สารมีพิษจากแมลง (ตอนที่ 2)

สารมีพิษจากแมลง-2

      

      ด้วงก้นกระดกขนาดโตเต็มที่มักจะมีขนาดยาวประมาณ 7-10 มิลลิเมตร และกว้างประมาณ 0.1-1 มิลลิเมตร หรือตัวโตกว่ายุงเล็กน้อย มีหัวสีดำ ลำตัวมีสีดำสลับกับส้ม พบมากทั้งในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ โดยเฉพาะบริเวณพงหญ้าที่มีความชื้น หลังฝนตก หรือระหว่างฤดูฝน ด้วงก้นกระดกจะชอบออกมาเล่นไฟนีออนที่มีแสงสีขาว และด้วยขนาดตัวที่เล็กทำให้สามารถเล็ดลอดช่องประตูเข้ามาได้

      ปกติแมลงชนิดนี้จะไม่กัดหรือต่อย การสัมผัสกับสารพีเดอรินที่อยู่ในท้องของตัวด้วงก้นกระดกเกิดจากการที่คนตีหรือขยี้แมลงบนผิวหนังไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการผิวหนังอักเสบจากด้วงก้นกระดก (Paederus dermatitis / night burn) โดยด้วงก้นกระดกแต่ละตัวจะมีปริมาณสารพีเดอรินอยู่เพียงเล็กน้อย กล่าวคือ เพียงร้อยละ 0.025 ของน้ำหนักตัว

      บริเวณที่พบรอยโรคได้มากที่สุด ก็คือ บริเวณคอและใบหน้า บางครั้งอาจก่อให้เกิดอาการปวด บวมรอบตา (Peri-orbital swelling) เยื่อบุตาอักเสบเป็นหนอง (Purulent conjunctivitis) การลอกหลุดของผิวกระจกตา (Corneal erosions) และตาบอด เนื่องจากมีการสัมผัสกับสารพีเดอรินที่มาจากส่วนอื่นของร่างกาย จนปนเปื้อนมากับนิ้วมือและมาสัมผัสกับตา โดยอาการที่ตามีชื่อเรียกเฉพาะว่า Nairobi eye

      ทั้งนี้ ภาวะผื่นผิวหนังอักเสบ อาจจะไม่สังเกตุเห็นได้ทันที แต่จะใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน จนเกิดอาการดังต่อไปนี้

  • อาการอย่างอ่อน (Mild cases) จะมีอาการผื่นแดง (Erythema) ใน 24 ชั่วโมง และหายใน 48 ชั่วโมง โดยผู้ป่วยจะรู้สึกแสบ ร้อน คัน
  • อาการปานกลาง (Moderate cases) จะมีอาการผื่นแดงใน 24 ชั่วโมง หลัง 48 ชั่วโมง จะมีอาการตุ่มพองค่อยๆ ใหญ่ขึ้น จนประมาณอีก 8 วัน จึงค่อยแห้ง และจะเป็นรอยแผลยาว (Linear hyperpigmentation) ไปอีกนานประมาณ 1 เดือน หรือมากกว่า
  • อาการอย่างรุนแรง ตุ่มและรอยแผลจะกินวงกว้าง อาจมีอาการร่วม คือ เป็นไข้ ปวดตามเส้นประสาท (Neuralgia) ปวดตามข้อ (Arthralgia) และคลื่นไส้ (Vomiting)
  • นอกจากนี้ยังมีโอกาสเกิดอาการติดเชื้อในบริเวณที่เป็นด้วย

      สำหรับการป้องกันภาวะผื่นผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสกับด้วงก้นกระดกทำได้ด้วยการ

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสแมลงทุกชนิดด้วยผิวหนัง
  • หากแมลงมาเกาะตัว พยายามปัดออกเบาๆ หรือเอากระดาษมาวางให้แมลงไต่ออก และล้างผิวหนังบริเวณที่สัมผัสกับแมลงนั้น
  • หากไปกดหรือบี้แมลง ให้ล้างมือและบริเวณผิวหนังที่สัมผัสด้วยน้ำและสบู่ทันที หรือล้างตาด้วยน้ำสะอาดให้มากๆ ตลอดจนนำเสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน ที่อาจปนเปื้อนกับสารพีเดอรินไปซักให้สะอาด
  • ปิดไฟหลอดฟลูออเรสเซนต (Fluorescent lights) หรือเปลี่ยนเป็นไฟหลอดไส้ร้อนแบบธรรมดา (Incandescent bulbs)
  • ปิดประตู หน้าต่าง ไม่ให้แมลงเข้า และนอนในมุ้งกันแมลง

      อนึ่ง ในปัจจุบันสารพีเดอรินและอนุพันธ์อยู่ระหว่างการทำวิจัยเพื่อใช้เป็นยาต้านมะเร็ง เพราะส่วนประกอบของสารนี้สามารถยับยั้งโปรตีนและกระบวนการชีวสังเคราะห์ดีเอ็นเอ (DNA biosynthesis) ช่วยทำให้การแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งช้าลง ทั้งยังมีการพบว่าอนุพันธ์ตัวหนึ่งของสารพีเดอรินที่เรียกว่า Psymberin สามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้เซลล์เนื้องอกได้ดี

แหล่งข้อมูล:

  1. PAEDERUS DERMATITIS. http://www.lucianoschiazza.it/documenti/Dermatite_da_paederus_eng.html [2018, May 14].
  2. Pederin.https://en.wikipedia.org/wiki/Pederin [2018, May 14].