สารละลายอะซีตาร์ (Acetra solution)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

สารละลายอะซีตาร์ (Acetar solution) เป็นสารละลายที่ถูกเตรียมเพื่อใช้ทดแทนการสูญเสียของเหลวในร่างกายเนื่องจากบาดแผลไฟไหม้/แผลไหม้ หรือจากอาการท้องเสียรุนแรง รวมถึงช่วยรักษาสมดุลของอิเล็กโทรไลต์(Electrolyte)ในผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของอะซีตาร์เป็นสารละลายบรรจุถุงเหมือนน้ำเกลือ(Normal saline solution) โดยขนาดบรรจุ 1,000 มิลลิลิตร มีส่วนประกอบของสูตรตำรับดังนี้

  • Sodium 130 mmol/L (Millimol/ liter)
  • Potassium 4.0 mmol/L
  • Calcium 2.7 mmol/L
  • Chloride 108 mmol/L
  • Acetate(สาร Electrolyte ชนิดหนึ่งที่ช่วยคงสมดุลของเกลือแร่ในเลือด) 28 mmol/L

การให้สารละลายอะซีตาร์ ต้องหยดเข้าทางหลอดเลือดดำ ปริมาณและอัตราการใช้สารละลายนี้ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย ผู้ที่ได้รับสารละลายนี้ แพทย์ พยาบาล จะต้องเฝ้าระวังและควบคุมสัญญาณชีพต่างๆร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ นอกจากนี้ ต้องได้รับการตรวจเลือดเป็นระยะๆตามดุลพินิจของแพทย์ เพื่อประเมินความเหมาะสมของระดับอิเล็กโทรไลต์ในร่างกายผู้ป่วย ว่าเหมาะสมหรือไม่

ข้อดีประการหนึ่งของสารละลายอะซีตาร์คือมีความปลอดภัยต่อการใช้กับผู้ที่มีภาวะการทำงานของตับบกพร่อง ในทางปฏิบัติทางการแพทย์อาจใช้สารละลายชนิดนี้ให้ทดแทนเพื่อรักษาสมดุลของของเหลวในร่างกายของผู้ป่วยที่มีการสูญเสียเลือดเนื่องจากได้รับการบาดเจ็บอีกด้วย

สารละลายอะซีตาร์ยังมิได้ถูกบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย และถูกจัดเป็นเภสัชภัณฑ์ประเภทยาอันตราย ซึ่งมีการรับรองการขึ้นทะเบียนยาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ในบ้านเราสารละลายชนิดนี้ถูกวางจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า “Acetar” และสามารถพบเห็นการใช้สารละลายอะซีตาร์แต่ในสถานพยาบาล โดยการใช้รักษาผู้ป่วยต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์แต่ผู้เดียว

สารละลายอะซีตาร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

สารละลายอะซีตาร์

สารละลายอะซีตาร์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้เป็นสารละลายทดแทนการสูญเสียของเหลว รวมถึงเลือด จากอุบัติเหตุแผลไหม้ต่างๆ บาดแผลต่างๆ รวมถึงอาการท้องเสียรุนแรง
  • ใช้ปรับสมดุลอิเล็กโทรไลต์(Electrolyte)ในร่างกายของผู้ป่วยก่อนและหลังเข้ารับการผ่าตัด

สารละลายอะซีตาร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอะซีตาร์เป็นสารละลายประเภทอิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte) ใช้ปรับสมดุลเกลืออิเล็กโทรไลต์ในร่างกาย/ในเลือดที่สูญเสียไปกับอาการเจ็บป่วย เช่น การสูญเสียเลือด การสูญเสียน้ำ/สารน้ำของร่างกายจากภาวะท้องเสียรุนแรง และบาดแผลไฟไหม้/น้ำร้อนลวกรุนแรง โดยการใช้สารละลายชนิดนี้จะต้องหยดเข้าหลอดเลือดดำโดยตรง

สารละลายอะซีตาร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

สารละลายอะซีตาร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น สารละลายที่ต้องหยดเข้าหลอดเลือดดำที่มีส่วนประกอบของเกลือ โซเดียม โปแตสเซียม แคลเซียม คลอไรด์ และ อะซิเตท โดยมีขนาดบรรจุภัณฑ์ 500, 1000 และ 2000 มิลลิลิตร/ถุง

สารละลายอะซีตาร์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

สารละลายอะซีตาร์มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

  • ผู้ใหญ่: หยดยา/สารละลายนี้เข้าหลอดเลือดดำตามคำสั่งแพทย์ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของผลการทดสอบปริมาณของเหลวและระดับอิเล็กโทรไลต์ที่ร่างกายสูญเสียไป

อนึ่ง:

  • การใช้เภสัชภัณฑ์ยานี้กับ เด็ก สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมสารละลายอะซีตาร์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจติดขัด
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยา/สารละลายอะซีตาร์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

สารละลายอะซีตาร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

สารละลายอะซีตาร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วย การได้รับสารละลายนี้เป็นปริมาณมากเกินไป จะทำให้ระดับอิเล็กโทรไลต์ในเลือด(Blood electrolyte)มีมากเกิน แต่โดยทั่วไป เหตุการณ์ดังกล่าว/ผลไม่พึงประสงค์ดังกล่าวจะไม่ค่อยเกิดขึ้น ด้วยการให้สารละลายอะซีตาร์จะกระทำแต่ในสถานพยาบาล ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด

มีข้อควรระวังการใช้สารละลายอะซีตาร์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้สารละลายอะซีตาร์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้เคยแพ้ยา/ แพ้สารละลายนี้
  • ห้ามใช้สารละลายอะซีตาร์ที่มีสิ่งปนเปื้อนเจือปน เช่น ฝุ่นผง
  • ระหว่างที่ได้รับสารละลายนี้ บุคคลากรทางการแพทย์จะคอยเฝ้าระวังสัญญาณชีพของผู้ป่วยร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ รวมถึงการตรวจเลือดดูระดับปริมาณอิเล็กโทรไลต์ในเลือดร่วมด้วยเป็นระยะๆตามแพทย์สั่ง
  • หลังจากได้รับสารละลายชนิดนี้จนมีอาการดีขึ้นผู้ ป่วยยังต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เสมอ
  • ห้ามใช้ยา/สารนี้ที่หมดอายุ
  • ห้ามเก็บยา/สารนี้ที่หมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมสารละลายอะซีตาร์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

สารละลายอะซีตาร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

สารละลายอะซีตาร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการผสมยาชนิดใดๆลงในสารละลายนี้เพื่อให้ทางหลอดเลือดดำของผู้ป่วย นอกจากมีคำสั่งแพทย์

อนึ่ง สารละลายชนิดนี้เป็นเภสัชภัณฑ์ที่ใช้ชดเชย ของเหลว และอิเล็กโทรไลต์(Electrolyte)ที่มีอยู่ในร่างกาย จึงไม่ค่อยพบเห็นการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานชนิดใดๆ

ควรเก็บรักษาสารละลายอะซีตาร์อย่างไร?

ควรเก็บผลิตภัณฑ์สารละลายอะซีตาร์ ภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

สารละลายอะซีตาร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

สารละลายอะซีตาร์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Acetar (อะซีตาร์) Thai Otsuka

บรรณานุกรม

  1. http://www.mims.com/thailand/drug/info/acetar-acetar-5[2017,July22]
  2. http://www.srisangworn.go.th/depart/pharmacy/download/acetar.pdf[2017,July22]
  3. http://drug.pharmacy.psu.ac.th/Question.asp?ID=9334&gid=1[2017,July22]