สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน 63: แว่นกันแดด

แว่นกันแดดใช้กันแสงที่จ้าเกินไป เพื่อความสบายตาและกันแสงที่อันตรายจากแดด ได้แก่ แสงยูวี แว่นจึงมักจะกำหนดไว้ว่าป้องกัน UV และรังสีต่างๆ ที่จ้าเกินไปจากธรรมชาติเป็นหลัก อย่างไรก็ตามแว่นกันแดดที่ดีควรจะ

1. ตัดแสง UV ได้ 99% UVB มีอันตรายกว่า UVA ทั้งเลนส์กระจกและ plastic ที่ทำแว่นตาทั่วไป กันแสง UV ได้ระดับหนึ่ง แต่เมื่อมีการเติมสารบางตัวลงไปในขบวนการผลิตเลนส์หรือเคลือบผิวเลนส์ด้วยสารบางอย่าง เป็นการเพิ่มการตัดแสง UV ให้ได้มากขึ้น เรียกกันว่าแว่นกัน UV หากจะเลือกแว่นกันแดดให้เลือกที่มีสลากติดว่ากัน UV ได้ 99 – 100% หรือบางยี่ห้อจะเขียนว่าดูดแสง UV ถึง 400 mm นั่นหมายถึง UV ได้ทั้ง A, B และ C

2. ต้องตรวจดูให้แน่ว่าเลนส์ที่ทำแว่นกันแดดนั้นเป็นเลนส์ที่มีคุณภาพ ให้ภาพสม่ำเสมอ โดยวิธีทดลองง่ายๆ โดยมองผ่านวัตถุรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เช่น พื้นกระเบื้องผ่านเลนส์แว่นตาด้วยตาข้างหนึ่ง ขยับเลนส์ไปมาซ้ายขวา บนล่าง ถ้าพื้นกระเบื้องยังคงรูป เส้นตรงยังตรงดี แสดงว่าเป็นเลนส์ที่ใช้ได้ ถ้าเส้นไม่ตรง ภาพบิดเบี้ยว โดยเฉพาะตรงกลางเลนส์เป็นแว่นที่ใช้ไม่ได้

3. ต้องเป็นเลนส์ที่ทนต่อแรงกระแทกตามหลักของ FDA แม้ว่าคงไม่มีเลนส์อะไรที่รับประกันว่าไม่แตกแน่นอน แต่ต้องทนระดับหนึ่ง ตามมาตรฐานของสหรัฐ ตาม ANSI ต้องทนต่อลูกเหล็กเส้นผ่าศูนย์กลาง 5/8 นิ้ว ตกลงจากที่สูง 50 นิ้ว เมื่อมากระทบต้องไม่แตก ถึงจะถือว่าเป็นเลนส์ได้มาตรฐาน หรือใช้ลูกเหล็กขนาด 4 นิ้วยิงเข้าหาเลนส์ด้วยความเร็ว 150 ฟุตต่อวินาที เลนส์ต้องไม่แตก เลนส์พลาสติคน่าจะทนกว่าแก้ว แว่นกันแดดส่วนใหญ่ทำจากพลาสติค โดยเฉพาะถ้าเป็นพลาสติคชนิด polycarbonate ซึ่งนิยมใช้ในแว่นใส่เพื่อเล่นกีฬา จะเหนียวและทนกว่าพลาสติคธรรมดาถึง 5 เท่า ทนกว่าอลูมิเนียม อีกทั้งทนต่อสารเคมี แต่มีข้อเสียตรงที่มีรอยขีดข่วนได้ง่าย การเข้ากรอบทำได้ยาก งอได้ง่าย ต้องระวังในการดูแลรักษา วิธีทำความสะอาดที่ดีต้องทำให้เปียกชื้นก่อนแล้วค่อยเช็ดด้วยผ้านุ่มๆ

4. เลนส์ Polaroid ซึ่งตัดแสงสะท้อน โดยเฉพาะแสงแดดที่กระทบกับผิวถนน ผิวน้ำ หน้าต่างรถ จะถูกตัดออกด้วยเลนส์ Polaroid เหมาะสำหรับนักแข่งรถ นักตกปลา แต่โดยทั่วไปเลนส์ชนิดนี้ไม่เกี่ยวกับแสง UV ยกเว้นที่นำไปเคลือบด้วยสารกัน UV ด้วย ถ้าไม่ระบุว่ากัน UV จะเป็นเลนส์ที่ตัดแสงสะท้อนไม่เกี่ยวกับ UV

5. ความเข้มของสีเลนส์ ขึ้นอยู่กับว่าอยู่ในที่แจ้งมากขนาดไหน สามารถปรับความเข้มต่างๆ ได้ และความเข้มไม่ได้บ่งถึงความสามารถในการกัน UV

