สารเสพติด ยอดฮิตของเยาวชน (ตอนที่ 1)

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผย หลังผลการสำรวจของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ในกลุ่มเยาวชนอายุระหว่าง 12 – 24 ปี ทั้งอยู่ในระบบและนอกระบบการศึกษา กว่า 12 ล้านคน ในพื้นที่ 17 จังหวัด ใน 1 เดือนระหว่างวันที่ 15 สิงหาคม – 14 กันยายน 2554 พบว่า มีเยาวชนใช้สารเสพติด (ไม่รวมเหล้าและบุหรี่) กว่า 1.7 ล้านคน ยาเสพติดที่ใช้มากที่สุดคือ กัญชา รองลงมาคือ ยาบ้า และ ยาไอซ์ ส่วนใหญ่อายุผู้เสพอยู่ในระหว่าง 15 – 17 ปี โดยเฉพาะยาบ้า พบว่าเริ่มเสพยาบ้าครั้งแรกเมื่ออายุเพียง 7 ปีเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก จะต้องเร่งดำเนินการป้องกัน เพื่อไม่ให้เยาวชนตกเป็นทาสยาบ้า สมองถูกยาเสพติดทำลาย

สารเสพติด (Substance abuse) อาจรู้จักกันในนาม “ยาเสพติด” ในนิยามขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) จะหมายถึงสิ่งที่เสพเข้าไปแล้วจะเกิดความต้องการทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างต่อเนื่อง โดยไม่สามารถหยุดเสพได้ และจะต้องเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุด จะทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่อร่างกายและต่อจิตใจ สารเสพติดมิได้จำกัดเพียงยาที่เปลี่ยนแปลงอารมณ์ หรือกระตุ้นทางจิต อาจรวมถึงกิจกรรมที่ไม่เหมะสม และปัญหาที่มิอาจควบคุมปฏิกิริยาฉับพลัน (Impulsivity)

ตัวอย่างสารเสพติด ได้แก่ ยาบ้า (Amphetamines) กัญชา (Marijuana) และยาฝิ่น (Opium) การใช้สารเสพติดเหล่านี้ อาจนำไปสู่การลงโทษทางอาญา ซึ่งขึ้นอยู่กับกฎหมายแต่ละท้องถิ่น นอกเหนือจากอันตรายต่อร่างกาย จิตใจ หรือสังคม อาจแยกคำนิยามสารเสพติด ได้เป็น 4 ประเภท กล่าวคือ (1) ทางสาธารณสุข (2) ทางสื่อสารมวลชนและการใช้ภาษาท้องถิ่น (3) ทางการแพทย์ และ (4) ทางการเมืองและความยุติธรรมทางอาญา

ในทางสาธารณสุข มุมมองของสารเสพติดขยายขอบเขตมากกว่ารายบุคคล โดยเน้นบทบาทของสังคม วัฒนธรรม และการแพร่หลาย จึงมักใช้คำว่า “ยาอันตรายต่อร่างกาย” “วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท” หรือ “ยาบ้า” แทนคำว่า “สารเสพติด”

ในทางการแพทย์ มักใช้คำว่า “ใช้ยาผิดวัตถุประสงค์” (Misuse) ซึ่งให้ผลร้าย (Adverse effect) และเชื่อมโยงถึงการใช้ที่ไม่เหมาะสม อาทิการใช้ยาทางจิตเวช (Psychiatric) ที่มีคุณสมบัติ สงบประสาท (Sedative) คลายกังวัล (Analgesic) ระงับความเจ็บปวด (Anxiolytic) หรือกระตุ้น (Stimulant) ไปในทางผิดๆ (Abuse)

การใช้ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นโดย ไม่มีใบสั่งแพทย์ (Prescription), ตั้งใจใช้เพื่อให้เกิดผลมึนเมา, ใช้ผิดวิธี (Route of administration), ใช้ร่วมกับแอลกอฮอล์, หรือเพื่อให้เกิดอาการเสพติด ทั้งนี้ความทนทานต่อสารเสพติดขึ้นอยู่กับคุณสมบัติทางเภสัชวิทยาของสารเสพติด ซึ่งหากใช้จนเรื้อรัง (Chronic use) อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ระบบประสาทกลาง (Central nervous system) ที่ต้องการสารเสพติดนี้อีก เพื่อให้เกิดผลที่ต้องการ การหยุดหรือลดการใช้สารเสพติดจะเป็นสาเหตุของกลุ่มอาการถอนยา (Withdrawal symptoms)

สารเสพติด อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพ อาทิ การเจ็บป่วย (Morbidity) การบาดเจ็บ และการตาย นอกจากนี้ยังมีปัญหาสังคม อาทิ การมีเพศสัมพันธ์ที่มิได้ป้องกัน ความรุนแรงจากการใช้กำลัง อุบัติเหตุจากยานยนต์ การฆาตกรรม การฆ่าตัวตาย การเสพติดทางร่างกายหรือจิตใจ ขึ้นอยู่กับส่วนประกอบ (Compound) ของสารเสพติดนั้นๆ

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ.พบเยาวชนเกือบ 2 ล้านคนเสพยา http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9540000163524&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2011, December 29].
  2. Substance abuse. http://en.wikipedia.org/wiki/Substance_abuse [2011, December 29].
  3. สิ่งเสพติด http://th.wikipedia.org/wiki/สิ่งเสพติด [2011, December 29].