าไปในปริมาณมาก ผลกระทบอาจอยู่ยาวนานขึ้น หลัง 24 ชั่วโมง จนถึง 2 - 3 วัน ยังรู้สึกถึงผลกระทบแม้เพียงเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับจำนวนครั้ง ความถี่และความทนทานต่อยาที่เสพ

กัญชาได้รับการสังเคราะห์ เพื่อใช้เป็นยาในทางการแพทย์ แม้คณะกรรมการอาหารและยา (Food and Drug Administration : FDA) ในสหรัฐอเมริกาจะยอมรับว่า กัญชาอาจใช้ในการบำบัดรักษาอาการต่างๆ รวมทั้งต้อหิน(Glaucoma) ความเจ็บปวดจากโรคเส้นประสาท (Neuropathic pain) และภาวะหดเกร็งของกล้ามเนื้อ (Spasticity) เพื่อคลายความแข้งกระด้าง (Sclerosis) แต่ก็ยังไม่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อการบำบัดดังกล่าว

FDA สหรัฐอเมริกา อนุญาตเพียงให้แพยท์สามารถสั่งกัญชาในรูปแบบของการกินทางปาก เพื่อบำบัดอาการคลื่นไส้ และอาเจียน ที่เกิดจากเคมีบำบัด (Chemotherapy) ในการรักษาโรคมะเร็ง และการบำบัดภาวะเบื่ออาหาร (Anorexia) ซี่งเกี่ยวข้องกับการโรคเอดส์ เท่านั้น

อันที่จริง ในทางการแพทย์ กัญชาสามารถใช้เป็นยาระงับปวด (Analgesia) หรือบรรเทาความปวด ซึ่งมีรายงานว่าเป็นประโยชน์ต่อการบำบัดโรคบางอย่างทางประสาทวิทยา อาทิ โรคลมชักหรือลมบ้าหมู (Epilepsy) และยังมีรายงานว่า กัญชาสามารถบรรเทาอาการกล้ามเนื้อกระตุก (Tics) ในขณะเดียวกัน ก็มีสารที่อาจป้องกันโรคความจำเสื่อม (Alzheimer's) ได้ และมีสารที่ลดการอุดตันของหลอดเลือดแดงด้วย

แหล่งข้อมูล:

  1. Cannabis. http://en.wikipedia.org/wiki/Cannabis [2011, December 31].
  2. กัญชา http://th.wikipedia.org/wiki/กัญชา [2011, December 31].