6. Photochromic lens เป็นเลนส์ที่เมื่อถูกแสงจะเปลี่ยนเป็นสีเข้ม เมื่ออยู่ในที่มืดสีจะจางลง เพราะมีสาร Silver halide ซึ่งจะกลายเป็นสีเงินและ halogen เมื่อถูกแดด สีจึงเข้ม แต่ถ้าอยู่ในที่มืดจะจับกันเป็น Silver halide สีจะจางลง ใช้เวลาครึ่งนาทีจะเปลี่ยนสีเข้ม แต่ 5 นาทีในการรอสีให้จางลง (ต้องไม่ลืมที่จะดูสลาก ของแว่นตาชนิดนี้ที่ต้องบอกว่ากันแสง UV ด้วยถึงจะใช้ได้)

7. รูปร่างของกรอบ ถ้าเป็นกรอบแว่นที่โค้งมาด้านข้างด้วย (wraparound) ซึ่งจะกันแสงเข้าด้านข้างได้ดี น่าจะป้องกันรังสี UV ได้ดีกว่า

8. เลนส์ที่มีสีเข้มจางลดหลั่นกันลงมาขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่ใช้ เช่น บน ล่าง สีเข้ม ตรงกลางสีจางอาจ จะเหมาะสำหรับการเล่นเรือใบหรือสกี ตัดแสงจากดวงอาทิตย์และแสงสะท้อนจากผิวน้ำแต่ตรงกลางใส เป็นต้น

9. Mirror Coated ทำเป็นแผ่นบางๆ เคลือบบนเลนส์ลดแสงจ้าลง แต่ไม่เกี่ยวหรือไม่ได้ลด UV

10. แว่นที่กันแสงเฉพาะ infrared แสง infrared ที่เรามองไม่เห็น มันก่อให้เกิดความร้อน แสงอาทิตย์มี infrared น้อย ประโยชน์ในการใช้กันแดดจึงไม่มากนัก น่าจะเหมาะกับช่างเป่าแก้วหรือเครื่องมือที่มีรังสี infrared ออกมามาก ทำให้เกิดต้อกระจกและอันตรายต่อจอตาได้

11. Blue block เลนส์ติดสีน้ำเงิน จะมีสีอำพันออกสีเหลือง ดูดซับคลื่นสั้นได้ดี ทำให้มองวัตถุรอบๆ เป็นสีเหลืองออกส้ม ในชั้นบรรยากาศมีแสงคลื่นสั้นมาก เลนส์นี้ดูดซับไว้มาก ทำให้วัตถุไกลๆ เห็นชัดขึ้น โดยเฉพาะในบริเวณที่มีหิมะหรือหมอก แว่นกันแดดสีนี้จึงมักใช้ในนักเล่นสกี นักล่าสัตว์ นักเล่นเรือ และนักบิน

12. เลนส์สีต่างๆ ในปัจจุบันการนำเลนส์สีมาใช้มักทำกันเพื่อความสวยงาม ตามแฟชั่นมากกว่าความเข้มที่ต่างกันของสีไม่ได้บ่งถึงความสามารถตัดแสง UV หากจะนำมาทำเป็นแว่นกันแดด

13. ควรคำนึงและเลือกสีของเลนส์ที่เปลี่ยนสีวัตถุน้อยที่สุด เพื่อจะได้เห็นสีไม่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม โดยเฉพาะไฟจราจร

  • เลนส์สีเทา อาจทำให้สีเข้มขึ้นเพื่อตัดแสงจ้าออก ไม่ว่าสีเข้มเท่าไรจะซับแสง UV ได้มากถึง 98% รวมทั้งแสง infrared ได้เกือบหมด เป็นเลนส์สีที่ซับแสงคลื่นสีต่างๆ เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ จึงทำให้เห็นสีไม่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม เหมาะสำหรับใช้ขับรถเพราะไม่เปลี่ยนสีไฟจราจร บางคนก็ว่าเหมาะสำหรับคนตาบอดสีเพราะไม่ทำให้สีสับสนมากขึ้น
  • เลนส์สีเหลือง เป็นสีที่ซับแสงคลื่นสั้นได้ดี รวมทั้งสีน้ำเงินและซับแสง UV ได้ 100% เหมาะกับการมองผ่านหมอก นิยมใช้ในนักล่าสัตว์ แต่อาจบิดเบือนสีวัตถุได้
  • เลนส์สีน้ำตาล คล้ายเลนส์สีเหลืองตัดแสงคลื่น UV และคลื่นสั้นได้ดี บางคนว่าสีน้ำตาลจะเพิ่ม contrast ได้ดีขึ้น
  • เลนส์สีเขียว คล้ายเลนส์สีเทา แต่ดูดซับ infrared ได้ ไม่ดีเท่า อีกทั้งบิดเบือนสีที่เห็น
  • เลนส์สีชมพู มีคุณสมบัติคล้ายเลนส์ใส บางคนว่า ถ้าสีเข้มอาจทำให้สบายตาขึ้นบ้าง