สาระน่ารู้จากหมอตาตอน: ตอน สายตายาว – สายตาผู้สูงอายุ (Hyperobe – Presbyope)

สาระน่ารู้จากหมอตา

สายตายาว-สายตาผู้สูงอายุ เป็นอีก 2 สภาวะที่คนทั่วไปสับสนว่าเป็นอันเดียวกันด้วยเหตุที่ทั้ง 2 สถานะต้องแก้ไขด้วยเลนส์นูน (เลนส์บวก) เหมือนกันแต่มีความแตกต่างกัน

สายตายาว พบได้กับคนทุกอายุตั้งแต่เกิดไปเลยเป็นภาวะที่กำลังหักเหของแสง (เกิดจากกระจกตาและแก้วตา) มีกำลังน้อยกว่าปกติทำให้แสงขนานจากวัตถุเมื่อผ่านกระจกตาและแก้วตาแล้วไปโฟกัสเลยจอตาออกไปหรือความยาวลูกตาน้อยเกินไป (ลูกตาเล็กเกินไป) จึงทำให้แสงขนานจากวัตถุไกลไปโฟกัสหลังลูกตา เมื่อกำลังหักเหน้อยเกินไป เพื่อความเข้าใจง่ายๆ คนปกติกำลังของกระจกตามีประมาณ +40D กำลังของแก้วตามี +20D รวมเป็น +60%D ซึ่งจะพอดีไปโฟกัสจอตาของลูกตาที่ยาว 24 มม โดยเฉลี่ย ถ้ากำลังน้อยกว่า +60D ยกตัวอย่าง เช่น เป็น +57D คนนั้นจำเป็นต้องใช้เลนส์นูนกำลัง +3D มาช่วย เรียกกันง่ายๆ ว่า สายตายาว 300 นั่นเอง ผู้ที่มีกำลังขนาดนี้ถ้าต้องการมองภาพไกลจึงต้องใช้แว่นที่เน้นเลนส์นูนหรือเรียกกันว่า มีสายตายาว 300 และต้องใช้แว่นชนิดนี้ทั้งมองไกลและมองใกล้จึงจะมองเห็นภาพได้ชัดเจนทุกระยะ สบายตาไม่ปวดตา แต่ในความเป็นจริงผู้ป่วยนี้ที่มีกำลังแค่ +57D หากอายุยังน้อย แก้วตาสามารถพองตัวเอง ในขบวนการที่เรียกว่า การเพ่ง (accommodation) เพิ่มกำลังแก้วตาให้มากขึ้นอีก +3D ก็จะทำให้เขาเห็นภาพระยะไกลได้ปกติ ถ้ากำลังเพ่งของผู้นี้มีมาก (อายุยิ่งน้อยยิ่งมีมาก) ก็ไม่จำเป็นต้องใช้แว่นช่วย แต่หากกำลังเพ่งมีไม่มาก ต้องเพ่งตลอดเวลาทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยตาได้ง่าย ผู้มีสายตายาวจึงอาจมาพบหมอด้วยอาการปวดตา ปวดศีรษะ โดยพบว่าสายตายังเห็นได้ดี และผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องการแว่นตาเลนส์นูนตามกำลังฯที่ขาดไป หากผู้ใดมีกำลังฯขาดไปแต่สามารถชดเชยด้วยการเพ่งของตัวเองโดยไม่มีอาการปวดอาจไม่จำเป็นต้องใช้แว่นช่วย ต่อเมื่ออายุมากขึ้นกำลังเพ่งลดลง มักจะจำเป็นต้องใช้แว่นแก้ไขภาวะสายตายาวนี้

สำหรับภาวะ presbyope น่าจะใช้คำว่าสายตาผู้สูงอายุมากกว่า เกิดเฉพาะในผู้สูงอายุโดยเฉลี่ยเริ่มเมื่ออายุประมาณ 40 ปี ขึ้นไปโดยมีอาการมองระยะใกล้ไม่ชัด เช่น อ่านหนังสือ เย็บผ้า ไม่ชัด แต่การมองไกลยังปกติดี เพื่อให้มองใกล้ได้ชัด ต้องใช้แว่นตาที่เป็นเลนส์นูน เช่นเดียวกันกับสายตายาว แต่จะใช้แว่นอันนี้เพื่อมองใกล้เท่านั้น เกือบจะพูดได้ว่าถ้าเอามามองไกลจะมองไม่ชัด ทั้งนี้เพราะขบวนการเพ่งเริ่มเสื่อมถอยลง ผู้ที่เคยมีสายตาปกติอยู่เดิม หมายความว่ามีกำลังหักเหของแสงเป็น +60D มองไกลได้ชัดเจนดี ขณะมองใกล้เมื่อระยะวัตถุใกล้เข้ามา ถ้าต้องการให้โฟกัสที่จอตา ควรจะต้องมีกำลังหักเหเพิ่มขึ้น ตามหลักทฤษฎี การหักเหของแสงที่ขึ้นกับระยะวัตถุที่ต่างกันจึงต้องการกำลังมากกว่า +60D อาจเป็น +61D , +62D , +63D (ขึ้นอยู่กับระยะวัตถุใกล้มากแค่ไหน) ถ้าผู้นั้นอายุยังน้อยใช้ขบวนการเพ่งเพิ่มกำลังของแก้วตาเพื่อให้กำลังทั้งหมดได้ตามที่ต้องการซึ่งสามารถทำได้โดยง่ายทุกอย่างโดยอัตโนมัติต่อเมื่อมีอายุ 40 ปีขึ้นไป ขบวนการเพิ่มกำลังนี้เสื่อมถอย เพ่งไม่ได้ดังที่ต้องการจึงต้องใช้เลนส์นูนกำลัง +1.0 , +2.0 , +3.0 ในแว่นตามองใกล้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงจำเป็นต้องใช้แว่นเลนส์นูนเฉพาะมองใกล้เท่านั้น และกำลังการเพ่งจะลดถอยลงตามอายุ นั่นคือต้องใช้แว่นมองใกล้กำลังมากขึ้นๆ เมื่ออายุมากขึ้น

โดยสรุป ทั้งสายตายาวและสายตาผู้สูงอายุต่างก็แก้ไขด้วยแว่นเลนส์นูนเหมือนกัน แต่พบในคนอายุต่างกัน จุดประสงค์การใช้มองไกลหรือมองใกล้ต่างกัน