สารเสพติด ยอดฮิตของเยาวชน (ตอนที่ 2)

อนุสนธิข่าวจากเมื่อวานนี้ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พุทธศักราช 2522 ที่ใช้ในปัจจุบัน ซึ่งได้นิยามสิ่งเสพติดให้โทษว่า "สารเคมีหรือวัตถุชนิดใดๆ ซึ่งเมื่อเสพเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าจะโดยรับประทาน ดม สูบ ฉีด หรือด้วยประการใดๆ แล้วทำให้เกิดผลต่อร่างกายและจิตใจใน ลักษณะสำคัญ เช่น ต้องเพิ่มปริมาณการเสพขึ้นเรื่อยๆ มีอาการขาดยาเมื่อไม่ได้เสพ มีความต้องการเสพทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรงอยู่ตลอดเวลา และทำให้สุขภาพทรุดโทรมลง กับให้รวมตลอดถึงพืช หรือส่วนของพืชที่เป็นหรือให้ผลผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษหรืออาจใช้ผลิตเป็นยา เสพติดให้โทษ และสารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษด้วย ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ไม่หมายความถึงยาสามัญประจำบ้านบางตำรับ ตามกฎหมายว่าด้วยยาที่มียาเสพติดให้โทษผสมอยู่"

การดื่มแอลกอฮอล์จัดและเสพยาให้โทษในบรรดาวัยรุ่น (Adolescent) พบว่า มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงเนื่องจากการเสพติดเป็นระยะยาว ยังผลให้เกิดความผิดเพี้ยนทางสรีระของส่วนผสมทางเคมีของสมอง ผลมึนเมาเฉียบพลันของฤทธิ์ยา ตลอดจนการแยกตัวออกจากสังคม ปัจจัยเสี่ยงก็สูงในการก่ออาชญากรรม รวมทั้งการล่อลวงเด็ก ความรุนแรงภายในบ้าน คดีข่มขืนชำเรา การลักขโมย และการจี้ปล้น

สิ่งเสพติดให้โทษสามารถก่อให้เกิดอาการคล้ายผู้ป่วยเป็นโรคจิต ซึ่งอาจเกิดขึ้นในสภาวะมึนเมา (Intoxicated) หรือสภาวะถอนพิษ (Withdrawal) ในบางกรณี สิ่งเสพติดให้โทษเหล่านี้ ก่อให้เกิดความผิดปรกติทางจิต ที่ยังคงค้างอยู่ยาวนาน แม้หลังการถอนพิษ (Detoxification) อาทิ โรคจิต (Psychosis) หรือโรคซึมเศร้า (Depression) หลังจากเสพยาบ้า (Amphetamine) หรือ กัญชา (Cocaine)

อาการถอนจากสิ่งที่เคยเสพติด (Protracted) อาจทำให้กลุ่มอาการยังคงค้างอยู่เป็นเวลาหลายเดือน หรือหลายปี หลังการหยุดเสพติดสิ่งให้โทษ อาทิ การเสพสารก่อประสาทหลอน (Hallucinogen) อาจกระตุ้นอาการหลงผิด (Delusion) และโรคจิตอื่นๆ เป็นเวลานานหลังการหยุดเสพ ส่วนการสูบกัญชา (Cannabis) ก็อาจกระตุ้นการจู่โจมอย่างแตกตื่นระหว่างมึนเมา (Intoxication) และเป็นสาเหตุของสภาวะที่คล้ายภาวะอารมณ์ซึมเศร้า (Dysthymia)

นอกจากนี้ ภาวะกังวล (Anxiety) และซึมเศร้า เป็นอาการที่พบบ่อยในผู้ดื่มแอลกอฮอลล์ ยิ่งดื่มมากยิ่งมีอาการที่รุนแรง แต่ในกรณีส่วนใหญ่ ความผิดปรกติทางจิต (Psychiatric disorders) ดังกล่าวจะค่อยๆ ทุเลาหายไปหลังจากการหยุดดื่มเป็นระยะเวลายาวนาน

สิ่งเสพติดให้โทษยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบสมองส่วนกลาง (Central nervous system : CNS) ทำให้เกิดความแปรปรวนในอารมณ์และในระดับการรับรู้หรือความรู้สึกและประสาทสัมผัส แล้วยังเปลี่ยนแปลงระบบอื่นๆ ของร่างกาย และนำไปสู่การเสพติดอื่นๆ อีกด้วย

ประเทศต่างๆส่วนใหญ่ได้ออกกฎหมายความผิดทางอาญาของสิ่งเสพติดให้โทษ มักเรียกกันว่า “ยาผิดกฎหมาย” (Illegal drug) แต่โดยทั่วไปแล้ว สิ่งที่ผิดกฎมายคือการผลิต การจำหน่าย และการครอบครองที่ไม่ได้รับอนุญาต สิ่งเสพติดเหล่านี้ ถือว่าเป็น “สารควบคุม” (Controlled substances) ซึ่งกฎหมายแต่ละประเทศอาจแตกต่างกันไปตาม [ภูมิหลัง] ของประวัติศาสตร์ แต่แม้เพียงครอบครองสิ่งเสพติดดังกล่าว มักมีบทลงโทษตามกฎหมายที่รุนแรง รวมทั้งการประหารชีวิตในบางประเทศ

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ.พบเยาวชนเกือบ 2 ล้านคนเสพยา http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9540000163524&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2011, December 30].
  2. Substance abuse. http://en.wikipedia.org/wiki/Substance_abuse [2011, December 30].
  3. สิ่งเสพติด http://th.wikipedia.org/wiki/สิ่งเสพติด [2011, December 30].