สาธารณสุขเตือนภัย ไข้รากสาดใหญ่

อนุสนธิจากข่าวเมื่อวานซืนนี้ กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยรายงานโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศในปี 2554 พบว่า มีผู้ป่วยโรคสครับไทฟัส 5,721 ราย เสียชีวิต 2 ราย ผู้ป่วยร้อยละ 63 พบในภาคเหนือ มากที่สุดคือ จ.น่าน เชียงราย และตาก รองลงมาคือพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนโรคมาลาเรียในปีที่ผ่านมาพบผู้ป่วยทั้งสิ้น 17,636 ราย เสียชีวิต 8 ราย พบมากที่สุดที่ภาคเหนือ 11,150 ราย ภาคใต้ 3,028 ราย ภาคกลาง 2,694 ราย จังหวัดที่พบมากที่สุด คือ จ.ตาก แม่ฮ่องสอน และยะลา 608 ราย

ไข้ไทฟัส (Typhus) หรือ ไข้รากสาดใหญ่ เป็นกลุ่มของโรคติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรีย โดยมีเหา (Louse) เป็นพาหะ ชื่อโรคไทฟัสมาจากรากศัพท์ภาษากรีก Typhos แปลว่า “ขุ่นมัว” ซึ่งอธิบายสภาวะจิตใจของผู้ป่วยด้วยโรคนี้ เชื้อแบคทีเรียก่อให้เกิดโรคนี้คือเชื้อกลุ่มริกเก็ตเซีย (Rickettsia) ซึ่งเป็นพยาธิ/ปรสิต (Parasite) ที่จำเป็นต้องอยู่ในเซลล์ร่างกาย “พาหะ” (Host) ตลอดเวลา

เชื้อริกเก็ตเซียเป็นเชื้อที่ระบาดอยู่ในหนู และแพร่กระจายเข้าสู่คน โดยมีเห็บ เหา หมัด โลน หรือไร เป็นพาหะเชื้อนี้จะเจริญได้ดีภายใต้สภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ อาทิ ในเรือนจำ ในค่ายผู้ลี้ภัย ในหมู่คนยากไร้ และในสนามรบช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 ในประเทศที่พัฒนาแล้ว โรคไข้รากสาดใหญ่มักติดต่อผ่านทางหมัด ส่วนในเขตร้อนโรคนี้มักเข้าใจผิดว่าเป็นโรคไข้เลือดออก (Dengue)

อาการของโรคนี้คือปวดศีรษะอย่างรุนแรง ไข้สูงถึง 40°C (104°F) ไอ มีผื่นคัน ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง หนาวสั่น ความดันโลหิตต่ำ ซึม ดวงตาไวต่อแสง และเพ้อ ผื่นจะเริ่มปรากฏบนหน้าอกก่อนประมาณ 5 วันหลังจากมีไข้ แล้วกระจายไปตามลำตัวและแขนขา ฝ่ามือและฝ่าเท้า แต่ไม่ลามถึงใบหน้า

การรักษาการติดเชื้อทำโดยการให้ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) ส่วนการให้สารเหลวทางหลอดเลือดดำและออกซิเจนอาจพิจารณาเพื่อประคับประคองผู้ป่วย อัตราการเสียชีวิตของโรคนี้ประมาณ 10% ถึง 60% แต่อาจลดลงอย่างรวดเร็วหากใช้ยาปฏิชีวนะ แต่เนิ่นๆ การป้องกันการติดเชื้ออาจใช้วัคซีน

ไข้รากสาดใหญ่ที่พบมากตามป่าละเมาะที่มีพุ่มไม้เตี้ยๆ เรียกว่า สครับไทฟัส (Scrub typhus) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อว่า Orientia ซึ่งมีพาหะนำโรคคือตัวไรอ่อน (Chigger) จึงอาจเรียกว่า "ไข้รากสาดใหญ่จากไรอ่อน" (Chigger-borne typhus)

อาการของไข้รากสาดใหญ่จากป่าละเมาะได้แก่มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ไอ และมีอาการในระบบทางเดินอาหาร สายพันธุ์ของเชื้อที่รุนแรงอาจทำให้มีเลือดออกและ เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือด (Intravascular coagulation) การสัมผัสกับตัวไรอ่อนซึ่งพบได้ทั่วไปทุกภูมิภาคของโลกอาจทำให้เกิดการระคาย เคืองของผิวหนัง

เมื่อป่วยเป็นโรคไข้รากสาดใหญ่หากไม่ได้รับการรักษาอาจถึงแก่ชีวิตได้ โดยเฉพาะไข้รากสาดใหญ่ชนิดระบาด การให้การรักษาอย่างทันท่วงทีด้วยยาปฏิชีวนะ อาทิ เตตราไซคลีน (Tetracycline) จะช่วยรักษาผู้ป่วยได้เกือบทุกราย ชื่อภาษาอังกฤษของโรคนี้ “ไทฟัส” (Typhus) ออกเสียงคล้ายกับ “ไทฟอยด์” (Typhoid) แต่ไม่เกี่ยวข้องกัน

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ.เตือนนอนเต็นท์ระวังป่วย "สครับไทฟัส-มาลาเรีย" http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9540000160717&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2011, December 24].
  2. ไข้รากสาดใหญ่ http://th.wikipedia.org/wiki/ไข้รากสาดใหญ่ [2011, December 24].